สคบ. เตรียมเชือด 4 บิ๊กเครื่องดื่มชูกำลัสคบ.จ่อเชือด4บิ๊กเครื่องดื่มชูกำลัง

สคบ. เตรียมเชือด 4 บิ๊กเครื่องดื่มชูกำลังจัดชิงโชคใต้ฝา  สั่งเก็บ "เอ็ม- 150 - คาราบาวแดง -กระทิงแดง-แรงเยอร์"  ภายในพฤษภาคมนี้ เหตุผิดก.ม.ว่าด้านการพนัน จำคุกตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปจนถึงสูงสุด 3 ปี  หรือปรับขั้นต่ำตั้งแต่ 50 บาท ไปจนถึงสูงสุดไม่เกิน 5 พันบาท  ด้าน "บาวแดง" มั่นใจแคมเปญรวย 100 ล้านฯได้รับอนุญาตถูกต้อง



ด้าน"แรงเยอร์" โละการตลาดแบบเดิม หันทำตลาดแนวใหม่ ฟากเซียนตลาดแย้ม 4 ค่ายยักษ์ทุ่มงบกว่า 2 พันล้านดันตลาดโตครั้งแรกในรอบ 7-8 ปี

นายจิรชัย  มูลทองโร่ย  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยกับ  "ฐานเศรษฐกิจ"  ว่า   จากการที่มีผู้บริโภคมาร้องเรียนกับ สคบ. เกี่ยวกับกรณีผู้ประกอบธุรกิจประเภทเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน โฆษณาสินค้าโดยระบุว่าจะจัดให้มีรางวัลด้วยการเสี่ยงโชค ซึ่งมีผู้ประกอบธุรกิจบางรายกระทำการโฆษณาโดยไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม กฎหมาย  โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง ที่พบว่ามีการเสี่ยงโชคและโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ  ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายว่าด้วยการพนัน  และเป็นข้อต้องห้ามตามกฎกระทรวงฉบับที่ 3  (พ.ศ.2526) ข้อ 3 ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522

โดยผู้ประกอบการที่จัดรายการชิงโชคและส่งเสริมการขายดังกล่าว ได้แก่  1. รายการ "ลุ้นโชคใต้ฝา 500 ล้าน กับเอ็ม-150" ของบริษัท โอสถสภา จำกัด  2. รายการ "รวย 100 ล้านกับบาวแดง" ของบริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด  3. รายการ "ฝาแรงมอบโชค" ของบริษัท เครื่องดื่มแรงเยอร์ จำกัด และ 4.รายการ "เป้าหมายคว้ากระทิง" และ "พลิกฝาคว้ากระทิง" ของ บริษัท เครื่องดื่ม กระทิงแดง จำกัด

สคบ. จึงนำเสนอให้ผู้ประกอบการยุติการโฆษณาการส่งเสริมการขายและการชิงโชค ภายในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้  โดยหากไม่กระทำตาม ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 ซึ่งมีบทลงโทษ โดยความผิดขั้นต่ำสุดเพียงจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปจนถึงสูงสุด 3 ปี  หรือปรับขั้นต่ำตั้งแต่ 50 บาท ไปจนถึงสูงสุดไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  ส่วนความผิดตามกฎกระทรวงฉบับที่ 3  (พ.ศ.2526) ข้อ 3 ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522  นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่การเปิดฝาเพื่อรับรางวัล  ถือเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522  มีความผิดตามมาตรา 36  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน  1  หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  และจัดเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข มาตรา 6 (10) มีบทลงโทษตามมาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท อีกด้วย

"การจัดรายการส่งเสริมการขายด้วยการเสี่ยงโชค เปิดฝาพบข้อความหรือสัญลักษณ์และสามารถนำไปแลกของรางวัลได้ ซึ่งเป็นวิธีการเล่นที่ขัดกับนโยบายของกระทรวงมหาดไทยที่ห้ามไม่ให้เจ้า พนักงานผู้ออกใบอนุญาตดำเนินการอนุญาตโดยเด็ดขาด ซึ่งผู้ประกอบการต่างๆ ก็พร้อมที่จะยุติการโฆษณาการส่งเสริมการขายและการชิงโชค ตามเวลาที่กำหนด"     นายจิรชัย  กล่าว

โดยเรื่องดังกล่าว นายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลัง ภายใต้แบรนด์ คาราบาวแดง กล่าวว่า กรณีที่ทางสคบ. ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกกรณีฝ่าฝืนกฎหมายการโฆษณาเครื่องดื่มชูกำลังที่มีการเสี่ยงโชค นั้นใต้ฝานั้น เกิดจากการตีความหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งภายหลังจากที่มีการประชุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น ผู้ประกอบการ สมาคมเครื่องดื่มชูกำลังและหน่วยงานภาครัฐได้ทำความเข้าใจตรงกันแล้ว ในเรื่องของขอบเขตของการพิมพ์ข้อความใต้ฝา  รวมไปถึงข้อจำกัดในการทำโฆษณาต่างๆ

ขณะเดียวกันเบื้องต้นทางสมาคมเครื่องดื่มชูกำลังจะมีการประชุมร่วมกันอีก ครั้งก่อนช่วงเดือนเมษายนนี้ เพื่อนำข้อสรุปของทางฝั่งผู้ประกอบการเข้าหารือกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อตกลงให้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน  อย่างไรก็ตามในส่วนของการออกแคมเปญ "รวย 100 ล้าน กับบาวแดง" นั้นได้รับการอนุญาตอย่างถูกกฎหมายจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว

"ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังถือเป็นตลาดที่ใหญ่ และหากผู้ประกอบการไม่ออกมาทำแคมเปญหรือกิจกรรมการตลาดที่ต่อเนื่อง อาจทำให้สินค้าต่างๆที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันออกมาแย่งแชร์ตลาดเครื่อง ดื่มชูกำลังได้ ซึ่งยอมรับว่าแต่ก่อนกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังมีความเสียเปรียบสินค้าชนิด อื่นในเรื่องการทำตลาดอยู่บ้าง แต่ในช่วง3-4 ปีที่ผ่านมาหลังจาก อย.ปลดล็อกเรื่องกฎหมายและการโฆษณาพอสมควรทำให้สามารถทำการตลาดได้มากขึ้น"

ด้านนายปริญญา เพิ่มพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและปฏิบัติการขาย บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลัง "แรงเยอร์"  กล่าวว่า  เชื่อว่าการจำกัดห้ามโฆษณาการชิงโชคใต้ฝา จะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำตลาดของแบรนด์แรงเยอร์  ซึ่งล่าสุดบริษัทเข้าดูแลด้านการตลาดและการจัดจำหน่าย "แรงเยอร์"  และปรับภาพลักษณ์และตำแหน่งของสินค้าใหม่ เพื่อสร้างฐานลูกค้าในระดับล่างที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างเช่นพนักงานใน โรงงานอุตสาหกรรม หรือพนักงานทั่วๆ ไป เป็นต้น รูปแบบการทำตลาดจึงต้องปรับเปลี่ยนไป  จะไม่มุ่งเน้นกลยุทธ์การตลาดแบบเดิมๆ  เช่น การชิงโชคใต้ฝา เป็นต้น

บริษัทเตรียมงบการตลาดทั้งสิ้น 100 ล้านบาท เพื่อใช้ในการแจ้งเกิดให้กับแรงเยอร์อีกครั้ง ผ่านการทำกิจกรรมการตลาดแบบ 360 องศา  โดยโปรโมชันแรกที่จะทำคือ สะสมฝาครบ 5 ฝา นำมาแลกแรงเยอร์ได้ฟรี 1 ขวด ที่รถขายเสริมสุขทั่วประเทศตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 เมษายนนี้ ตามด้วยการกระจายสินค้าให้ครอบคลุมทุกร้านค้าทั่วประเทศ  เป็นต้น โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะมีส่วนแบ่งตลาด  5%  จากเดิมที่ส่วนแบ่งไม่ถึง  1%  หรือยอดขายราว 15 ล้านขวดต่อปี และจะเพิ่มเป็น 30 ล้านขวดภายใน 3  ปี (ปี 2556-2559)

ขณะที่นายชนินทร์ เทียนเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไอเบฟเวอเรจ จำกัด อดีตผู้บริหารเครื่องดื่มชูกำลัง "กระทิงแดง" กล่าวว่า ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในปีที่ผ่านมามีการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักเป็นครั้งแรก ในรอบ 7-8 ปี สาเหตุมาจากการที่ผู้ประกอบการแต่ละค่ายต่างอัดงบโปรโมชันอย่างหนัก โดยเฉพาะการชิงโชคใต้ฝา เพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยพบว่ามีการทุ่มงบโปรโมชันกว่า 2 พันล้านบาทจาก 4 ผู้ประกอบการรายใหญ่  ทั้งนี้การชิงโชคใต้ฝาถือเป็นหัวใจหลักของการทำตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง การจะห้ามทำแคมเปญหรือโฆษณาเชื่อว่าเป็นไปได้ยาก และแม้หน่วยงานภาครัฐจะมีบทลงโทษในการทำผิด แต่เป็นบทลงโทษที่ไม่รุนแรง เช่น การปรับเงิน 2-3 หมื่นบาท เพราะเมื่อเทียบกับมูลค่าที่ได้รับจากยอดขายและกำไรหลักสิบล้านบาท ย่อมคุ้มค่ากว่า และผู้ประกอบการก็เลือกที่จะถูกปรับดีกว่ายกเลิกแคมเปญ"

ปัจจุบันที่ตลาดของเครื่องดื่มชูกำลังมีมูลค่าตลาดรวม  2 หมื่นล้านบาท มีเอ็ม - 150  เป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่ง 48%  รองลงมาได้แก่ คาราบาวแดง 18%  กระทิงแดง 10%  โดยในปีนี้คาดว่าตลาดรวมจะเติบโตเพิ่มขึ้น 15%  จากปีก่อนที่เติบโตราว 10%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,829  วันที่  24- 27  มีนาคม พ.ศ. 2556

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน