ขอให้ยุติการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) กับประชาชน


จดหมายเปิดผนึก
 

เรื่อง  ขอให้ยุติการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) กับประชาชน

 

จากการที่รัฐบาลจะปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) กับภาคครัวเรือนจากราคา ๑๘.๑๓ บาทต่อกิโลกรัมในเดือนมิถุนายนปี ๒๕๕๖ และภาคยานยนต์ในลำดับต่อไป โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นที่ราคา ๒๔.๘๒ บาท/กก.ภายในต้นปี ๒๕๕๗ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ในฐานะตัวแทนผู้บริโภคผู้ใช้ก๊าซหุงต้มทั้งทางตรงและทางอ้อม ขอคัดค้านการปรับขึ้นราคาดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า  รัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลยังไม่ได้ดำเนินมาตรการเพื่อที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ดังนี้

 

๑.  เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากธุรกิจปิโตรเคมีในอัตรา ๑๒.๕๕ บาทต่อกก.เท่าเทียมกับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ปัญหาหนี้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีฐานะติดลบสุทธิประมาณ ๔,๖๒๘ ล้านบาท (ณ วันที่ ๑๒ พ.ค. ๒๕๕๖) เกิดขึ้นจากการใช้ LPG ของธุรกิจปิโตรเคมีในปริมาณมากโดยขยายตัวจาก ๑,๒๓๑ ล้านกก.ในปี ๒๕๕๑ เป็น ๒,๖๖๕ ล้านกก.ในปี ๒๕๕๕ ซึ่งมากกว่าการใช้ของอุตสาหกรรมอื่นถึง ๔ เท่าตัว ทำให้ปริมาณ LPG ที่ผลิตได้ในประเทศไม่พอเพียงสำหรับผู้ใช้กลุ่มอื่น แต่ธุรกิจปิโตรเคมีกลับจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯเพียง ๑ บาทต่อกก.เท่านั้น ในขณะที่อุตสาหกรรมทั่วไปต้องจ่ายเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในอัตรา ๑๒.๕๕ บาทต่อกก. เงินกองทุนน้ำมันฯ ที่ขาดหายไปจากการไม่ได้เก็บเงินจากธุรกิจปิโตรเคมีก่อให้เกิดการขยายตัวของภาระหนี้ตามการขยายตัวการใช้ LPG ของภาคปิโตรเคมี เป็นผลให้ต้องเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพิ่มจากผู้ใช้น้ำมัน ซึ่งเป็นนโยบายที่ไม่เป็นธรรมเพราะเป็นการรับภาระแทนปิโตรเคมี จากปัญหาดังกล่าว จึงขอเรียกร้อง จะทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีเงินเพิ่มขึ้นถึงปีละ ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท (เทียบจากปริมาณการใช้ในปี ๒๕๕๕) และจะทำให้หนี้กองทุนน้ำมันฯ หมดไปทันทีภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี อีกทั้งสามารถยุติการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากผู้ใช้น้ำมัน

๒. ปรับลดอัตราค่าผ่านท่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ค่าผ่านท่อในปัจจุบันคำนวณมาจากเกณฑ์ที่กำหนดให้ ปตท. ได้รับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในการวางท่อ (IRROE) ร้อยละ ๑๘ สำหรับท่อเก่าซึ่งกำหนดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ และร้อยละ ๑๒.๕ สำหรับท่อใหม่ที่กำหนดขึ้นมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ ๑๐ ปี ได้ลดลงมากจากร้อยละ ๑๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นเพียงร้อยละ ๑.๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในการวางท่อของ ปตท. ซึ่งไม่มีความเสี่ยงใดๆ เนื่องจากผูกขาดการขนส่งก๊าซทั้งหมดในประเทศกลับไม่ได้มีการปรับลดแต่อย่างใด  ทั้งนี้ มาตรา  ๖๘ แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดให้ “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานปรับอัตราค่าบริการหากเห็นว่าไม่เหมาะสม เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจ สังคม การลงทุนหรือเทคโนโลยี โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอนุมัติตามความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ” การที่ กกพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องละเลยที่จะปรับปรุงอัตราค่าผ่านท่อส่งผลให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระราคาขายปลีกก๊าซที่สูงเกินควร

๓. กำหนดราคาเนื้อก๊าซที่จำหน่ายให้กับผู้ซื้อทุกรายเป็นอัตราเดียวกัน  ในปัจจุบันมีการเลือกปฎิบัติในการกำหนดราคาเนื้อก๊าซ  โดยมีการจำหน่ายก๊าซจากอ่าวไทยให้แก่โรงแยกก๊าซของ ปตท. ในอัตรา ๒๒๐ บาท/ล้านบีที่ยู ในขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และ ผู้บริโภคต้องซื้อก๊าซจากพม่าในราคา ๒๗๔ บาท/ล้านบีทียู ซึ่งสูงกว่าราคาเนื้อก๊าซจากอ่าวไทยประมาณร้อยละ ๒๕  ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเป็นสมบัติของประชาชนไทยทุกคน  จึงไม่ควรที่จะให้อภิสิทธิ์แก่กลุ่มธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง  หากมีการนำราคาเนื้อก๊าซจากทั้งสองแห่งมาเฉลี่ย  ราคาจำหน่ายปลีกของก๊าซที่ผู้บริโภคต้องแบกรับจะลดลง

วันที่     ๒๐     มิถุนายน ๒๕๕๖

 

 

สำเนาเรียน
นายกรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

 

 

พิมพ์ อีเมล