บริการสุขภาพ

เครือข่ายแพทย์พร้อมกลับลำ ร่วมวงถกหาทางออก"พ.ร.บ."

สมาพันธ์แพทย์ "รพ.ศูนย์-รพ.ทั่วไป" กลับลำ พร้อมร่วมวง คกก. 3 ฝ่าย เพื่อหาทางออกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ หาก สธ.รับรูปแบบที่เป็นธรรม โปร่งใส สมานฉันท์ แต่ 7 ส.ค.นี้ขอเว้นวรรคไปก่อน ขณะที่ "แพทยสภา" มีมติงดส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมเสาร์นี้ อ้างโครงสร้างคณะกรรมการไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ สอดไส้ "หมออำพล-หมอพงษ์พิสุทธิ์-ผู้แทนกฤษฎีกา" ชี้ไม่เป็นกลาง นายกฯ มอบปลัด สธ.เคลียร์ ติงอย่าทำให้ปัญหาเรื้อรัง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึง กรณีสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ขอถอนตัว จากคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข ว่า ยังไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ซึ่งได้มอบให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขประสานงานหาข้อเท็จจริงแล้ว คงต้องขอเวลาให้ปลัดได้ทำหน้าที่ก่อน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากเห็น คือ ให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้พูดคุยกัน มีโอกาสได้พบปะเจรจากัน บนพื้นฐานที่สามารถสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันได้ เพื่อประโยชน์สุขของทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เชื่อว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างปรารถนาดี

"คาดหวังว่าประเด็นที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน จะสามารถได้ข้อสรุปที่เป็นความเห็นตรงกัน เท่าที่ทราบเบื้องต้นประเด็นที่กังวลใจ และอยากเห็นการปรับปรุงแก้ไข เช่น ประเด็นกองทุน และรายละเอียดอื่นๆ ซึ่งควรจะนำไปพูดคุยกันในที่ประชุม"

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ วาระการพิจารณา ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังอยู่อีกไกลพอสมควร ยังมีเวลาที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะได้หารือกัน ไม่อยากให้กังวลเรื่องระเบียบวาระ ส่วนประเด็นที่มีผู้เรียกร้องให้เพิ่มตัวแทนแพทย์จากหน่วยงานสังกัดอื่นๆ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการชุดนี้นั้น หากคณะกรรมการ ได้หารือกันแล้ว เห็นว่าควรมีบุคลากรใด ผู้ใด ฝ่ายใดเพิ่มเติมจากในคำสั่งที่ได้แต่งตั้งไปแล้ว และเป็นความเห็นร่วมกันของคณะกรรมการ ก็ยินดีดำเนินการให้ เพื่อให้เกิดความสบายใจกับทุกฝ่าย และเริ่มต้นดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งคณะกรรมการที่ได้ลงนามแต่งตั้งไปแล้ว ก็มาจากความเห็นร่วมกันของที่ประชุมทุกฝ่ายที่ผ่านมา

ขณะที่ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. กล่าวว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างการประสานงานกับ พญ.พจนา กองเงิน ประธานสมาพันธ์แพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ว่า ได้ลาออกจริงหรือไม่ เพราะหากจะลาออกจากคณะกรรมการจริง จะต้องมีหนังสือลาออกอย่างเป็นทางการ แต่ขณะนี้ ยังไม่เห็นหนังสือดังกล่าว โดยส่วนตัวเท่าที่รู้จัก พญ.พจนา เป็นคนประนีประนอม ดังนั้น ต้องดูว่าลาออกจริงหรือไม่

นพ.ศิริชัย ศิลปอาชา ที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท. กล่าวว่า ทาง รมว.สาธารณสุข และทางปลัด สธ. ก็ไม่อยากให้ทางตัวแทนสมาพันธ์ถอนตัว อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ทางสมาพันธ์คงไม่เข้าร่วมประชุม แต่ก็พร้อมที่จะเข้าร่วมประชุมด้วย โดยมีเงื่อนไขว่า รูปแบบการพูดคุยต้องเป็นธรรม โปร่งใส สมานฉันท์ ซึ่งขณะนี้ กำลังรอดูท่าทีจาก รมว.สาธารณสุขก่อน ส่วนรายละเอียดไม่อยากพูดอะไรมาก

ทางด้าน นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา เปิดเผยวานนี้ (5 ส.ค.) ว่า ตนได้ลงนามในหนังสือเพื่อขอถอนรายชื่อตัวแทนแพทยสภาในการเข้าร่วมคณะกรรมการ เสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข ที่มีตัวแทน 3 ฝ่ายเข้าร่วมเพื่อหารือเกี่ยวกับเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ตามที่ นพ.โชติศักดิ์ เจนพาณิชย์ ผู้ช่วยเลขานุการแพทยสภา เสนอ โดยให้เหตุผลว่า การตั้งคณะทำงานดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่ได้มีการหารือในที่ประชุมเมื่อวัน ที่ 2 ส.ค. และไม่ได้ให้โอกาสทางสภาวิชาชีพประชุมเพื่อหาตัวแทนก่อน แต่กลับดำเนินการรวบรัด อีกทั้งยังนำเสนอรายชื่อ นพ.โชติศักดิ์ เข้าร่วมเป็นกรรมการเลย ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ขอมติจากทางแพทยสภา

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ในรายละเอียดทั้งหมดนั้นตนไม่ทราบ เพราะไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย ดังนั้น ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้เป็นการประชุมนัดแรก ทางแพทยสภาคงไม่มีตัวแทนเข้าร่วม

ต่อมา นพ.โชติศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า แพทยสภายังไม่ได้ถอนตัวจากคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ เพียงแต่มีมติให้งดส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมในวันที่ 7 ส.ค. เนื่องจากโครงสร้างของคณะกรรมการชุดนี้ ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้

นพ.โชติศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมเมื่อวันที่ 2 ส.ค.ได้กำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการไว้ 20 คน แบ่งเป็นภาคประชาชน 8 คน แพทยสภา 8 คน และตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 4 คน แต่ล่าสุดกลับปรากฏว่ามีทั้งสิ้น 23 คน โดยเพิ่ม นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และจากคณะกรรมการกฤษฎีกา 1 คน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นกลาง

"ในที่ประชุมได้ตกลงกันว่าจะให้ทางสภาวิชาชีพไป หารือ เพื่อให้คัดสรรตัวบุคคลมาเป็นคณะกรรมการ แต่กลับมีการรวบรัดแต่งตั้ง ผมจึงนำสิ่งที่เกิดขึ้นไปรายงานต่อคณะอนุกรรมการบริหารแพทยสภา ซึ่งมีมติให้งดส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม แต่ขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นการล้มกระดาน และยังสนับสนุนการหารือร่วมกัน เพื่อหาข้อยุติ" นพ.โชติศักดิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีที่ตัวแทนแพทย์ขอถอนตัวออกจากการเป็นคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย เพื่อหาเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย ว่า ตนได้คุยกับปลัด สธ.แล้ว และขอไปช่วยทำความเข้าใจ เพราะทั้งหมดที่ดำเนินการก็เพื่อช่วยทุกฝ่าย ลดความขัดแย้งระหว่างคนไข้กับทางแพทย์ และเพื่อหากระบวนการที่จะสามารถไกล่เกลี่ยและชดเชยความเป็นธรรมต่างๆ ได้

"เท่าที่ผมฟังดูทางฝ่ายผู้ที่ผลักดันกฎหมายเขา พร้อมที่จะแก้ไข เพราะฉะนั้น อย่าไปทำให้ปัญหามันเรื้อรัง ต้องไม่ลืมว่าไม่มีกฎหมายฉบับนี้ ปัจจุบันปัญหาการฟ้องร้องมีอยู่แล้ว และยากเนื่องจากไม่มีกฎหมายที่จะมารองรับกระบวนการไกล่เกลี่ย หรือการมีกองทุนที่จะครอบคลุมและแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยตรง ไม่ใช่ว่าปัญหาการฟ้องร้องมันจะไปเกิดจากกฎหมายนี้ เพราะปัจจุบันปัญหามันมีอยู่แล้ว" นายอภิสิทธิ์กล่าว

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 06/08/53

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน