ฝันค้างผู้บริโภค!!แช่แข็งพ.ร.บ.องค์การอิสระฯ

cediceack67kfk785695a
ปัจจุบัน คนไทยถูกหลอกให้ซื้อสินค้าและบริการอย่างไม่เป็นธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคและการบริการที่เกี่ยวข้องกับการดำรง ชีวิตประจำวัน ล่าสุดคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนรายงาน ข้อมูล 8 ด้านที่คนไทยถูกเอารัดเอาเปรียบมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา คือ 1.เรื่องที่อยู่อาศัย 2.การบริการสาธารณะที่ด้อยคุณภาพ 3.การบริการสุขภาพ ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันกับสิทธิประโยชน์อื่นๆ 4.อาหารและยาโฆษณาเกินจริง

             5.การเงินการธนาคาร การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ไม่ลดอัตราเงินกู้ การใช้บริการฝากถอนเงินทางอินเทอร์เน็ตและเอทีเอ็ม 6.การสื่อสารและโทรคมนาคม 7.ด้านสินค้าและบริการทั่วไปมีปัญหาตั้งแต่เรื่องเล็กจนถึงเรื่องใหญ่ เช่น สารปนเปื้อนในขนมปัง และ8.รถยนต์ใหม่ที่ด้อยคุณภาพเครื่องยนต์บกพร่องชำรุด หรือไม่ประหยัดน้ำมันอย่างที่โฆษณาไว้

             ขณะเดียวกันยังพบมีผู้บริโภคอีก 8 กลุ่ม ที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการซื้อสินค้าและใช้บริการที่ไม่เป็นธรรม ทั้งที่ยื่นเรื่องขอเยียวยาจากหน่วยงานรัฐแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากระบบการคุ้มครองผู้บริโภคภาครัฐเท่าที่ควร ประกอบด้วย กลุ่มผู้เสียหายจากการใช้บริการฟิตเนสที่มีชื่อเสียง 2.กลุ่มผู้เสียหายจากการซื้อรถยนต์ใหม่แต่มีความชำรุดบกพร่อง กรณีรถเชฟโรเลตและฟอร์ด

             3.กลุ่มผู้เสียหายจากบริการรถโดยสารสาธารณะไม่ปลอดภัย 4.กลุ่มผู้เสียหายจากบริการทางการแพทย์ 5.กลุ่มผู้เสียหายจากหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 6.กลุ่มผู้เสียหายจากหนี้นอกระบบ 7.กลุ่มผู้เสียหายจากการเช่าพื้นที่ขายสินค้า กรณีสวนทวดจีบ และ 8.กลุ่มผู้เสียหายจากการซื้อที่ดินเพื่อทำเกษตร (กรณีซีพีแลนด์)

             ถึงเวลาแล้วที่ผู้บริโภคไทยต้องได้รับการปกป้องจากการถูกเอารัดเปรียบไม่ เป็นธรรมด้วยการแสดงความเห็น กำหนด ตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐ ผลักดันกฎหมายองค์การอิสระฯ ตามสิทธิใน รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 61 สิทธิของบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครองให้เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญใหม่ แม้ว่าปัจจุบันจะมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ก็ตาม แต่ยังไม่ทำหน้าที่ดูแลผู้บริโภคได้ครอบคลุมทั่วถึงอย่างแท้จริง

             “สารี อ๋องสมหวัง” ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคของสภาปฏิรูปบอกว่า เครือข่ายผู้บริโภคใช้เวลานานกว่า 17 ปีในการผลักดันเรื่องนี้แต่ดูเหมือนว่า ภาครัฐพยายามเตะถ่วงยื้อเวลา ไม่ออกเป็นกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งที่เรื่องนี้ผ่านขั้นตอนสภานิติบัญญัติแล้วที่ประชุมสภาปฏิรูปก็เห็นชอบ นำส่งต่อเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2558 จนวันนี้ผ่านมา 6 เดือนแล้วยังไม่มีความคืบหน้าหรือการพิจารณาใดๆ เรื่องยังคงแช่แข็งอยู่ในขั้นตอนครม.

             “เราคาดหวังว่า ครม.นี้จะเดินหน้าแต่ยังไม่เห็นวี่แวว บอกเพียงให้รอรัฐธรรมนูญใหม่ก่อน ทั้งที่กฎหมายนี้ผ่านสภานิติบัญญัติมามากพอผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแล้ว กฎหมายนี้มีประโยชน์ต่อประชาชนโดยการเปลี่ยนโครงสร้างคุ้มครองผู้บริโภคใหม่ จากเดิมที่ผู้บริโภครอให้คนอื่นมาคุ้มครอง เป็นระบบที่ผู้บริโภคจะคุ้มครองตัวเอง" สารี กล่าวและว่า

             เหตุผลล่าช้า เพราะรัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจไม่จริงใจกับการปฏิรูป มัวแต่ฟัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่พูดตลอดว่าหากมีองค์การนี้จะทำให้การทำงานซ้ำซ้อนกันและกลัวจะถูกตรวจสอบ จากหน่วยงานรัฐด้วยกัน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีท่าทีต่อเรื่องนี้ทั้งที่สามารถออกเป็นกฎหมายได้ เลยปล่อยทิ้งให้เวลาผ่านเลย ฝ่ายเราเองไม่สามารถทำอะไรได้เพราะทำมามากพอแล้ว คงต้องรอท่าทีกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก่อนว่าจะเขียนอย่างไร

             “ตอนนี้ได้แต่หวังให้ประชาชนที่ประสบปัญหาไม่ได้รับการคุ้มครองดูแลในฐานะ ผู้บริโภค เป็นผู้ออกมาเรียกร้องแสดงพลัง ผลักดันการตั้งองค์การอิสระฯ เพราะถือว่า ที่ผ่านมาเราได้ทำงานตรงนี้อย่างเต็มที่แล้ว ประชาชนคงเห็นในสิ่งที่เราทำ หากจะเดินหน้ามากไปเกรงคนจะเข้าใจไปว่า เป็นกฎหมายของเราเอง แต่ความจริงไม่ใช่เลย เรื่องนี้หลายฝ่ายทั้งเครือข่ายภาครัฐและเอกชน นักวิชาการ สถาบันวิจัยทีดีอาร์ไอ ต่างเห็นด้วยกับการตั้งองค์การอิสระฯ ที่พร้อมจะตรวจสอบ ป้องกัน ผลักดัน และเปิดเผยการทำงานของรัฐ" สารี กล่าว

             จากปัญหาที่เกิดขึ้น จะเห็นว่าทุกวันนี้มีเรื่องร้องเรียนการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคมากมายทั้ง เรื่องการถูกละเมิดสิทธิ ไม่ได้รับความเป็นธรรมรู้ไม่เท่าทัน ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถดูแลคุ้มครองตัวเองได้แม้จะมีการร้องเรียนผ่าน สคบ.ก็ตาม แต่ประสิทธิภาพการช่วยเหลือผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบที่ผ่านมามีน้อยมาก เช่นกรณีรัฐบาลลดดอกเบี้ยเงินฝาก 2 ครั้งกลับไม่มีใครสนใจว่ารัฐทำอะไรเมื่อลดดอกเบี้ยเงินฝาก ก็ต้องลดดอกเบี้ยเงินกู้ด้วย แต่สคบ.ไม่กล้าตรวจสอบที่จะลงไปตรวจสอบตรงนี้เพราะเห็นว่าเป็นการตรวจสอบ หน่วยงานรัฐต่อรัฐด้วยกันเอง พร้อมอ้างเสมอว่า การมีองค์การอิสระฯ จะไปซับซ้อนการทำงานของ สคบ.

             “รัฐธรรมนูญไทยปี 2540 และ2550 กำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นปากเสียงแทนประชาชนไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการซื้อหรือใช้บริการ ต่างๆ แต่วันนี้ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูปปี 2558 กลับตัด “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ออกจากร่างรัฐธรรมนูญ แล้วประชาชนจะเหลือหลักประกันอะไรว่าจะมีกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้ม ครองผู้บริโภคเกิดขึ้น และจะเรียกรัฐธรรมนูญนี้ว่าเป็นฉบับปฏิรูปได้อย่างไร" สารี กล่าวทิ้งท้ายพร้อมระบุว่าไม่มีใครคุ้มครองผู้บริโภคได้ดีเท่ากับตัวผู้ บริโภคเอง

             จากรายงานสรุปข้อมูลการร้องเรียนจากผู้บริโภคมายังเครือข่ายองค์กรอิสระ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในรอบ 6 เดือนปี 2558 พบว่ามีเรื่องร้องเรียนเข้ามามากถึง 2,000 กว่าเรื่อง เป็นความเดือดร้อนทั้ง 7 ด้านข้างต้นหากเปรียบเทียบกับการร้องเรียน 6 เดือนแรกของปี 2557 แล้วสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยตลอดปี 2557 มีการร้องเรียนมากถึง 3,700 เรื่อง

             หากย้อนอดีตกลับไปในส่วนของการขับเคลื่อน “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค" ตั้งแต่เริ่มแรกเมื่อ 17 ปีย่างจนถึงขณะนี้ก้าวหน้าสู่ปีที่ 18 แล้ว ในปี 2559 ถือว่า ใช้เวลานานในการก่อร่างสร้างตัว โดยเกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 57 ที่กำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อนโยบาย มาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างอิสระ ไม่ถูกบังคับด้วยเงื่อนไขจากฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายการเมือง

             จะเห็นว่า อำนาจในการออกกฎหมายและมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นของผู้บริโภคเอง ไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่เฉพาะหน่วยงานของรัฐ ที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคหรือผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมที่สำคัญ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง เสนอแนะและให้ความเห็นในการออกกฎหมาย รวมทั้งให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้พยายามรณรงค์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่องตาม

             “ไพบูลย์ ช่วงทอง" ผู้ประสานเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคหนึ่งในคณะกรรมการองค์การอิสระ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนบอกว่า องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะเติมเต็มช่องว่างการทำงานของรัฐ และหนุนเสริมการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคภาครัฐเป็นตัวเร่งให้มีการคุ้มครอง ผู้บริโภคหนุนเสริมการทำงานซึ่งกันและกันระหว่างผู้บริโภค รัฐ และเอกชน ยกระดับความเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำ

             สอดคล้องกับความเห็นของ “เจริญ วงศ์กังแห" ตัวแทนกลุ่มผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้าและบริการเห็นว่า ครม.ควรเห็นสอดคล้องกับคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ และเร่งรัดการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกมาโดยเร็วเพราะช่วยให้ผู้บริโภค มีความรู้ เท่าทัน มีพลังในการร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย  

             แม้ว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธานจะเห็นชอบกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคก็ตาม ซึ่งที่ผ่านมาผ่านการประชุมพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครอง ผู้บริโภค สปช. เช่น 1.ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปหน่วยงานภาครัฐในการคุ้มครองผู้บริโภค ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงกิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

             2.การปฏิรูปกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุขโดยผลักดันสิทธิ ผู้บริโภคให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดการปฏิรูปตลอดจนสินค้าและบริการ มีคุณภาพมาตรฐานสูงขึ้น มีการบังคับใช้กฎหมาย การคุ้มครองผู้บริโภคทั้งก่อนและหลังสินค้าเข้าสู่ตลาด โดยให้มีกฎหมาย 3.จัดตั้งองค์กรอิสระ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรัฐในการเสนอกฎหมายและ กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

             ตลอดจนการผลักดันร่าง พ.ร.บ.การแจ้งเตือนและจัดการสินค้าไม่ปลอดภัย ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องในสัญญาซื้อขาย เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขโดยที่ประชุมลงมติเห็นชอบ รายงานและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวแต่เรื่องขณะนี้ยัง ค้างอยู่ที่ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นานกว่า 6 เดือนแล้วยังไม่มีความคืบหน้าในการหยิบยกมาพิจารณาแต่อย่างใด กลายเป็นฝันค้าง ผู้บริโภคที่ต้องรอคอยความหวังในการคุ้มครองไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบต่อ ไป...

             ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคเกิดขึ้นมากในขณะนี้ คงต้องมีติดตามดูกันต่อไปว่า  “กฎหมายองค์กรอิสะคุ้มครองผู้บริโภค” จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เครือข่ายคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ดำเนินการล่ารายชื่อ ประชาชนร่วมสนับสนุนผลักดันกฎหมายให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วด้วยการร่วมลงชื่อ ทางเว็บไซต์หรือส่งผ่านทางไปรษณีย์รวบรวมถึงรัฐบาลช่วยกระตุ้นอีกทางหนึ่ง
                                                                                                         


สิทธิผู้บริโภคสากล 8 ประการ

             1.สิทธิรับสินค้า บริการที่จำเป็น

             2. สิทธิรับความปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์

             3. สิทธิรับการคุ้มครองไม่ถูกลวงโฆษณา

             4. สิทธิเลือกซื้อสินค้าบริการที่เป็นธรรม

             5. สิทธิแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์ที่พึงได้

             6. สิทธิรับค่าชดเชย ถูกละเมิดหลอกลวง

             7. สิทธิความเท่าทันต่อการบริโภค

             8.สิทธิยังชีพปลอดภัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมดี


ประโยชน์ ก.ม.องค์การอิสระฯ

             (1) เปิดเผยชื่อสินค้าที่เอาเปรียบ

             (2) เป็นปากเป็นเสียงแทนผู้บริโภค

             (3)รู้เท่าทันไม่ถูกหลอก ถูกโกง

             (4) สนับสนุนผู้บริโภคครบวงจร

             (5) ตรวจสอบ คุ้มครอง

             (6) ผลักดันกฎหมาย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก นสพ.คมชัดลึก วันที่ 21/9/58

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน