บริการสุขภาพ

สธ.เตือน “ลมแดด” อันตราย เสี่ยงตายสูงสุด 70 เปอร์เซ็นต์

สธ.ห่วง “ภาคอีสาน”ป่วยโรคลมแดดมากสุด แนะเลี่ยงอยู่กลางแดดเปรี้ยง-ดื่มน้ำมากๆ หากตัวร้อนจัด แต่ไม่มีเหงื่อออก ให้เช็ดตัวระบายอากาศ ชี้อันตรายเสี่ยงตายสูงสุด 70 เปอร์เซ็นต์
วันนี้ (11 พ.ค ) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นห่วงกับสภาวะอากาศร้อนที่คุกคามคนไทยในขณะนี้ ซึ่งมีข่าวว่าถึงเสียชีวิตนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นความจริง ในปี 2551 มีผู้ป่วยเป็นโรคลมแดดหรือป่วยจากอากาศที่ร้อนจัดถึง 80 ราย และเสียชีวิต 4 รายจากพื้นที่ต่างๆ ในหลายจังหวัด เช่น จ.มุกดาหาร นครราชสีมา และนครสวรรค์ ซึ่งสภาพอากาศที่ร้อนขณะนี้กระจายทั่วประเทศ และที่น่าห่วงมากคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สธ.ขอฝากเตือนพี่น้องประชาชน และขอแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคลมแดด ได้แก่ 1. ให้หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด พยายามอยู่ในที่ร่มโดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว 2.ให้ดื่มน้ำมากๆ 3.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง 4.หากร้อนจัดแล้วเหงื่อไม่ออกให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว เพื่อระบายความร้อนในตัวออกมา และเป็นการลดความร้อนออกจากร่างกาย 5.หากมีอาการของโรคลมแดด คืออาการกระหายน้ำ ตัวร้อนแต่ไม่มีเหงื่อออก หายใจถี่ ปากคอแห้งและอาจวิงเวียนศีรษะ ขอให้รีบไปพบแพทย์

ทางด้าน นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.กล่าวว่า โรคลมแดด เป็นอาการที่เกิดจากการได้รับความร้อนมากเกิน อาจจะเกิดขึ้นในผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงก็ได้ จัด เป็นความผิดปกติที่มีความรุนแรงมากที่สุด ทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง การทำงานของตับและไต รวมทั้งสูญเสียความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติเกิน 40 องศาเซลเซียส ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องให้การรักษาอย่างรีบด่วน เนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิต 17-70 เปอร์เซ็นต์


อย่างไรก็ตาม โรคดังกล่าวยังเป็นเรื่องใหม่ของคนไทย ดังนั้นในการป้องกันประชาชนไม่ให้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ให้รู้จักวิธีการป้องกัน โดยมอบหมายให้กรมควบคุมโรคออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข และแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลเผยแพร่ประชาชนแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ

นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ในการป้องกันอันตรายในช่วงที่สภาพอากาศร้อน ที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนจะต้องต้องดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ โดยควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน หากทำงานกลางแดดควรสลับมาทำงานในที่ร่มเป็นครั้งคราว เนื่องจากผู้ที่ดื่มน้ำไม่เพียงพอจะไม่สามารถปรับตัวให้สู้กับอากาศร้อนได้ เพราะน้ำเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย โดยปกติร่างกายจะพยายามปรับอุณหภูมิของร่างกายให้อยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส ในการสังเกตว่าร่างกายได้รับน้ำเหมาะสมหรือไม่ สามารถสังเกตง่ายๆ จากสีของปัสสาวะ ถ้าปัสสาวะมีสีเหลืองจางๆ แสดงว่าได้รับน้ำเพียงพอ แต่ถ้าปัสสาวะสีเหลืองเข้มและปัสสาวะออกน้อย แสดงว่าได้รับน้ำไม่เพียงพอ จะต้องดื่มน้ำให้มากๆ


ทั้งนี้ ในปี 2552 มีรายงานผู้ป่วยโรคลมแดดใช้สิทธิบัตรทองเข้ารักษาในโรงพยาบาล 32 ราย และมีทหารเข้ารักษาที่ รพ.พระมงกุฎเกล้าฯ 8 นายเสียชีวิต 3 นาย ในปี 2553 ป่วยแล้ว 5 นาย

ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 พฤษภาคม 2553 12:11 น.

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน