ผู้บริโภคกาญจนบุรีถกเข้ม ถอดประสบการณ์สานต่อแนวทางความปลอดภัยด้านอาหารระหว่างรัฐ-ประชาชน

กาญจนบุรี -วันที่ 26 สิงหาคม 2557 : ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคกาญจนบุรี และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดเวทีสาธารณะ “แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สานพลังพลเมือง เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร”

ณ ห้องสัมมนามิตรพันธ์ โรงแรมราชศุภมิตร จังหวัดกาญจนบุรี เป็นการถอดบทเรียนการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหาร ระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน หวังต่อยอดให้ถึงระดับพื้นที่ตำบล

นางพรรษาวรรณ จันทร์ดี : การค้าภายในจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวในขณะที่เป็นประธานในพิธีเปิดว่า การแลกประสบการณ์ เรียนรู้ในวันนี้ จะทำให้เป็นแนวทางขับเคลื่อนในระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ได้เป็นอย่างดี เพราะการมีกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายประชาชน จะทำให้เกิดการเรียนรู้บทบาท หน้าที่ และการหนุนเสริมซึ่งกันและกันได้

นางสาวนิภาพร พวงแก้ว : ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคกาญจนบุรี เปิดเผยว่า นอกจากงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านอื่นๆ แล้ว การคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารก็เป็นอีกงานหนึ่งที่ทางศูนย์ฯ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคอีก 10 จังหวัด ดำเนินงานอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาเกือบ 4 ปี โดยได้รับสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) การดำเนินงานมีทั้งงานด้านการรับเรื่องร้องเรียน การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ การสร้างความร่วมมือระดับท้องถิ่น และสร้างองค์ความรู้เครือข่ายผู้บริโภค ซึ่งจากการดำเนินงานมีเรื่องร้องเรียนมาด้านอาหารจำนวนกว่า 10 เรื่อง ทั้งจากการสำรวจ และการแจ้งมาจากผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค ส่วนการสร้างความร่วมมือนั้นเป็นเรื่องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญ บางแห่งสนับสนุนเต็มที่และต่อเนื่องโดยเห็นได้จากการสนับสนุนคณะทำงานโครงการอาหารปลอดภัยตำบลดอนเจดีย์ ให้มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ในระดับจังหวัดประเด็นความปลอดภัยด้านอาหารยังเป็นหนึ่งในประเด็นสมัชชาสุขภาพจังหวัดอีกด้วย นอกจากนี้อีกกิจกรรมหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษคือนิทรรศการด้านฉลาก โดยในระยะที่ผ่านมาทางศูนย์ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ฉลากที่เป็นมิตรกับผู้บริโภค และจัดนิทรรศการพบว่า มีครูจากโรงเรียนที่อยู่นอกเป้าหมายสนใจให้ไปดำเนินกิจกรรมในโรงเรียน


“จากการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 4 ปี ทำให้พบว่ามีข้อมูลการดำเนินงานด้านอาหารปลอดภัยถูกกระจายตัวอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงาน และองค์กรภาคประชาชน แต่ยังขาดการรวบรวม และจัดการให้เห็นเป็นรูปธรรม ทั้งรูปแบบ วิธีการจัดการ และงบประมาณ ทำให้ผู้ที่สนใจที่จะดำเนินงานในทุกระดับหาแนวทางการดำเนินงาน จุดเริ่มต้น และแนวร่วมได้ลำบาก ดังนั้นเพื่อให้ผู้เข้าร่วมมีแรงบรรดาลใจ และเรียนรู้รูปแบบการดำเนินงานความปลอดภัยด้านอาหาร จากการดำเนินงานของภาคประชาชน ทั้งในระดับท้องถิ่น จังหวัด และระดับชาติ  นำบทเรียนที่ได้ไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างสรรค์งานความปลอดภัยด้านอาหารตามบทบาทหน้าที่ และศักยภาพที่สามารถทำได้          ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคกาญจนบุรี และเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดกาญจนบุรี จึงจัดให้มีกิจกรรมเวทีสาธารณะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สานพลังพลเมือง เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร ขึ้นมาในวันนี้” นางสาวนิภาพร กล่าว

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน