เรื่อง 9 ปมคาใจ! ผลสอบไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้ “เหตุสุดวิสัย”

จดหมายเปิดผนึก

เรื่อง 9 ปมคาใจ!  ผลสอบไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้ “เหตุสุดวิสัย”

 

ตามที่ได้เกิดไฟฟ้าดับทั่วพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้เป็นเวลานานประมาณ 1 ถึง 5 ชั่วโมงเมื่อตอนค่ำของวันที่ 2 1 พฤษภาคม 2556  ต่อมา กระทรวงพลังงานได้ตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้” และได้แถลงผลการตรวจสอบเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา  โดยคุณพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีพลังงาน

 

จากการติดตามผลการตรวจสอบจากสื่อมวลชนพอสรุปสาระได้ว่า

“ที่ประชุมกรรมการมีมติว่า เหตุการณ์เกิดไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้เป็นอุบัติเหตุและเป็นเรื่องสุดวิสัย เนื่องจากเกิดจากฟ้าผ่าสายส่ง ขนาด 500 กิโลวัตต์  จึงไม่สามารถลงโทษการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ได้เพราะเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ทั้งหมด  ขณะเดียวกันช่วงเวลาที่เกิดเหตุเกิดขึ้นในช่วงเวลา 8 วินาทีเท่านั้น จึงเป็นเรื่องน่าเห็นใจ ที่ทุกฝ่ายได้พยายามดำเนินการอย่างเต็มที่แล้ว” (เดลินิวส์ 11 มิถุนายน)

หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ได้สรุปสาเหตุเป็น 3 ประเด็น คือ 1.สายส่ง 500 เควี จอมบึง-บางสะพาน 2 วงจรที่ 2 ถูกปลดเพื่อบำรุงรักษาฉุกเฉิน (Unplanned) 2. เกิดฟ้าผ่าบนสายส่ง 500 เควี จอมบึง-บางสะพาน 2 วงจรที่ 1  และ 3. ระบบ HVDC ที่ กฟผ. รับไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียเกิดขัดข้องทำให้ระบบไฟฟ้าของภาคใต้ถูกแยกออกจากระบบไฟฟ้าหลักของประเทศ

คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน มีมติว่าการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวต้องมีผู้รับผิดชอบไม่อาจสรุปว่าเป็นเหตุสุดวิสัยได้ โดยมีประเด็นที่เป็นปมคาใจต่อทั้งกระบวนการตรวจสอบและผลการตรวจสอบรวม 9 ปม ดังนี้

ปมที่ 1 เนื่องจากกระทรวงพลังงานรวมทั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เป็นหน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงทั้งในด้านนโยบายและการปฏิบัติ (ผ่านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค)  ดังนั้น คณะกรรมการตรวจสอบฯ ดังกล่าวจึงควรจะเป็นคณะกรรมการที่เป็นอิสระจากกระทรวงพลังงาน  แต่เท่าที่ทราบจากสื่อพบว่า รองปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานคณะกรรมการ

ปมที่ 2 ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบฯ สรุปว่าเป็น “อุบัติเหตุและเรื่องสุดวิสัย” เพราะฟ้าผ่าระบบสายส่ง(ตามที่ปรากฏในสื่อ) โดยที่ไม่ได้ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนกำลังผลิตติดตั้งไฟฟ้าในวันเกิดเหตุของพื้นที่ภาคใต้อาจจะทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าใจสภาพที่แท้จริงได้

จากข้อมูลที่ปรากฏใน “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” (10 มิ.ย.) พบว่ากำลังผลิตติดตั้งในพื้นที่ภาคใต้มีจำนวนทั้งสิ้น 2,649.5 เมกะวัตต์ (ยังไม่รวมที่รับจากภาคกลางอีก 600 เมกะวัตต์-ที่มีปัญหา) แต่มีโรงไฟฟ้าหยุดซ่อมบำรุงรักษาพร้อมกันจำนวนถึง 5 โรง  รวม 627.5 เมกะวัตต์ มีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเพียง 1,692.2 เมกะวัตต์เท่านั้น

กำลังผลิตไฟฟ้าที่หยุดซ่อมพร้อมกันคิดเป็นประมาณ  27 % ของกำลังผลิตติดตั้งทั้งหมด  ปมที่คาใจก็คือ ทำไมโรงไฟฟ้าดังกล่าวจึงต้องหยุดซ่อมพร้อมกัน  ทำไมจึงไม่ทยอยซ่อมทีละโรง

ในวันที่เกิดเหตุ (ทั้งฟ้าผ่าวงจรที่ 2 และปลดซ่อมวงจรที่ 1) ถ้ามีการหยุดซ่อมเพียงบางส่วน เหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น แม้จะเกิดอุบัติเหตุและปลดซ่อมก็ตาม

ดังนั้น ก่อนที่จะสรุปว่าเป็น “อุบัติเหตุและเรื่องสุดวิสัย” คณะกรรมการตรวจสอบฯควรจะตอบสังคมให้ได้ว่าเหตุใดโรงไฟฟ้าดังกล่าวจึงหยุดซ่อมพร้อมกัน (ย้ำพร้อมกัน)

ปมที่ 3 การอ้างว่าฟ้าผ่า ทำให้สงสัยว่า ระบบไฟฟ้าไทยไม่มีสายล่อฟ้าเพื่อป้องกันฟ้าผ่าหรือ หรือว่าระบบสายล่อฟ้าไม่มีประสิทธิภาพดีพอ

ปมที่ 4 ตามคณะกรรมการตรวจสอบอ้างว่า “วงจรที่ 2 ถูกปลดเพื่อบำรุงรักษาฉุกเฉิน (Unplanned)”   ปมที่สงสัยก็คือ คำว่าฉุกเฉินในที่นี้ ก็น่าจะไม่ใช่ “เดินไปพบโดยบังเอิญแล้วปลดลงมาซ่อม” แต่น่าจะมีการทราบล่วงหน้านานพอสมควร สิ่งที่สงสัยก็คือ ก่อนจะถึงกำหนดการซ่อมทำไมไม่มีแผนการฉุกเฉินหากเกิดอุบัติเหตุในการซ่อม

ปมที่ 5 ฟ้าผ่าเกิดขึ้นเวลา 17.26 น. แต่ไฟฟ้าดับเวลา 18.52 น. นั่นคือเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเกิดหลังเหตุการณ์ฟ้าผ่าถึง 1 ชั่วโมง กับ 26 นาที  ซึ่งนานพอสำหรับการจัดการ(หลังเหตุฉุกเฉิน)เพื่อให้เกิดการลดการใช้ไฟฟ้าในส่วนที่ไม่จำเป็นได้ (เหมือนกรณี 5 เมษายน) ซึ่งหากมีการกระทำดังกล่าวไฟฟ้าก็ไม่น่าจะดับเพราะกำลังการผลิตกับจำนวนการใช้สูงสุดจะใกล้เคียงกันมาก  แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการจัดการดังกล่าว

ปมที่ 6 มีข่าวปรากฎในสื่อบางฉบับว่า  อำนาจในการสั่งการตัดไฟฟ้าในพื้นที่ใดเป็นของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)  ไม่ใช่อำนาจของพนักงานการไฟฟ้า เมื่อไม่มีการสั่งการจาก กกพ. พนักงานการไฟฟ้าก็ไม่กล้าเสี่ยงที่จะตัดสินใจโดยพลการ

ดังนั้น ปัญหาการจัดการดังกล่าวจึงไม่น่าจัดถูกผลักให้เป็น “เรื่องสุดวิสัย”

ปมที่ 7 มักจะมีอ้างกันอยู่เสมอว่าโรงไฟฟ้าในภาคใต้ไม่เพียงพอ จำเป็นต้อง “ซื้อ” จากประเทศมาเลเซีย ในราคาหน่วยละ 16 บาท

ในความเป็นจริงที่ภาคประชาชนรับทราบก็คือ ประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียมีความร่วมมือที่จะแลกเปลี่ยนไฟฟ้ากันด้วยเงินลงทุนประมาณ 6 พันล้านบาท และเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2545 หลักการก็คือเมื่อประเทศใดมีความต้องการไฟฟ้ามากอีกประเทศหนึ่งก็จะส่งเข้ามาช่วย เพราะความต้องการสูงสุดของแต่ละประเทศไม่ตรงกัน การคิดแบบนี้ทำให้แต่ละประเทศไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม คิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าก็ 300 เมกะวัตต์

ขอย้ำคำว่า “แลกเปลี่ยน” ซึ่งไม่ใช่การซื้อขาย แต่จะจ่ายเงินกันเฉพาะส่วนต่างของปริมาณไฟฟ้าเท่านั้น มีบางปีประเทศไทยเป็นผู้ได้รับเงินส่วนต่าง นั่นหมาย ความว่าเราส่งไฟฟ้าไปให้มาเลเซียมากกว่าที่รับ  แต่ในระยะหลังเรารับมามากกว่าส่งไปถึงประมาณ 10 เท่าตัว

ในประเด็นเรื่องราคา จากรายงานเรื่อง “รายงานไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2554” (โดยกระทรวงพลังงาน หน้า 12) พบว่าประเทศไทยส่งไฟฟ้าขายให้ประเทศเพื่อนบ้านในราคาเฉลี่ยหน่วยละ 3.22 บาท (จำนวน 1,645 ล้านหน่วย โดยลาว 46.9% ,กัมพูชา 29.5%  มาเลเซีย 19.6% และพม่า 4.0%)  ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ซื้อไฟฟ้าจำนวน 10,682 ล้านหน่วย ราคาเฉลี่ยหน่วยละ 1.29 บาท (จากลาว 99.9% และมาเลเซีย 0.1%)

จากข้อมูลดังกล่าว แม้ว่าเราไม่สามารถสรุปได้ว่า ประเทศไทยต้องซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียในราคาหน่วยละเท่าใด  แต่ก็ทำให้เราสงสัยได้ว่า ทำไมประเทศมาเลเซียขายไฟฟ้าให้ไทยในราคาที่แพงมากถึงหน่วยละ 16 บาท

ในขณะที่ราคาไฟฟ้าในประเทศมาเลเซียอยู่ระหว่าง 7.09 ถึง 14.76 เซ็นต์สหรัฐ (2.13 ถึง 5.32 บาทต่อหน่วยเท่านั้น  (ราคาประเทศเยอรมนีและสิงคโปร์ประมาณ 9.42 และ 6.46 บาทต่อหน่วยตามลำดับ  http://en.wikipedia.org/wiki/Electricity_pricing)

ปมที่ 8 หลังเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ ทั้งรัฐมนตรีพลังงาน ข้าราชการระดับสูงของกระทรวง ต่างก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ไฟฟ้าในภาคใต้ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม แต่ประชาชนในพื้นที่ก็คัดค้าน

ดังที่ได้เรียนแล้วในปมที่ 2 ว่าในพื้นที่ภาคใต้มีโรงไฟฟ้า(ที่ตั้งอยู่จริงถึง 2,429 เมกะวัตต์-ข้อมูลในรายงานของกระทรวงพลังงานปี 2554 หน้า 22) หากรวมระบบสายส่งจากภาคกลาง(ซึ่งเป็นแผนที่ได้วางไว้นานแล้ว) 600 เมกะวัตต์ จากมาเลเซียอีก 300 เมกะวัตต์  รวม 3,329 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 2,200 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ในเดือนเมษายน 2557 โรงไฟฟ้าจะนะโรงที่ 2 อีก 800 เมกะวัตต์ก็จะเข้าสู่ระบบ และในปี 2559 โรงไฟฟ้าขนอมก็จะเข้ามาเสริมอีกประมาณ  200-300 เมกะวัตต์

การก่อสร้างโรงไฟฟ้าไว้มากเกินไปก็จะเป็นภาระกับประชาชนทั่วประเทศ เพราะการสร้างโรงไฟฟ้าก็คล้ายๆกับการผูกปิ่นโต คือไม่ใช้ก็ต้องจ่าย ไม่กินก็ต้องจ่าย

ปมที่ 9 สมมุติ(สมมุตินะ) ว่ามีความจำเป็นจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าจริงๆ ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะประเทศไทยมีแหล่งพลังงานหมุนเวียนมาก ทั้งชีวมวล แสงแดดและลม ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตเอกชนรายเล็กมากได้แสดงความประสงค์ที่จะผลิต แต่ก็ได้รับการกีดกันจากกระทรวงพลังงาน

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ พลังงานแสงแดดแบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคารมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้ลงทุนไปแล้วกว่า 1 ล้านบาทและผลิตไฟฟ้าได้คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5 พันบาทต่อเดือน แต่การไฟฟ้าก็ไม่รับซื้อ

 

๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๖

 

สำเนาเรียน           นายกรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

พิมพ์ อีเมล