ผู้บริโภคทวงความคืบหน้า ข้อเสนอกรณีแร่ใยหิน หลังเงียบหายไปกว่า 5 เดือน

ผู้บริโภคสอบถามความคืบหน้ากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังนำเสนอมาตรการจัดการเรื่องแร่ใยหิน 10 ข้อต่อกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ไม่มีการตอบรับนานกว่า 5 เดือน ด้านสคบ.ชี้แจงเหตุระงับการใช้คำเตือน “อาจก่อให้เกิดมะเร็งและโรคปอด” เพราะผู้ผลิตฟ้องศาลอ้างว่ามิชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่เครือข่ายผู้บริโภคเพิ่มข้อเสนอมาตรการจัดการแร่ใยหินอีก     3 ข้อ


 

การประชุมสมัชชาผู้บริโภค เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี ในเวทีย่อยเรื่อง การติดตามความคืบหน้าการให้ความเห็นกรณีแร่ใยหิน (ASBESTOS) ซึ่งเป็นแร่อันตรายและเป็นส่วนประกอบของสินค้าชนิดต่างๆ โดยเฉพาะ กระเบื้องมุงหลังคา ท่อซีเมนต์ เมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งและโรคปอด โดยผู้แทนองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศเคยร่วมกันเสนอในการประชุมปฏิบัติการองค์การอิสระผู้บริโภคครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2552 ที่สภาคริสตจักรในประเทศไทย หลังจากที่นำเสนอข้อเสนอ 10 ข้อ ต่อกระทรวงอุตสาหกรรมผ่านมา 5 เดือนแล้วยังไม่มีการดำเนินการใดๆ

 

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคตะวันตก กล่าวทวงถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงข้อเสนอ 10 ข้อ ที่เสนอต่อกระทรวงอุตสาหกรรมนานกว่า 5 เดือน เกี่ยวกับมาตรการควบคุมการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน การตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหิน ตลอดจนมาตรการอื่นๆ ที่จะนำไปสู่การยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยว่า ในหลายประเทศยอมรับแล้วว่าแร่ใยหินมีอันตราย และยกเลิกการใช้แล้ว แต่ในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีเพียงการออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 27 พ.ศ.2552 เรื่องให้ผลิตภัณฑ์มีส่วนประกอบของแร่ใยหินเป็นสินค้าที่ควมคุมฉลาก คำเตือน ‘ระวังอันตรายผลิตภัณฑ์นี้มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ การได้รับสารเข้าสู่ร่างกายอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ’ ซึ่งเบาเกินไปและติดสัญลักษณ์เตือนที่กล่องผลิตภัณฑ์เท่านั้น ผู้บริโภคจึงฝากถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะดำเนินการตามข้อเสนอของผู้บริโภคทั้ง 10 ข้อให้เป็นความจริงได้เมื่อใด ส่วนผู้ประกอบการโดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตจะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้บริโภคอย่างไร เมื่อวัตถุดิบที่นำมาผลิตสินค้าส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคซึ่งก็คือลูกค้าของตัวเอง

 

นายชัยสิทธิ์ บุญกัน ตัวแทนเลขาธิการสคบ. กล่าวว่า สคบ.ได้แก้ไขประกาศตามคำท้วงติงจากหลายภาคส่วนว่าคำเตือนเบาเกินไป จึงออกประกาศ ฉบับที่ 29 มีเนื้อหาเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนคำเตือนเป็น ‘ระวังอันตรายผลิตภัณฑ์นี้มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ การได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกายอาจก่อให้เกิดมะเร็งและโรคปอด’ ทำให้ผู้ผลิตสินค้าฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ให้คุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ใช้ประกาศฉบับนี้ โดยอ้างว่าสคบ.ใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตอนนี้เรื่องยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล  และสคบ.มีอำนาจเพียงแค่ออกฉลากเท่านั้น เนื่องจากมีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานที่ดูแลอยู่

 

ด้านตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจากภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ที่เข้าร่วมเวทีฯ ในครั้งนี้ ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและได้เพิ่มข้อเสนออีก 3 ข้อ รวมเป็น 13 ข้อ ได้แก่  1. ควรมีกฎหมายคุ้มครองหน่วยงานราชการและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านสังคมในกรณีที่ถูกฟ้องร้อง  2. จากการที่ผู้ผลิตสินค้าที่ใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง กรณีที่ สคบ. ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 27 พ.ศ.2552 นั้น ภาคประชาชนควรดำเนินการใช้ สิทธิร้องสอด เพื่อช่วย สคบ. ที่ดำเนินการออกประกาศดังกล่าวเพื่อปกป้องไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากอันตรายจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นองค์กรกลางในการดำเนินการ  3. ควรมีระเบียบจากสำนักนายกรัฐมนตรีในเรื่องการจัดซื้อวัสดุก่อสร้างและการจัดจ้าง ที่กำหนดสาระสำคัญไม่อนุญาตให้ใช้วัสดุที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ ทั้งนี้การจัดเรียงลำดับความสำคัญของข้อเสนออาจต้องหารือในการประชุมครั้งต่อไป

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน