อี.โคไลบุกสองทวีป

การแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรียอี.โคไล (E.coli) ในพืชผลการเกษตรยังคงเป็นปัญหาที่น่าหวั่นวิตกสำหรับรัฐบาลประเทศในกลุ่ม สหภาพยุโรป (อียู)โดยเฉพาะในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดกว่า 20 คน (สถิติ ณ วันที่ 9 มิ.ย. คือ มีผู้เสียชีวิตรวม 25 คน เป็นผู้เสียชีวิตในเยอรมนี 24 คน และในสวีเดน 1 คน โดยหนึ่งคนดังกล่าวเป็นผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากเยอรมนี) ทั้งยังมีผู้ป่วยจากการติดเชื้อร้ายดังกล่าวอีกเป็นจำนวนมากกว่า 2,600 คน  สถานการณ์ขณะนี้ไม่เพียงมีจำนวนตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีการพบขอบเขตการปนเปื้อนเชื้ออี.โคไลขยายวงกว้างขึ้น จากแตงกวา มะเขือเทศ เนื้อดิบ ขณะนี้มีการตรวจพบเชื้อโรคดังกล่าวในพืชตระกูลถั่วเพิ่มขึ้น เช่น ถั่วงอก ถั่วเลนทิล ซึ่งเป็นถั่วเมล็ดแบน และพืชกินหัวเช่น บร็อกโคลิ
ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุดยังมีการตรวจพบเชื้ออี.โคไลอีกสายพันธุ์หนึ่งในหัวชูการ์บีตที่ประเทศ เนเธอร์แลนด์ ซึ่งแพทย์ยืนยันว่าเป็นคนละสายพันธุ์กับที่พบในเยอรมนี

เจ้าหน้าที่กำลังเร่งสืบหาต้นตอของเชื้อดังกล่าวเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด โดยขณะนี้พื้นที่ที่ถูกสุ่มตรวจเข้มข้นอยู่ที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในรัฐโลเวอร์ แซกโซนี ของเยอรมนีซึ่งมีพรมแดนติดกับเนเธอร์แลนด์ ฟาร์มดังกล่าวถูกสั่งปิดชั่วคราวและทางการเยอรมนีได้ประกาศเตือนประชาชนหลีก เลี่ยงการบริโภคถั่วงอกและพืชตระกูลหัวในระยะนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค แต่ยังสร้างความเสียหายรุนแรงต่อเกษตรกรผู้ปลูกผักผลไม้ สัปดาห์ที่ผ่านมา ยอดขายแตงกวาในยุโรปเรียกได้ว่าดิ่งเหว และเหตุการณ์เดียวกันกำลังจะเกิดขึ้นกับถั่วงอก  และเป็นความตื่นตระหนกที่กำลังกระจายตัวข้ามพรมแดนประเทศในยุโรป

นายวิลเล็ม บอลโย กรรมการผู้จัดการขององค์กรส่งเสริมการค้าแห่งเนเธอร์แลนด์ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ถือเป็นหายนะใหญ่ ไม่เพียงต่อเกษตรกรของเนเธอร์แลนด์เท่านั้น แต่ยังมีผลเสียหายต่อระบบการค้าผักผลไม้ทั้งหมด เขายืนยันว่ามีการสุ่มตรวจผักผลไม้ของเนเธอร์แลนด์ระหว่าง 400-500 ตัวอย่าง แต่ก็ไม่พบเชื้ออี.โคไลสายพันธุ์เดียวกับที่พบในเยอรมนีแต่อย่างใด โฆษกสำนักงานความปลอดภัยด้านอาหารและผู้บริโภคของเนเธอร์แลนด์ชี้แจงเพียง ว่า สายพันธุ์ที่พบในหัวชูการ์บีตไม่รุนแรงถึงระดับคร่าชีวิตเหมือนสายพันธุ์ที่ พบในเยอรมนี แต่ก็ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ ทางการเนเธอร์แลนด์ได้เรียกคืนหัวชูการ์บีตที่ส่งออกไปยังเยอรมนีและ เบลเยียมกลับมาและสั่งระงับการจำหน่ายแล้ว 

     
++พบอี.โคไลอีกสายพันธุ์ที่เทนเนสซี 
ข้ามมหาสมุทรมายังฝั่งสหรัฐอเมริกา ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวการเสียชีวิตของเด็กหญิงวัย 2 ขวบจากเชื้ออี.โคไลเช่นกัน และพี่ชายของเธอก็กำลังป่วยจากการติดเชื้อดังกล่าวเช่นเดียวกับผู้ป่วยอีก อย่างน้อย 10 คนในรัฐเทนเนสซี (เป็นตัวเลขที่รวบรวมนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นมา) อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหรัฐฯระบุว่า เชื้ออี.โคไลที่ตรวจพบในเทนเนสซีเป็นคนละสายพันธุ์กับที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ ในยุโรปเวลานี้ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสองทวีปก็ไม่มีความเชื่อมโยงกัน

ดร. เดวิด เคิร์ชเก้ ผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์จากสำนักงานสาธารณสุขภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองจอห์นสัน ซิตี รัฐเทนเนสซี เปิดเผยว่า ทางการสหรัฐฯกำลังติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและขอเตือนประชาชนให้เพิ่ม ความระมัดระวังในการบริโภค "จากผลการทดสอบของห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ในวันที่ 2 และ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา เราพบว่า ผู้ป่วย 7 รายได้รับเชื้อที่อาจมีฤทธิ์อ่อนกว่าเชื้ออี.โคไลสายพันธุ์ 0157 แต่มี 1 รายที่ติดเชื้ออี.โคไล 0157 และอาจแสดงอาการที่รุนแรงกว่า" แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าต้นเหตุของเชื้อดังกล่าวมาจากไหน เพราะผู้ป่วยบางรายมีอาการหลังจากที่บริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ปรุงสุก แต่บางรายก็ติดเชื้อหลังว่ายน้ำในแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯยอมรับว่า อย่างน้อยผลจากห้องปฏิบัติการก็ชี้ว่า ผู้ป่วยในรัฐเทนเนสซีกำลังเผชิญกับเชื้อแบคทีเรียอี.โคไลสองสายพันธุ์    

++ เศรษฐกิจเสียหายยับเยิน
หลังการประชุมฉุกเฉินต้นสัปดาห์นี้ อียูได้ปรับเพิ่มเงินชดเชยให้กับเกษตรกรที่ให้ความร่วมมือในการทิ้งทำลายและ เรียกเก็บผักผลไม้ออกจากตลาดทำให้ต้องสูญเสียรายได้ โดยเงินชดเชยดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นจาก 150 ล้านยูโรเป็น 210 ล้านยูโร แต่เงินดังกล่าวก็ยังนับว่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับความสูญเสียของเกษตรกรยุโรป จากกรณีการแพร่ระบาดของเชื้ออี.โคไล ซึ่งประเมินว่าจะอยู่ที่ระดับ 417 ล้านยูโรต่อสัปดาห์ นอกจากนี้เงินชดเชยที่ระบุยังครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงที่ เริ่มมีการแพร่ระบาดเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้เท่านั้น ยังคงมีการเรียกร้องโดยเฉพาะจากประเทศผู้ผลิตและส่งออกผักรายใหญ่ของอียู ได้แก่ สเปน อิตาลี และฝรั่งเศส ให้ทางการชดเชยเต็ม 100% แก่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนและต้องสูญเสียรายได้จากเหตุการณ์โรคระบาด ในครั้งนี้ จากการประเมินของสหภาพเกษตรกรยุโรปชี้ว่า ในแต่ละสัปดาห์ที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้ออี.โคไลได้ เกษตรกรในแต่ละประเทศผู้ผลิตผักรายใหญ่ของยุโรป จะต้องสูญเสียรายได้เฉลี่ยต่อสัปดาห์ดังนี้คือ สเปน 200 ล้านยูโร  อิตาลี 100 ล้านยูโร เนเธอร์แลนด์ 50 ล้านยูโร เยอรมนี 30 ล้านยูโร ฝรั่งเศส 30 ล้านยูโร เบลเยียม 6 ล้านยูโร เดนมาร์ก 7.5 แสนยูโร และลิธัวเนีย 1.5 แสนยูโร

ฟิลิปเป บินาร์ด ผู้แทนสมาคมผักผลไม้สดแห่งยุโรป หรือเอฟปา เปิดเผยว่า ก่อนหน้าที่จะมีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้ออี.โคไล ยอดขายผักสดทั่วภูมิภาคยุโรปจะอยู่ที่ระดับ 1,000 ล้านยูโรต่อสัปดาห์ แต่ตอนนี้ทุกอย่างดูจะหยุดชะงักไปหมด ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือประเทศที่มีการส่งออกมากที่สุดและ ประเทศที่มียอดผู้ป่วยติดเชื้อมากที่สุด ซึ่งก็ได้แก่ เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก และฝรั่งเศส ส่วนประเทศที่ระงับการนำเข้าสินค้าผักสดทั้งหมดจากอียูแล้วได้แก่ รัสเซีย ซึ่งในภาวะปกติจะมีการนำเข้าผักสดจากอียูคิดเป็นมูลค่าถึงปีละประมาณ 600 ล้านยูโร

..................................................................................................................................

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,643 12-15  มิถุนายน พ.ศ. 2554

 

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน