โยนกพช.ตัดสินค่าก๊าซภาคขนส่ง อารักษ์ไม่กล้าฟันธง อ้างรอผลศึกษาก่อน

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า การพิจารณาปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจีภาคขนส่ง ที่จะมีการปรับขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ กระทรวงพลังงาน จะต้องรอผลการศึกษาค่าผ่านท่อส่งก๊าซ ภายใน 2 สัปดาห์ หากผลการศึกษาพบว่าประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมเพียงพอกับการปรับขึ้นราคา ก๊าซดังกล่าว อาจเลื่อนเวลาการปรับขึ้นออกไปก่อน อีกทั้งที่ผ่านมา ภาคเอกชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยให้ปรับขึ้น เนื่องจากเป็นการเพิ่มต้นทุนภาคการผลิตมากเกินไป

ส่วนการพิจารณาปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือน กระทรวงพลังงานยืนยันว่า จะตรึงราคาถึงสิ้นปีนี้ เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและไม่ให้กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศ

“การปรับโครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจี และ เอ็นจีวีขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ซึ่งยังไม่ได้กำหนดวันประชุม ขณะเดียวกันการศึกษาโครงสร้างราคาก็ยังไม่แล้วเสร็จ” รมว.พลังงาน กล่าว

ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวจาก กระทรวงพลังงาน ว่า กระทรวงอยู่ระหว่างศึกษาการปรับโครงสร้างพลังงาน ก่อนเสนอกพช. โดยให้ปรับราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนให้เป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริง ในอัตราประมาณ 5-6 บาท/กก. (ประมาณ 75-90 บาท/ถัง ขนาด 15 กก.) ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกก๊าซ แอลพีจี ภาคครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นจาก 18.13 บาท/กก. มาเป็น 23-24 บาท/ก.ก

รมว.พลังงานกล่าวว่า ในส่วนของการเตรียมความพร้อมรับมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ในปี 2558 ว่าสำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ จึงได้ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างพลังงานเพื่อรองรับเออีซี โดยเฉพาะการอุดหนุนราคาพลังงานที่จะได้รับผลกระทบ เช่น ก๊าซหุงต้มที่รัฐบาลเตรียมการที่จะให้ราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยจะดูแลช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่ควรได้รับความช่วยเหลือเท่านั้น

นายอารักษ์กล่าวอีกว่า ในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ กระทรวงพลังงาน เตรียมเปิดตัว “บัตรเครดิตพลังงานกำลังสอง” เพื่อขยายสิทธิประโยชน์ให้กลุ่มผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะให้ครอบคลุมมากขึ้น จากเดิมมีเพียงกลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่ที่มีใบขับขี่สาธารณะ ก็เพิ่มในกลุ่มรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถสามล้อหรือตุ๊กตุ๊ก และรถสองแถว โดยคาดว่าจะมีผู้ได้ประโยชน์จากการใช้บัตรเครดิตพลังงานเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ราย จากปัจจุบันที่ 50,000 ราย ทั้งนี้ เงื่อนไขของบัตรเครดิตพลังงานกำลังสอง จะเป็นไปตามเงื่อนไขเดิม ทั้งวงเงินการใช้บัตร 3,000 บาทต่อเดือน และ ธนาคารกรุงไทย ยังเป็นสถาบันการเงินที่บริหารจัดการเครดิตอยู่ ผู้ขับขี่สามารถใช้บัตรนี้ได้ที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ทั้งการเติมน้ำมัน, ก๊าซเอ็นจีวี และแอลพีจี

นอกจากนี้ ในอนาคตกระทรวงพลังงานจะขยายสิทธิประโยชน์การใช้บัตรเครดิตพลังงาน เพื่อซื้อสินค้าอื่นในสถานีบริการน้ำมันได้ด้วย รวมทั้งจะขยายการใช้บัตรไปยังสถานีบริการน้ำมันอื่นเพิ่มขึ้น เช่น บางจาก และเชลล์ เป็นต้น

 

ข้อมูลจาก นสพ.แนวหน้า 6/8/55

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน