กม.ใหม่ US.ความปลอดภัยอาหาร คุมเข้มซัพพลายเชน

570129_gmo

ผงะสหรัฐเตรียมคลอด กม.อาหารปลอดภัย FSMA บี้ซัพพลายเออร์อาหารทุกรายการไปตลาดสหรัฐ

ต้องแจงข้อมูลการผลิตทั้งห่วงโซ่ อุปทาน หวั่นกระทบมูลค่าส่งออกอาหารสูญกว่าแสนล้าน

 

 

แหล่งข่าวจากกระทรวง พาณิชย์กล่าวว่า องค์การอาหารและยาของสหรัฐ หรือ USFDA ได้เปิดประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับใหม่ ว่าด้วยการปรับปรุงความปลอดภัยอาหารของสหรัฐ (Food Safty Modernization ACT : FSMA) ได้แก่ 1) Foreign Supplier Verification Programe และ 2) Accreditation of Third-Party Auditors หมายถึงการบังคับให้ผู้ผลิตและซัพพลายเออร์สินค้าอาหารไปยังตลาดสหรัฐจะต้อง ขึ้นทะเบียนหรือเป็นผู้ได้รับอนุญาตจึงจะส่งออกได้และที่สำคัญต้องมีข้อมูล ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับจากต้นน้ำถึงปลายน้ำได้ โดยสหรัฐกำหนดระยะเวลาการให้ความเห็นใน 120 วัน หรือภายในเดือน ก.พ.นี้


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้แจ้งภาคเอกชนเพื่อให้ความเห็นภายใน 27 ม.ค.นี้ แต่ในส่วนของกรมกำลังวิเคราะห์เชิงลึกต่อไปว่า การปรับกฎหมายนี้ถือเป็นมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีหรือไม่ หากเป็นมาตรการทางการค้าก็จำเป็นต้องยื่นขอหารือตามกรอบองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อเยียวยาผลกระทบที่ไทยได้รับ

รายงานข้อมูลจากกรมศุลกากรระบุว่า สหรัฐเป็นตลาดส่งออกสำคัญ คิดเป็นสัดส่วน 10% ของการส่งออกไทย โดยยอดส่งออก 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย.) 2556 มีมูลค่า 6.36 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ 20 รายการแรกจัดเป็นสินค้าในกลุ่มอาหารที่สำคัญ ๆ เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 33,000 ล้านบาท ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 15,000 ล้านบาท ข้าว 12,000 ล้านบาท กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง 10,000 ล้านบาท เป็นต้น

นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ประกาศนี้เป็นการขยายผลการบังคับใช้ให้ครอบคลุมสินค้าอาหารทุกรายการ และใช้กับผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าทั้งรายใหญ่-รายเล็ก จากเดิมที่มีกฎหมายฉบับนี้มานานกว่า 10-15 ปีแล้ว แต่ใช้บังคับสินค้าบางรายการ เช่น กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง และน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง ต้องผ่านมาตรฐานสากล เช่น HACCP ระบบ GMP หรือระบบ GAP เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับจากปลายน้ำไปที่ต้นน้ำได้ ป้องกันการก่อการร้ายทางชีวภาพ (Bioterrorism)

"หลังจากรับฟังความเห็นแล้วน่าจะมีเวลาปรับตัวอีกประมาณ 1 ปี แต่สหรัฐคงใช้แน่ ไม่มีทางจะผ่อนผัน ปัญหาที่เราต้องเตรียมตัวคือ ผู้ประกอบการรายเล็กจะปรับตัวทันไหม หากปรับตัวได้จะสามารถรักษาการส่งออกไปสหรัฐได้ คิดเป็นมูลค่ามหาศาล แต่จะอ้างว่าทำไม่ได้ ไม่ได้ เพราะกลุ่มกุ้งแช่แข็ง กับน้ำผลไม้เขาทำได้อยู่แล้ว อย่างกุ้งส่งออกไปสหรัฐประมาณ 40-50% มีมาตรฐานสากลหมด"

นายไพบูลย์กล่าวว่า เดิมสหรัฐจะให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ แต่เมื่อขยายผลไปยังกลุ่มอาหารทุกชนิด ก็อาจจะเปลี่ยนระบบให้มีหน่วยงานกลางที่รับจดทะเบียนผู้ประกอบการ อาจจะทำให้มีต้นทุนมากขึ้น แต่หากสหรัฐสุ่มตรวจสอบแล้วพบว่ามีการปลอมปนที่เป็นอันตรายต่อประชาชนของ สหรัฐก็จะพิจารณาตีกลับสินค้าหรือทำลายทิ้งซึ่งก็จะเป็นต้นทุนของเรา อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลสามารถเร่งเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ทีพีพีได้ ก็มีโอกาสที่ทั้งไทยจะขอให้สหรัฐจัดทำความร่วมมือในการตรวจสอบร่วมกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งสองประเทศด้วย

ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยเปิดเผยว่า ทางสมาคมได้มอบให้ทางทนายพิจารณาเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับใหม่ดังกล่าวนี้ โดยเห็นว่า USFDA น่าจะมีวัตถุประสงค์ในการออกร่างกฎหมาย เพราะต้องการบังคับให้โรงงานอาหารทุกประเภทต้องขึ้นทะเบียน จากที่ปัจจุบันบังคับเฉพาะโรงงานที่ผลิตอาหารกระป๋อง

พร้อมเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นในการควบคุมตัวแทนผู้ส่งออกอาหาร(Food Agent) จะต้องมีตัวตนอยู่จริงในสหรัฐ อเมริกาเพราะหากเกิดเหตุอันตรายต่อผู้บริโภคจะถือว่าเป็นความผิดโดยเจตนา ซึ่งถือเป็นบทลงโทษที่หนัก และรุนแรงจะไม่ถือว่าเป็นเพียงความประมาทหรือละเลย

"ตรงนี้ต้องระวังตัวกันให้มากหน่อย คล้าย ๆ กับว่า สุนัขบ้านเราออกไปกัดเพื่อนบ้าน แทนที่เจ้าของสุนัขจะมีความผิดฐานประมาท ไม่ดูแล ปล่อยให้สุนัขไปกัดคนอื่น เปลี่ยนเป็นเจตนาเลี้ยงสุนัขไว้กัดชาวบ้าน ดังนั้นหากผู้บริโภคได้รับอันตรายจากสินค้าของบริษัทใด ผู้ผลิตสินค้าจะได้รับข้อหาเจตนาทำให้เกิดอันตรายในการบริโภคสินค้านั้น ๆ คงหนียากกว่าโทษที่ประมาท ละเลย แต่ผู้ส่งออกที่เคยส่งไปตลาดสหรัฐอยู่แล้ว แทบไม่มีผลกระทบอะไร เพียงแต่เจ้าของโรงงานต้องเพิ่มความเข้มงวด เพื่อควบคุมคนทำวัตถุดิบตลอดห่วงโซ่การผลิต ใครส่งออก คนนั้นต้องรับผิดชอบ จะผลักภาระให้คนอื่นต่อไม่ได้ ความจริงถือว่าเอาเปรียบมาก เป็นการวางอำนาจนอกอาณาเขตแบบนักเลงโต"

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานหอการค้าไทยกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมาย FSMA จากสมาชิก เพื่อส่งต่อข้อคิดเห็นต่าง ๆ กลับไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนทางหอการค้ามีหน้าที่คอยติดตามข่าวสารและประสานไปยังสมาชิกผู้ส่งออกเตรียมรับมือกับกฎระเบียบ กฎหมายที่มีการเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

 


29 ม.ค. 2557 เวลา 10:20:48 น.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน