ประเทศไทยทำอะไรในปี 2563

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 5088

 

ประเทศไทยทำอะไรในปี 2563
The Sustainable Consumers ของปี 2020

ทำไมต้องมีบริการขนส่งมวลชนที่ดี

         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้พิจารณาร่วมกันและเห็นว่า ปัญหาระบบขนส่งมวลชนเป็นปัญหาใหญ่เชิงโครงสร้างของหลายประเทศทั่วโลก ท่ามกลางการแออัดของยานพาหนะที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศที่กระจายตัวทั่วทุกที่ในเขตเมืองและปริมณฑล ขณะที่หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกได้หันมาปรับใช้ทางแก้ไขปัญหามลพิษ ด้วยการปรับปรุงการบริการขนส่งมวลชนให้สะดวกปลอดภัย เข้าถึงคนทุกกลุ่มให้สามารถใช้บริการได้มากขึ้น พัฒนาระบบขนส่งมวลชนของประเทศให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มความเป็นมิตรลดทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักและมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืนได้

         ปัญหาเร่งด่วนและสำคัญของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน คงไม่พ้นปัญหาปากท้อง ภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น และแน่นอนค่าใช้จ่ายที่สำคัญของผู้บริโภคประกอบไปด้วย ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม อาหาร และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน

         ข้อมูลล่าสุดของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า ค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคในการเดินทางเมื่อเทียบอัตราค่าแรงขั้นต่ำต่อวันของคนกรุงเทพมหานคร หากเป็นรถไฟฟ้าทุกระบบทั้ง BTS MRT และ ARLจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 26 - 28% หรือหากใช้รถเมล์ ขสมก. ปรับอากาศก็มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 15 - 16 % ส่วนรถเมล์ร่วมบริการอยู่ที่ 14% ขณะที่ในปารีสมีค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเพียง 3 % ลอนดอน 5 % โตเกียว 9 % และสิงคโปร์ 5 % เท่านั้น นั่นเท่ากับคนกรุงเทพต้องเสียค่าเดินทางต่อวันที่แพง และสวนทางกับคุณภาพของบริการขนส่งสาธารณะอีกด้วย

         โดยข้อเท็จจริงในการใช้ชีวิตของแต่ละคนในขณะนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่แพงกว่านี้อีกมาก หากคิดตั้งแต่ออกจากบ้านเพื่อไปทำงานในตอนเช้าของทุกวัน ที่ต้องใช้จักรยานยนต์รับจ้าง รถเมล์ รถตู้ กว่าจะถึงรถไฟฟ้า และหากต้องใช้รถไฟฟ้าสองสาย ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่เรียกว่าค่าแรกเข้าเพิ่มอีก 14-16 บาท จากรถไฟฟ้าทุกสายที่ใช้บริการ

         นอกจากนี้ด้วยปัญหาบริการขนส่งสาธารณะที่ไม่มีคุณภาพ และความไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค การจราจรที่ติดขัดบนท้องถนน รถติดมากด้วยมลพิษทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัญหารถไฟฟ้าราคาแพง ขาดการเข้าถึงได้ของคนทุกคนทุกกลุ่ม ล้วนทำให้คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ต้องเลือกใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นพาหนะเพื่อการเดินทางมากถึง 43 % รถจักรยานยนต์ 26 % และรถขนส่งสาธารณะเพียง 24 % เท่านั้น โดยที่ปี พ.ศ. 2558 ผู้บริโภคในสิงคโปร์และฮ่องกงมีอัตราการใช้รถขนส่งสาธารณะมากถึง 62 % และ 89 % ตามลำดับ

         ขณะที่รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยตั้งเป้าหมายไว้ในปี พ.ศ. 2573 ที่จะต้องทำให้ประชากรเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างความปลอดภัย ทุกคนสามารถจ่ายค่าโดยสารได้อย่างเท่าเทียมเป็นธรรม พัฒนาและปรับปรุงความปลอดภัยทางถนน ตัวอย่างที่ดีที่สุด เช่น การขยายเส้นทางขนส่งสาธารณะให้ตรงกับความต้องการของผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงอย่างผู้หญิง เด็ก คนพิการ และผู้สูงวัยคนชรา

wcrd2020 big banner bus and train

         การพัฒนาบริการขนส่งสาธารณะให้เป็นจริง ต้องเพิ่มสัดส่วนของประชาชนที่สามารถเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดที่มีบริการขนส่งสาธารณะในระยะทาง 0.5 กิโลเมตร เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค พัฒนารูปแบบการให้บริการที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เพิ่มความปลอดภัยในการใช้บริการขนส่งสาธารณะ สู่การบริโภคที่ยั่งยืน โดยรัฐต้องสนับสนุนให้มีการใช้บริการขนส่งสาธารณะที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ข้อเสนอที่สำคัญของผู้บริโภคในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ มี 6 เรื่องทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่สำคัญ

         1) ประชาชนทั่วประเทศ ต้องเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดบริการขนส่งสาธารณะในระยะทาง 0.5 กิโลเมตร หรือเดินไม่เกิน 15 นาที ต้องปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้เป็นระบบไฟฟ้าทั่วประเทศ

         2) ระยะเวลาการรอรถเมล์ หรือรถโดยสารสาธารณะไม่เกิน 15 นาที ในช่วงเร่งด่วนและไม่เกิน 30 นาทีในช่วงไม่เร่งด่วนในการเดินทางประจำวัน

         3) มีระบบให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ว่า รถเมล์ หรือรถโดยสารสายอะไรที่กำลังจะมา (ViaBus) ในกรุงเทพฯยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถบอกได้ในปัจจุบัน รวมทั้งในต่างจังหวัดที่ยังแทบไม่มีระบบอะไรเลย

         4) ค่าใช้จ่ายของรถเมล์ปรับอากาศ

         5) ค่าใช้จ่ายบริการขนส่งมวลชนทุกประเภทรวมแล้วต้องไม่เกิน 5 % ของรายได้ขั้นต่ำในแต่ละวัน ซึ่งทั้งรัฐบาลและท้องถิ่นต้องพัฒนาระบบสนับสนุนที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ สะอาด มีคุณภาพในการให้บริการ

         6) สำหรับกรุงเทพ ฯ ต้องจัดการให้ผู้บริโภคเสียค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าเพียงครั้งเดียวในการใช้บริการถึงแม้จะใช้หลายเส้นทาง มีระบบที่เชื่อมโยงรถเมล์กับบริการรถไฟฟ้าและบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท

พิมพ์