คอนโดสร้างไม่ตรงกับโฆษณา ทำอย่างไร

เขียนโดย ชูชาติ คงครองธรรม วันที่ . จำนวนผู้ชม: 15340

สวัสดีครับ....ท่านผู้อ่านทุก ๆ ท่าน

วันนี้ รู้ไว้ใช้สิทธิ์ ขอนำเรื่องของผู้บริโภคที่ใช้สิทธิ์ในการต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความถูกต้องจนนำมาซึ่งความสำเร็จ ซึ่งถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีรวมถึงเป็นแนวทาง ซึ่งท่านสามารถนำไปปรับใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ เรื่องนี้ชื่อว่า การซื้อคอนโดที่ไม่เป็นไปตามโฆษณา

600712 condo

ผู้บริโภคท่านนี้ได้ไปซื้อคอนโดแห่งหนึ่งย่านอโศก ในการซื้อครั้งนี้ไม่ได้เข้าไปดูตัวอย่างของห้องเนื่องจากโครงการยังสร้างไม่เสร็จเพียงแต่ดูในแบบแปลนเท่านั้น ซึ่งในแบบแปลนดังกล่าวมีสิ่งที่ยื่นออกมา ซึ่งผู้บริโภคคิดว่าเป็นระเบียงที่สามารถออกไปดูทิวทัศน์หรือใช้ประโยชน์กับระเบียงนี้ได้ เช่น ตากผ้า

แต่เมื่อห้องนั้นได้สร้างเสร็จโครงการก็นัดไปตรวจดูห้อง พบว่าไม่มีระเบียงดังที่คิดไว้ แต่ในส่วนที่ยื่นออกมานั้นเป็นเพียงปูนที่ใช้รองรับตัวแอร์เท่านั้น และนอกจากนี้ก็ยังพบสิ่งที่ชำรุดบกพร่องหลายอย่าง

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วผู้บริโภคท่านนี้จึงไม่ต้องการที่จะเข้าไปอยู่และต้องการที่จะขอยกเลิกสัญญาและขอเงินที่ชำระไปคืนทั้งหมด 

วิธีการในการแก้ไขปัญหามีขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. ขอดูพิมพ์เขียวการก่อสร้างโครงการ ในเมื่อผู้ร้องได้ทำการตัดสินใจซื้อคอนโด ซึ่งในแบบแปลนในส่วนที่ยื่นออกมาผู้ร้องคิดว่าเป็นระเบียง ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานของผู้ร้องเท่านั้นซึ่งในแบบแปลนก็ไม่ได้ระบุว่าเป็น ระเบียง เพราะฉะนั้นผู้ร้องจำต้องหาหลักฐานให้ชัดเจนเสียก่อน โดยให้ผู้ร้องไปที่เขตเพื่อขอดูเลขที่ใบอนุมัติและไปที่กรมโยธานำเลขที่ไปขอดูพิมพ์เขียวที่โครงการขออนุญาติก่อสร้างคอนโดไว้ ว่าส่วนที่ยื่นออกมาขอสร้างเป็นระเบียงหรือไม่ ถ้าหากมีการขอเอาไว้แต่ไม่ได้สร้างก็ต้องถือว่าผิดไปจากวัตถุประสงค์ที่โครงการขอไว้ ผู้ร้องใช้เหตุผลดังกล่าวสามารถยกเลิกสัญญากับทางโครงการได้

2. แจ้งให้โครงการแก้ไขปัญหา ให้ผู้ร้องทำจดหมายเป็นแบบไปรษณีย์ตอบรับให้ทางโครงการเยียวยาแก้ไขปัญหาภายในกำหนด

3. ขอยกเลิกสัญญา เมื่อครบกำหนดที่ให้ทางโครงการเยียวยาแก้ไขปัญหาแล้ว แต่โครงการกลับนิ่งเฉย ไม่ยอมเข้ามาแก้ไข  ให้ผู้บริโภคทำจดหมายเป็นแบบไปรษณีย์ตอบรับ ขอยกเลิกสัญญาและขอเงินที่ชำระไปทั้งหมดคืน เพราะการก่อสร้างไม่เป็นไปตามสัญญา

ซึ่งหลังจากนั้นแม้จะมีจดหมายให้ผู้ร้องไปรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าว ผู้บริโภคควรทำจดหมายเป็นไปรษณีย์ตอบรับปฎิเสธการโอนเนื่องจากห้องชุดที่ผู้บริโภคซื้อมานั้นไม่เป็นไปตามโฆษณา สัญญา และไปแสดงตัวที่กรมที่ดินในวันรับโอน พร้อมให้เหตุผลการไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ สุดท้ายทางโครงการได้ติดต่อขอคืนเงินให้กับผู้บริโภคทั้งหมด

เรื่องทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงจะเป็นประโยชน์ให้กับท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อย และอย่าลืมติดตามเรื่องต่อไปใน รู้ไว้ใช้สิทธิ์ ซึ่งจะนำเสนอเรื่องที่เป็นประโยชน์และสาระความรู้ให้กับท่านผู้อ่านตลอดไป

พิมพ์