ร้องบอร์ด สปสช. ขอให้ยุติการพิจารณาเรื่องการร่วมจ่ายของผู้ป่วย

17 พ.ค. 56 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยื่นจดหมายถึงประธานบอร์ด สปสช. ขอให้ยุติการพิจารณาเรื่องการร่วมจ่ายของผู้ป่วย (Co-pay)เพราะ จะเป็นการผลักภาระให้ผู้ป่วย ถูกเลือกปฏิบัติ เพิ่มความเหลื่อมล้ำ ซึ่งขัดกับเจตนารมย์ของกฎหมาย และขัดกับนโยบายของรัฐในการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม

 

 

ข้อความในจดหมายระบุว่า ขอให้ยุติการพิจารณาเรื่อง “แนวทางการรับภาระค่าใช้จ่ายร่วมกันระหว่างรัฐกับผู้ป่วย”

 

เรียน   ประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์

 

ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะมีการประชุมในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖ นี้ โดยมีการสอดแทรกวาระเร่งด่วนเรื่อง “แนวทางการรับภาระค่าใช้จ่ายร่วมกันระหว่างรัฐกับผู้ป่วย” นั้น

 

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของเครือข่ายประชาชนที่ร่วมผลักดันร่วมติดตาม และร่วมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้มีระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในระบบบริการสุขภาพ มีความเห็นว่า การร่วมจ่ายค่าบริการ (Copayment) เป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน ผู้บริโภค ส่งผลกระทบต่อการเลือกปฏิบัติ หลายมาตรฐาน ความเหลื่อมล้ำและระบบบริการสุขภาพโดยรวม

 

จากการศึกษาของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) และสำนักงานวิจัยเพื่อหลักประกันสุขภาพไทย(สวปก.) ยืนยันชัดเจนว่า ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่มีการใช้บริการเกินจำเป็นในระบบสุขภาพ แต่การศึกษายืนยันว่าระบบสวัสดิการข้าราชการ มีการให้บริการและจ่ายยาเกินความจำเป็นเนื่องจากระบบการจ่ายแบบไม่อั้นของกรมบัญชีกลาง(fee for service)  เพราะระบบหลักประกันสุขภาพและประกันสังคม ถูกควบคุมโดยผู้ให้บริการ เนื่องจากมีระบบการจ่ายเงินปลายปิด ในลักษณะเหมาจ่ายรายหัว ทำให้รพ.ต้องควบคุมค่าใช้จ่ายผ่านทุกมาตรการเช่น จ่ายยาแต่ละครั้งจำนวนน้อย ผลักภาระให้คนไข้ต้องมารพ.รับยาบ่อยขึ้น ควบคุมการจ่ายยาเท่าที่จำเป็นเพราะค่ายาเป็นต้นทุนของรพ.

 

จากการศึกษาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จำนวน ๕๘๙ ราย พบว่า เสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ย ๓๕๕ บาทต่อครั้งในการไปพบแพทย์ และจำนวน ๗๒๔ บาทหากต้องนอนโรงพยาบาล ขณะที่รายได้เฉลี่ยของผู้ป่วยกลุ่มนี้เพียง ๒๑๐ บาทต่อวัน ดังนั้นการไปใช้บริการต่อครั้งพบว่า ผู้ป่วยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเข้ารับบริการมากเกินกว่า จะมาโรงพยาบาลเมื่อไม่ป่วยจริงๆ หรือมาใช้บริการเพราะต้องการพบเพื่อน หรือแม้แต่การศึกษารูปแบบการเพิ่มงบประมาณของหลายหน่วยงาน ไม่สนับสนุนให้นำระบบการร่วมจ่าย ณ จุดบริการมาใช้ เพราะจะทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ หลายมาตรฐานในการให้บริการ หรือต้องมีการสร้างระบบเพื่อวัดความยากจนกัน หรือหากพิจารณาข้อเสนอของภาคประชาชนให้มีการจัดเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดิน สินค้าฟุ่มเฟือย เป็นต้นเพื่อเพิ่มรายได้

 

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ พร้อมด้วย คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข (ดังรายนามแนบท้าย) จึงขอเรียกร้องให้ท่าน ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการ ดังนี้

๑.     ยุติการนำเรื่อง “แนวทางการรับภาระค่าใช้จ่ายร่วมกันระหว่างรัฐกับผู้ป่วย” ออกจากวาระการประชุมในวันนี้

๒.     ระงับการพิจารณาเรื่องนี้ออกไปก่อน จนกว่าจะมีการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน และรับฟังความคิดเห็นในวงกว้าง ตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ในมาตรา ๑๘

๓.     รับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๑

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

 

ขอแสดงความนับถือ

 

(นางสาวกชนุช แสงแถลง)

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

 

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

นายนิมิตร์ เทียนอุดม                   นพ.วิชัย โชควิวัฒน

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม               นายชูศักดิ์ จันทยานนท์

นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง

คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข 

นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล

นางยุพดี ศิริสินสุข

นายจอน อึ๊งภากรณ์

นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ

นายสุมิตรชัย หัตถสาร

พิมพ์ อีเมล