ข้อจำกัด จุดอ่อน และปัญหา การทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ กรณีปัญหาบริการฟิตเนส ของบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว

จดหมายเปิดผนึก 

เรื่อง   ข้อจำกัด จุดอ่อน และปัญหา การทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ  

กรณีปัญหาบริการฟิตเนส ของบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว 

 

จากกรณีที่สมาชิกแคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส จำนวนมากกว่า ๑,๕๐๐ รายได้ร้องเรียนว่า ได้รับความเสียหายไม่น้อยกว่า ๓๐ ล้านบาทโดยเฉพาะผู้เสียหายของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจำนวน ๖๓๙ ราย จากการที่บริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียน จำกัด (มหาชน)  ปิดสาขาบริการ โดยมิได้แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า  ทำให้สมาชิกจำนวนมากได้รับความเสียหายจากการกระทำของบริษัทฯ   

โดยขณะที่ถูกธนาคารกรุงเทพ ฟ้องล้มละลายยังชักชวนให้ผู้บริโภคเข้าทำสัญญาสมัครสมาชิกแบบตลอดชีพแล้วไม่ปฏิบัติตามสัญญา  ถือเป็นพฤติการณ์ที่อาจเข้าข่ายหลอกลวง ฉ้อโกงประชาชน  กระทำการขัดต่อกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒  และอาจจะเข้าข่ายความผิดฐานโฆษณาเป็นเท็จหรือเกินความจริง  โดยที่สมาชิกส่วนใหญ่ได้ชำระเงินค่าสมาชิกและค่าบริการเสริมล่วงหน้าไปแล้วแต่กลับไม่ได้ใช้บริการ เนื่องจากมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมต่อเนื่องมากมาย อทิเช่น การต้องชำระหนี้บัตรเครดิตทั้งๆ ที่ ที่ไม่ได้ใช้บริการ

 

ข้อเท็จจริง การดำเนินการและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

จากปัญหาข้างต้น  ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย ได้มีการดำเนินการร้องเรียน แจ้งความร้องทุกข์ แจ้งข้อหา กล่าวโทษ ต่อหลายหน่วยงานและหลากหลายวิธีการในการดำเนินงาน เพื่อให้แก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ตามลำดับดังนี้

๑.      ร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

๒.    ยื่นจดหมายบอกเลิกสัญญาและให้คืนเงินต่อผู้บริหารบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียน จำกัด (มหาชน)

๓.     การจัดเวทีสาธารณะเพื่อหาทางออกร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

๔.     ยื่นหนังสือเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อนายวรวัจน์  เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

๕.     ยื่นหนังสือนายธาริต เพ็งดิศ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) เพื่อขอให้รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ

๖.      เข้าแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษ และดำเนินคดีอาญากับบริษัทฯ ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(ปคบ.

๗.     ขอรับการช่วยเหลือด้านกฎหมายและการดำเนินคดี ต่อสภาทนายความ

๘.     ยื่นเป็นโจทก์ร่วมในการบังคับคดี

 

นับจากวันที่ร้องเรียน และดำเนินการยื่นหนังสือต่อหน่วยงานรัฐเพื่อให้แก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหายตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๕๕  จนถึงเดือนเมษายน  ๒๕๕๖ นับเป็นเวลา ๙ เดือน ยังไม่มีรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้เสียหายได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๖ และคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ในวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖ เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ

 

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

๑.      พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๔๒๒ แก้ไข พ.ศ. ๒๕๕๖

๒.    พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ แก้ไข พ.ศ. ๒๕๕๖

๓.     พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓

๔.     พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗

๕.     ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๕๔

 

คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ซึ่งได้รับเลือกจากองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศในการทำหน้าที่ตามเจตนารมย์ขององค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา ๖๑ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่ในการให้ความเห็นและกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีการดำเนินการและมีบทบาทโดยตรงในการจัดเวทีสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหายเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๕ การศึกษามาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคต่อกรณีนี้ในต่างประเทศ การสนับสนุนการดำเนินการของผู้เสียหายและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ผลจากการศึกษาและตรวจสอบการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานรัฐ พบข้อจำกัดและจุดอ่อน อุปสรรคในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคหลายประการดังนี้

๑.      ขาดการทำงานเชิงรุกในการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อป้องกันความเสียหายที่กว้างขวางที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคได้รับทราบปัญหา และป้องปรามผู้ประกอบการ เนื่องจากได้มีผู้เสียหายเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจำนวนมากก่อนหน้าที่จะมีการรวมกลุ่มร้องเรียนในเดือนสิงหาคมไม่น้อยกว่า ๑ ปี  และพบหลักฐานการทำสัญญาใช้บริการในลักษณะตลอดชีพ ซึ่งขัดต่อประกาศคณะกรรมการสัญญา ฯ การร้องเรียนการปิดสาขาให้บริการ

๒.    ความล่าช้าในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภค อทิเช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ ( DSI ) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ที่ผู้เสียหาย ได้ยื่นหนังสือตั้งแต่เดือน กันยายน จนถึงวันที่ ๒ พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา จนกระทั่งศาลล้มละลายมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียน จำกัด (มหาชน) เป็นเวลามากกว่า ๘ เดือน ไม่มีรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหาย ทำให้บริษัทฯ สามารถยักย้ายถ่ายเททรัพย์ออกไป  เป็นเหตุให้ผู้เสียหายรู้สึกท้อแท้กับการให้ความช่วยเหลือของหนวยงานรัฐ เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อการทำงาน การที่จะไม่ได้รับการเยียวยา

  1. โดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ที่ได้แจ้งยุติการช่วยเหลือโดยแจ้งว่าคดีดังกล่าวไม่เข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ โดยการวินิจฉัยไม่มีการเรียกไปให้ข้อมูลเพิ่มเติม  ไม่แจ้งสิทธิในการอุทธรณ์ ไม่มีการส่งคำสั่งในการวินิจฉัยให้กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะหน่วยงานสาธารณประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
  2. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ได้สอบสวนและสรุปสำนวน แจ้งข้อกล่าวหากับบริษัท แคลิฟอร์เนีย และคณะกรรมการของบริษัทจำนวน 3 ราย  โดยออกหมายเรียกผู้ต้องหาแล้ว หากผู้ต้องหาไม่มารับทราบข้อกล่าวหา  จึงจะทำการออกหมายจับ
  3. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แจ้งยุติการช่วยเหลือหลังจากศาลล้มละลายมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทฯ โดยแจ้งให้ผู้เสียหายไปขอรับชำระหนี้ที่กรมบังคับคดี โดยที่สคบ.สามารถมีมติให้พนักงานอัยการดำเนินคดีภายใต้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ตามมาตรา ๔๔ ในคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งถูกฟ้องเป็นนิติบุคคล หากข้อเท็จจริงปรากฏว่านิติบุคคลดังกล่าวถูกจัดตั้งขึ้นหรือดำเนินการโดยไม่สุจริต หรือมีพฤติการณ์ฉ้อฉลหลอกลวงผู้บริโภคหรือมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของนิติบุคคลไปเป็นประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และทรัพย์สินของนิติบุคคลมีไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ตามฟ้อง เมื่อคู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควร ให้ศาลมีอำนาจเรียกหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้นหรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของนิติบุคคลหรือผู้รับมอบทรัพย์สินจากนิติบุคคลดังกล่าวเข้ามาเป็นจำเลยร่วม และให้มีอำนาจพิพากษาให้บุคคลเช่นว่านั้นร่วมรับผิดชอบในหนี้ที่นิติบุคคลมีต่อผู้บริโภคได้ด้วย เว้นแต่ผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าว หรือในกรณีของผู้รับมอบทรัพย์สินนั้นจากนิติบุคคลจะต้องพิสูจน์ได้ว่าตนได้รับทรัพย์สินมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน

ผู้รับมอบทรัพย์สินจากนิติบุคคลตามวรรคหนึ่งให้ร่วมรับผิดไม่เกินทรัพย์สินที่ผู้นั้นได้รับจากนิติบุคคลนั้น

๓.     หน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มที่และสนับสนุนการตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี คือ   คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่ได้มีบทบาทและดำเนินการอย่างจริงจังในการติดตาม ตรวจสอบหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้เกิดการ ตรวจสอบจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พบว่า บริษัท แคลิฟอร์เนียฯ กระทำการเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน โดยโอนเงินไปต่างประเทศกว่า 1.6 พันล้านบาททั้งที่บริษัทฯแจ้งขาดทุนตลอด

 

จากปัญหาและข้อจำกัดข้างต้นของหน่วยงานรัฐข้างต้น คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน มีข้อเสนอเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคดังนี้

๑.      ข้อเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ปรับปรุงประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการออกกําลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2554 เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น สิทธิในการยกเลิกการชำระเงินกับธนาคารในกรณีได้บอกเลิกสัญญากับบริษัทแล้ว รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคได้รับทราบ ว่าการทำสัญญาใช้บริการสถานออกกำลังกายเกิน ๑ ปี ผิดกฎหมาย  และเมื่อได้รับการร้องเรียนจากผู้เสียหาย สคบ.ควรแจ้งเตือนผู้บริโภค เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ควรจะเป็น หรือเกิดปัญหาซ้ำซาก

๒.     ข้อเสนอต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ  ขอทราบเหตุผลที่ไม่รับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ ทั้งที่มีผู้บริโภคได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก เพียงแต่สรุปว่าคดีดังกล่าวไม่เข้าข่ายตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง ของพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ ทั้ง ๆ ที่  มีกฎหมายรองรับให้คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดที่เข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ ซึ่งเห็นว่าในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายอาญา อันเป็นความผิดอาญาในลักษณะเดียวกัน ก็ควรได้รับการพิจารณาให้เข้าข่ายเป็นคดีพิเศษได้เช่นเดียวกัน

๓.     ข้อเสนอต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.)   ให้เร่งรัดในการดำเนินคดีอาญากับผู้ประกอบการ และร่วมมือกับปปง. ในการอายัดทรัพย์ผู้ประกอบการ

 

วันที่ ๒๐     มิถุนายน ๒๕๕๖

 

 

สำเนาเรียน           สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

อธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)

ผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.)

สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

พิมพ์ อีเมล