อย.ฟันเพิ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรผิดกฎหมาย

อย.ฟันอีกผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผิดกฎหมาย 4 ยี่ห้อ หลังพบเข้าข่ายหลอกลวงอวดสรรพคุณ พร้อมสั่งระงับโฆษณาแล้ว แต่ยังคงดื้อแพ่ง ไม่หยุดโฆษณาหลอกลวง ผู้ผลิตอาจต้องรับผิดชอบด้วย ร่อนหนังสือถึง กทช.สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย สมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) ช่วยกันคุมเข้ม หากพบละเมิดคำสั่งอีก อาจถึงขั้นพักใช้และเพิกถอนทะเบียนตำรับยา

วันนี้ (7 ก.ย.) ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวในการแถลงข่าวการจับกุมผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผิดกฎหมาย ว่า อย.ได้ตรวจสอบเข้มงวดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ และจากการตรวจสอบโฆษณาทางโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิลทีวี และอินเทอร์เน็ต พบว่า การโฆษณาผลิตภัณฑ์ จิ่วเจิ้งปู่เซินเจียวหนัง, จิ่วเจิ้งซึงเถี่ยเจียวหนัง, จิ่วเจิ้งทงลิ้มเจียวหนัง และ ยาลี่ผิงเจียวหนัง เข้าข่ายโอ้อวดเกินจริง ฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยยา โดยมีการโฆษณาอวดอ้างรักษาได้ สารพัดโรค เช่น ช่วยบำรุงหัวใจ ตับ ไต ม้าม บำรุงเลือด อ้างเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ช่วยเกี่ยวกับโรคเกาต์ รูมาติก รูมาตอยด์ ข้อเข่าเสื่อม หมอน รองกระดูกเสื่อม ต่อมลูกหมากโต ปัสสาวะติดขัด เป็นต้น

ภญ.วีรวรรณ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการนำตัวอย่างบุคคลที่ป่วยเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน ไมเกรน อัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ โดยอ้างว่า หลังจากบริโภคยาดังกล่าวทำให้อาการของโรค หรือโรคที่เป็นอยู่ดีขึ้น ซึ่ง อย.ขอไม่เคยอนุญาต หรือรับรองว่ายาสมุนไพรดังกล่าวมีสรรพคุณ หรือคุณประโยชน์ในทางรักษาโรค ในลักษณะที่ผู้จำหน่าย หรือผู้ขายนิยมไปโฆษณาทางสื่อต่างๆ เนื่องจากไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยที่เชื่อถือได้ยืนยัน จึงเตือนว่า ขอให้ผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อคำโฆษณาดังกล่าว ทั้งนี้ ในส่วนของยาจิ่วเจิ้งปู่เซินเจียวหนัง อย.ได้ดำเนินคดี ข้อหาโฆษณาขายยาโดย แสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จหรือเกินจริง และมีหนังสือแจ้งขอความร่วมมือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่ง ชาติ, สมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย), สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ให้ตรวจสอบและหยุดการเผยแพร่ภาพการโฆษณาดังกล่าว

รองเลขา อย.กล่าวว่า ได้มีหนังสือลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ขอความร่วมมือให้พิจารณา และดำเนินการยุติโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ทั้งนี้ พบว่า ยังมีการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย อีกลักษณะหนึ่งคือ การขายผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่ง อย.ไม่เคยมีการอนุญาตให้ขายยาทางเว็บไซต์ ถือเป็นการจำหน่ายยาแผนโบราณโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 5 พันบาท รองเลขาธิการ อย.กล่าวต่อไปว่า เมื่อผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย/ผู้ขาย ได้รับหนังสือแจ้งให้ยุติการโฆษณาแล้ว แต่ยังคงฝ่าฝืนคำสั่งระงับโฆษณาจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับเป็นรายวันอีกวันละ 500 บาท จนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว นอกจากนี้ ยังอาจถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตผลิตอีกด้วย อย่างไรก็ตาม

“ขอ ให้ผู้ประกอบการทุกรายเห็นแก่ความปลอดภัยของผู้บริโภค อย่าโฆษณาด้วยวิธีต่างๆ ในลักษณะที่เกินเลยความเป็นจริง มิเช่นนั้น อย. จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดและเด็ดขาด สำหรับผู้บริโภคขอความร่วมมืออย่าหลงเชื่อ และอย่าได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว นอกจาราคาแพงแล้ว อาจไม่ได้ผลในการรักษา แถมเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายโดยไม่รู้ตัวได้” ภญ.วีรวรรณ กล่าว

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 7 กันยายน 2553

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน