กลุ่มผู้เสียหายไฟไหม้ ปี 53 ร้องรัฐชดเชยเยียวยา เหตุ 7 ปี ไม่เคยได้รับการช่วยเหลือ

600614 newsffc

วันนี้ 14 มิ.ย. 60 ณ สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ ศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน และร้านหนังสือดอกหญ้า อนุสาวรีย์ชัยฯ แถลงข่าวให้รัฐบาลกำหนดมาตรการชดเชยเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุชุมนุมในปี 53

นางสาวนิดา ตันติพินิจวงศ์ เจ้าของร้านหนังสือดอกหญ้า กล่าวว่า จากเหตุการณ์ไฟไหม้อาคารร้านดอกหญ้า อนุสาวรีย์ชัยฯในครั้งนั้น ทำให้ร้านดอกหญ้าได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ต้องปิดสาขาร้านดอกหญ้าที่อนุสาวรีย์ชัยฯ และ เกิดหนี้สินจำนวนมาก และต้องเลิกจ้างพนักงาน แม้ในช่วงนั้นรัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาให้กับผู้ประสบเหตุ และร้านดอกหญ้าก็ได้รับเงินช่วยเหลือด้วย แต่เงินจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐก็ไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง อีกทั้งบริษัทประกันก็ไม่ได้เข้ามารับผิดชอบตามสัญญาประกันภัย ปัจจุบันศาลได้มีคำสั่งยกคำขออนุญาตฎีกาของร้านดอกหญ้า ถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว ร้านดอกหญ้าซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เสียหายจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีช่วยเหลือ กำหนดมาตรการชดเชยเยียวยาให้กับผู้เสียหายให้ได้รับการชดเชยอย่างเป็นธรรมด้วย

นายรัชพล ไกรจิรโชติ กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน กล่าวว่า หลังเกิดเหตุบริษัทฯได้รับความเสียหายอย่างมาก เพราะอาคารและทรัพย์สินถูกไฟไหม้เสียหายเกือบทั้งหมด ส่งผลให้บริษัทต้องใช้เงินเพื่อซ่อมแซมให้กลับมาเปิดดำเนินกิจการได้เกือบ 200 ล้านบาท และต้องปิดกิจการไปถึง 1 ปี ในขณะที่บริษัท ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลด้วยมาตรการเดียวกับผู้ประกอบการรายย่อยอื่นๆ คือได้รับเงินช่วยเหลือ 560,000 บาท และได้รับเงินชดเชยเพื่อไม่ให้บริษัทเลิกจ้างพนักงานอีกประมาณ 800,000 บาท ซึ่งมาตรการดังกล่าวเทียบไม่ได้เลยกับความเสียหายที่บริษัทได้รับ หากบริษัทไม่ดิ้นรนด้วยตนเองจนกลับมาเปิดดำเนินการได้ใหม่ ก็คงตายทางธุรกิจไปแล้ว ที่สำคัญบริษัทเป็นเอกชนซึ่งไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใดๆ แต่กลับเป็นผู้ได้รับความเสียหาย จึงอยากขอให้รัฐบาลซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลความสงบเรียบร้อย หันมาให้ความสนใจกับความเดือดร้อนของพวกเราและให้ความช่วยเหลือให้พอสมควรกับความเสียหายที่ได้รับด้วย ในส่วนของคดีที่บริษัท ฯฟ้องบริษัทประกันภัยนั้น ศาลได้นัดฟังคำสั่งขออนุญาตฎีกาในวันที่ 21 มิถุนายนนี้

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุไฟไหม้อาคารมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิฯ ได้รับการช่วยเหลืออย่างดีจากประชาชน ผู้บริโภคทั่วไป หน่วยงานองค์กรต่าง ๆ จนสามารถทำงานได้ภายใน 2 เดือน เนื่องจากเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ช่วยเหลือผู้บริโภคมาเป็นเวลานาน ได้มีการเรียกร้องให้บริษัทประกันเข้ามาดูแลตามสัญญาที่ได้ทำไว้เช่นเดียวกับผู้เสียหายรายอื่นๆ แต่ก็พบปัญหาว่ามีการกำหนดข้อเงื่อนไขสัญญาที่บริษัทประกันยกอ้างจนต้องเกิดการพิพาทนำคดีขึ้นสู่ศาล เพราะบริษัทประกันภัยต่างๆ กลับอ้างข้อยกเว้นความรับผิด ทั้งอ้างเป็นเหตุการณ์จราจลหรือก่อการร้าย เป็นเหตุให้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยที่ทำไว้ ซึ่งโดยลักษณะของสัญญาประกันภัยที่ทำในปัจจุบัน เกิดจากการกำหนดโดยบริษัทผู้รับประกันภัยฝ่ายเดียว ข้อตกลงต่างๆ ถูกเขียนในลักษณะสัญญาสำเร็จรูป ซึ่งผู้บริโภคที่เข้าทำสัญญาไม่มีโอกาสแก้ไขเปลี่ยนแปลง อีกทั้งเมื่อเกิดความเสียหายใดๆ ขึ้นก็มักจะตีความข้อเท็จจริงไปทางที่เป็นคุณกับบริษัทประกันภัยมากกว่าจะคุ้มครองความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งขณะนี้ คดีที่มูลนิธิฯฟ้อง ยังอยู่ระหว่างขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกา

พิมพ์ อีเมล