ผู้บริโภคเรียกร้องรัฐออก พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ หลังดองไม่ยอมนัดประชุมกรรมาธิการ

ผู้บริโภคสุดทน หลังประธานกรรมาธิการร่วม ยื้อ ไม่ยอมนัดประชุมกรรมาธิการเพื่อพิจารณารายงานการประชุมเพื่อส่งร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณา พร้อมเตรียมร้องกรรมาธิการกิจการสภาให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ รวมทั้งเรียกร้อง รัฐบาลเร่งออก พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ ให้ทันในสมัยการประชุมรัฐสภานี้

 

 

ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์-เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2556  รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์  กล่าวว่า ในการประชุมสมัชชาวิชาการคุ้มครองผู้บริโภคครั้งที่ 3 ได้มีการนำเสนอผลงานวิชาการในการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย แลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการปัญหาสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย และพัฒนานโยบายสาธารณะด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ระหว่างวันที่ 13-15 มีนาคม และมีมติให้เสนอข้อเรียกร้องไปยังรัฐสภาและรัฐบาล ให้เร่งดำเนินการ 4 เรื่องคือ 1)รัฐสภาและรัฐบาล เร่งดำเนินการออกพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้ทันสมัยประชุมรัฐสภานี้ 2)คณะรัฐมนตรี สนับสนุนนโยบายสาธารณะที่พัฒนาจากสมัชชาวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ 3 ใน 5 ประเด็น คือ อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และบริการสุขภาพ, บริการสาธารณะ, การเงิน/ธนาคาร, สินค้าและบริการทั่วไป และสื่อสารและโทรคมนาคม 3) คณะรัฐมนตรีเร่งกำหนดนโยบายในการคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยในประชาคมอาเซียน ภายใต้หลักการ“เมื่อประเทศหนึ่ง ห้ามใช้สินค้าใด ต้องห้ามใช้ในทุกประเทศ” (One Ban, All Ban Policy) และ 4)คณะรัฐมนตรีและรัฐสภา พิจารณาเนื้อหาข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี อย่างรอบคอบบนฐานวิชาการ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคและนโยบายสาธารณะของประเทศ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 190

นายไพโรจน์  พลเพชร  คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า  กรรมาธิการร่วมต้องรีบนัดประชุม  เพราะกรรมาธิการร่วมพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีภายใน 1 ปี กฎหมายฉบับนี้อยู่ในกระบวนการรัฐสภานานมากกว่า 4 ปีแล้ว และที่สส.บางท่านกังวลว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ถึงแม้จะมีกฎหมายแล้ว เพราะสส.ไม่ได้มีหน้าที่ในการพิจารณาว่า กฎหมายฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

รศ.ดร.จิราพร  ลิ้มปานานนท์  ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  กล่าวว่า ในการประชุมสมัชชาวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งนี้ ยังได้ ได้มีการจัดประกวดผลงานสปอตโฆษณา มาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ชิงเงินรางวัลกว่า 100,000 บาท ซึ่งมีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดทั้งหมด 84 ผลงาน โดยคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ผลงานเรื่อง “อย่าให้การถูกเอาเปรียบเป็นเรื่องเคยชิน จากทีม BU ไฝดำ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชนะเลิศการประกวด ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ผลงานเรื่อง Guinness Van จากทีม SWEET KID ได้รับเงินรางวัล30,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ผลงานเรื่อง หยุดเอาเปรียบฉัน จากทีมลูกหมาสามตัว ประชาชนทั่วไป ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท และรางวัลป๊อบปูล่าโหวตได้แก่ผลงานเรื่องการคิดอยู่ในใจไม่มีผู้ประกอบการรายใดได้ยิน จากทีม BU ไฝดำ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท

นาย ธานัส  เกศวพิทักษ์  รองประธานศาลฎีกา  กล่าวว่า  อยากให้ประชาชนทุกคนช่วยกันผลักดันกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้ บริโภค  เพื่อหยุดยั้งการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการและนายทุนทันที “ ตัวอย่างบัตรเติมเงินที่ถูกตัดวัน คนจนส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้โทรศัพท์มือถือระบบเติมเงินทั้งนั้น    ไม่รู้เอาสมองส่วนไหนคิด ทำไมจึงมีข้อกำหนดเช่นนี้    อีกธุรกิจนี้เอาเปรียบประชาชนคือธุรกิจธนาคาร  ที่เก็บค่าธรรมเนียมอย่างเอารัดเอาเปรียบ  แต่เมื่อไม่มีองค์การอิสระฯ  จึงมีแต่ภาคประชาชนที่ผลักดันการแก้ไขเป็นเรื่อง ๆ ไป  ทั้งที่น่าจะทำให้มีการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอย่างจริงจัง “  ทั้งนี้รองประธานศาลฎีกายังระบุว่า  มีกฎหมายการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ที่จะสร้างการตรวจสอบผู้ประกอบการต่างๆ  ก็ถูกขัดขวางเช่นเดียวกับ พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ นี้

 

 

มติสมัชชาวิชาการคุ้มครองผู้บริโภคครั้งที่ ๓

ข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

เราเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจากภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคราชการ จำนวน ๔๐๐ คน ได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ ๓ ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ วันที่ ๑๓-๑๕ มีนาคม ๒๕๕๖ เพื่อร่วมกันพัฒนานโยบายสาธารณะด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ใน ๕ ด้าน ดังนี้

  1. 1 ด้านอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และด้านบริการสุขภาพ 

1.1       แก้กฎหมาย/ประกาศให้อาหารทุกชนิดต้องมีฉลากที่ต้องเป็นภาษาไทย ระบุวันผลิต และวันหมดอายุที่ชัดเจน มองเห็นได้ง่าย และให้มีการแสดงแหล่งที่มาของอาหารด้วย

1.2       แก้กฎหมายให้มีบทลงโทษผู้ประกอบการที่จำหน่ายอาหารหมดอายุทุกประเภทหรืออาหารเสื่อมคุณภาพ

1.3       ปรับปรุงรูปแบบการแสดงฉลากโภชนาการที่เด็กและผู้บริโภคทั่วไป เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยส่งเสริมและบังคับใช้มาตรการฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง (Traffic Light Labeling) บนซองขนมเด็ก และเครื่องดื่มทุกประเภท

1.4       ให้มีการแสดงฉลาก GMOs ในอาหารสดและอาหารแปรรูปทุกประเภท ที่มีส่วนผสมมาจากอาหารที่ใช้เทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรม

1.5       ให้มีการแสดงชนิดของภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม วิธีการใช้ และข้อควรระวังบนฉลาก

1.6       กำหนดท่าทีการเจรจาการค้าอย่างชัดเจนว่าให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่เกินไปกว่าความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้าขององค์การการค้าโลก กฎหมายไทย หรือความตกลงใด ๆ ที่ไทยเป็นภาคีอยู่ เพื่อไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเข้าถึงยา

1.7       ในระหว่างการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ต้องเปิดเผยเนื้อหาและจัดให้มีกลไกการรับฟังความคิดเห็นของเนื้อหาจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาสังคมและนักวิชาการ

1.8       บังคับให้สถานพยาบาลและร้านขายยาแสดงชื่อสามัญทางยาเป็นภาษาไทยบนฉลากยาที่มอบให้กับผู้รับบริการ

1.9       ดำเนินการตามกฎหมายให้ผู้บริโภคต้องได้รับการส่งมอบยาจากผู้ประกอบวิชาชีพ

1.10   สร้างพลังอำนาจผู้บริโภคโดยการปรับเปลี่ยนค่านิยมทัศนคติและพฤติกรรมของผู้บริโภคสร้างจิตสำนึกให้ผู้บริโภครู้จักปกป้องและรักษาสิทธิของตนเองเพื่อให้ผู้บริโภครู้เท่าทันสื่อช่วยเฝ้าระวังปัญหาและจัดการปัญหาโฆษณาในระดับพื้นที่

1.11   พัฒนากลไกการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ของหน่วยงานที่รับผิดชอบร่วมกัน เพื่อเอื้อต่อการเข้าถึงโดยสะดวกของผู้บริโภค และสามารถจัดการปัญหาข้อร้องเรียนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

1.12   เพิ่มความร่วมมือในการดำเนินการระหว่างหน่วยงาน เพื่อเร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างจริงจังและเคร่งครัดในสื่อโฆษณายาและอาหาร รวมทั้งผลิตภัณฑ์สุขภาพ

1.13   ส่งเสริมให้มีกลไกการเฝ้าระวังการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพจากการโฆษณาที่ผิดกฎหมายโดยเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคและภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นภูมิต้านทานให้ภาคประชาชนร่วมตรวจตรา

1.14   เร่งรัดการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางสื่อต่างๆ ที่ได้มีการระดมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

1.15   เพิ่มบทลงโทษความผิดจากการโฆษณาให้หนักขึ้น และให้มีการแสดงข้อความแก้ไขโฆษณาที่ผิดกฎหมายเผยแพร่แก่สาธารณะ

1.16   ให้มีบทลงโทษเจ้าของสื่อหรือเจ้าของสถานี โดยต้องรับผิดชอบในความผิดทุกกรณีของการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย

1.17   ให้กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ชุดสิทธิประโยชน์ของบัตรประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ จะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกับคนไทย ต้องครอบคลุมบริการที่จำเป็นทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ด้านการดูแลรักษา โดยเฉพาะเอชไอวี/เอดส์ ไต มะเร็ง โดยให้มีการทบทวนค่าบัตรประกันสุขภาพที่เหมาะสม และให้ครอบคลุมถึงผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นด้วย

1.18   ให้กระทรวงสาธารณสุขเปิดขายบัตรประกันสุขภาพให้กับคนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพใด ๆ

1.19   ให้ทบทวนการบริหารจัดการกองทุนประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้มีความเป็นธรรมกับแรงงานข้ามชาติและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการกองทุน โดยให้มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

1.20   ให้มีการทบทวนการจัดเก็บเงินสมทบเข้าประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติ ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยไม่เป็นภาระกับแรงงานข้ามชาติในส่วนที่แรงงานไม่ได้รับประโยชน์ หรือไม่มีโอกาสที่จะได้รับสิทธิประโยชน์นั้นๆ เช่น ประกันชราภาพ

1.21   ให้มีกองทุนสุขภาพแรงงานข้ามชาติ โดยนายจ้างร่วมจ่ายด้วย เพื่อนำมาใช้ดูแลรักษาพยาบาลแรงงานข้ามชาติ

  1. 2 ด้านบริการสาธารณะในประเด็นพลังงาน 

2.1       ผู้ใดก็ตามที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดได้ให้สามารถ (Feed In) กระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งได้ก่อนและไม่จำกัดจำนวน (ต้องรับซื้อก่อนเป็นอันดับแรก โดยไม่จำกัดจำนวน)

2.2       สัญญารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนต้องเป็นสัญญาระยะยาวประมาณ ๒๐-๒๕ ปี

2.3       หากมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ

2.4       รัฐต้องส่งเสริมให้ชุมชนสามารถสร้างพลังงานและจัดการตนเองได้ (โดยอยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) )

2.5       การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ต้องซื้อจากชุมชนก่อนบริษัทเสมอ

2.6       รัฐควรชะลอการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ จำนวน 5,400 เมกะวัตต์ ในกลางปีนี้ออกไปเสียก่อน เพราะยังไม่มีความจำเป็นตามที่มีการกล่าวอ้าง

2.7       ให้รัฐสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยให้มีการออกกฎหมายเพื่อให้พลังงานหมุนเวียนก่อนเชื้อเพลิงประเภทอื่น

  1. 3 ด้านการเงิน/ธนาคาร 

3.1       การกำกับวิธีการขายบริการทางการเงิน

3.1.1         ให้ ธปท. ควบคุมรูปแบบการโฆษณาและเอกสารขายสินเชื่อส่วนบุคคลทุกรูปแบบ ให้มีลักษณะขั้นต่ำดังต่อไปนี้

  • เปิดเผยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี รวมค่าธรรมเนียมทั้งหมด (Effective APR) เพื่อความสะดวกของผู้บริโภคในการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์
  • ไม่เน้นเนื้อหาการลด-แลก-แจก-แถม มากกว่าเงื่อนไขหลักของผลิตภัณฑ์ โดยอาจใช้หลักเกณฑ์คล้ายกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีผลบังคับใช้ 26 ตุลาคม 2555 ซึ่งกำหนดให้โฆษณาขายหน่วยลงทุนที่จัดรายการของสมนาคุณจะต้องให้ข้อมูลสำคัญของกองทุนรวมอย่างชัดเจน และไม่ให้ข้อมูลของสมนาคุณใหญ่เกินไปหรือบดบังข้อมูลของกองทุน หากไม่ปฏิบัติตามต้องหยุดโฆษณาหรือแก้ไข

3.1.2         ให้ ธปท. กำหนดระยะเวลา7วัน เป็นระยะเวลาที่ผู้บริโภคมีสิทธิเปลี่ยนใจ ยกเลิกสินเชื่อหลังจากวันที่สินเชื่อส่วนบุคคลได้รับการอนุมัติ (rescission periodหรือ cooling-off period) โดยไม่มีบทลงโทษหรือค่าปรับใดๆ และให้สถาบันการเงินต้องส่งคืนค่าธรรมเนียมทั้งหมดภายในเวลา 20 วัน หลังจากที่ผู้บริโภคแจ้งยกเลิก

3.2       การกำกับดูแลการกำหนดอัตราดอกเบี้ย

3.2.1         ให้ ธปท. อธิบายที่มาที่ไปของการเรียกเก็บอัตราอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของบัตรเครดิตที่ร้อยละ 20  และการกู้ยืมเงินแบบสินเชื่อส่วนบุคคลที่ร้อยละ 28 ว่ามีหลักเกณฑ์ในการกำหนดอย่างไร

3.2.2         ให้ ธปท. ออกหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าธรรมเนียมในการตามหนี้ที่สมเหตุสมผล เช่น ธนาคารพาณิชย์จะต้องยื่นหลักฐานค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงหนี้ที่เป็นจริงให้ ธปท. มิใช่ให้ ธนาคารพาณิชย์กำหนดค่าธรรมเนียมได้ตามอำเภอใจ

3.2.3         ให้ ธปท. กำหนดบทลงโทษกรณีของการฝ่าฝืนประกาศ ธปท. ในกรณีที่(1) ไม่มีการให้ตารางการจ่ายเงินต้นกับดอกเบี้ยตามงวดจ่าย และ (2) มีการเก็บค่าธรรมเนียมในการกู้เงิน หรือ ในการติดตามหนี้ ฯลฯ ที่ส่งผลให้อัตราดอเบี้ยที่ผู้กู้จ่ายจริงเกินเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศเพื่อที่จะให้ประกาศฯ มีผลบังคับทางปฏิบัติ

3.2.4         ให้นำธุรกิจเช่าซื้อเข้ามาอยู่ภายใต้กรอบการกำกับดูแลของ ธปท. โดยใช้อำนาจตาม ปว. 58 หรือ พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 โดยการออก พรฎ. ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบของ กระทรวงการคลัง และ ครม.เพื่อที่จะมีการกำหนดมาตรฐานในการคำนวณอัตราค่าดอกเบี้ยที่ต้องมีการหักเงินต้นเช่นในกรณีของเงินกู้ และ ในการคืนเงินก่อนกำหนด เป็นต้น

3.3       เร่งรัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการติดตามทวงหนี้ที่เป็นธรรม

3.4       ให้มีกฏระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทยคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

  1. 4 ด้านการจัดการสินค้าอันตรายและสินค้าไม่ปลอดภัย 

4.1       ให้ใช้นโยบาย “One Ban, All Ban” ในกลุ่มอาเซียน กล่าวคือ เมื่อในประชาคมอาเซียนแม้เพียงหนึ่งประเทศห้ามผลิตภัณฑ์ใดที่เป็นสินค้าอันตราย ก็ให้รัฐบาลไทยออกกฎหมาย กฎ หรือ คำสั่ง เพื่อห้ามนำเข้า ห้ามผลิต ห้ามจำหน่าย และห้ามส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าว หรือ หากประเทศอื่นทั้งในและนอกอาเซี่ยนหลายประเทศกำหนดผลิตภัณฑ์ใดเป็นสินค้าอันตรายประเทศไทยก็ควรพิจารณาดำเนินการเพื่อห้ามด้วยเช่นกัน

4.2       กรณีสินค้าที่มีกฎหมายห้ามจำหน่าย: ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบ ยึด และจับกุม ดำเนินคดีสินค้าที่เป็นอันตรายและผิดกฎหมายอย่างจริงจัง และไม่ให้มีจำหน่ายในท้องตลาด เช่น สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีคำสั่งห้ามแล้ว (โมโนโครโตฟอส คลอร์เดน เอ็นโดซัลแฟน และพาราไธออน เมททิล ฯลฯ) หรือ ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ หมากฝรั่งไฟช๊อต และลวดดัดฟันแฟชั่น

4.3       กรณีสินค้าที่ยังไม่มีคำสั่งจากหน่วยงานของรัฐ แต่มีข้อมูลวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศสนับสนุนให้เห็นถึงความไม่ปลอดภัยที่ชัดเจนแล้ว และมีข้อเสนอจากภาคส่วนต่าง ๆ ให้ดำเนินการ เช่น แร่ใยหินกลุ่มไครโซไทล์ สารบิสฟินอล เอ (บีพีเอ) (Bisphenol-A: BPA) และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

4.3.1         แร่ใยหินกลุ่มไครโซไทล์ แอสเบสทอสที่ยังไม่มีคำสั่ง ทั้งที่หลายหน่วยงานเรียกร้องให้ยกเลิกการนำเข้า การผลิต การจำหน่ายสินค้า และมีมติ ครม.ให้เร่งดำเนินการในการยกเลิก: ขอเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลให้มีคำสั่งในการยกเลิกทันที และให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายกำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เพื่อมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง

4.3.2         สารบิสฟีนอล เอ หรือ บีพีเอ (Bisphenol-A หรือ BPA) ในภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์ที่มี บีพีเอ

  • ในภาชนะบรรจุอาหารสำหรับเลี้ยงทารก รวมทั้งผลิตภัณฑ์สำหรับทารก  ซึ่งสารชนิดนี้สามารถแพร่กระจายออกจากเนื้อพลาสติกมาปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายของทารก: ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกประกาศ คำสั่ง ห้ามใช้สารบีพีเอในภาชนะบรรจุอาหารสำหรับเลี้ยงทารก ซึ่งประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้ทำการณรงค์ยกเลิกไปแล้ว เช่น ประเทศสิงคโปร์  มาเลเซีย เป็นต้น
  • ผลิตภัณฑ์ที่มี บีพีเอ ในภาชนะทั่วๆไป เช่น เครื่องกระป๋อง  ขวดน้ำดื่ม  กล่องพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร ฯลฯ: ควรดำเนินการ เช่นเดียวกับ ผลิตภัณฑ์สำหรับทารกที่มี บีพีเอ  ในกรณีที่ยังไม่มีการยกเลิกการใช้ ต้องกำหนดให้มีฉลากที่ชัดเจน เพื่อผู้บริโภคได้รับทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้นมี บีพีเอ เป็นส่วนประกอบ รวมทั้งให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ออกมาตรฐานบังคับสำหรับผลิตภัณฑ์ภาชนะบรรจุอาหารทุกชนิด

4.4                 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช: ให้ประกาศห้ามใช้ ห้ามจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ชนิด คาร์โบฟูราน เมทโทมิล อีพีเอ็น และไดโครโตฟอส โดยให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายกำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เพื่อมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง  และ เรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยกเลิกการใช้และไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียน คาร์โบฟูราน เมทโทมิล อีพีเอ็น และไดโครโตฟอส

4.5       กลุ่มสินค้าที่มีข้อมูลคาดว่าจะเป็นอันตราย เช่น ภาชนะบรรจุอาหารชนิดโฟม ของเล่นเด็ก หรืออุปกรณ์ที่ใช้สำหรับทารกและเด็กที่เป็นอันตราย เช่น หัวนมยาง หรือ ของเล่นชนิดบีบหรือกัดสำหรับเด็ก ฯลฯ นั้น ให้มีการศึกษาวิจัยเพื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจน และนำไปสู่การพิจารณาเพื่อออกกฎ มาตรการ หรือคำสั่ง ให้มีการยกเลิกต่อไป หรือ จัดหาวัสดุทดแทนที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

  1. 5 ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม 

5.1       ข้อเสนอต่อหน่วยงานของรัฐ

5.1.1         ให้ กสทช.ส่งเสริมการมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

5.1.2         ให้ กสทช. ทบทวนบทบาทหน้าที่ให้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะอย่างแท้จริง

5.1.3         ให้ กสทช.ปฏิบัติตามแผนแม่บท กฎ ระเบียบ และมีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม เช่น ค่าบริการไม่เกิน ๙๙ สตางค์ การตั้งเสาส่ง บัตรเติมเงินไม่หมดอายุ ฯลฯ

5.1.4         ให้ กสทช. ส่งเสริมความเข้มแข็งของผู้บริโภค และสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของ กสทช.

5.1.5         แก้กฎหมายเพิ่มสัดส่วนของประชาชนในคณะกรรมการ กสทช.ให้มากขึ้น

5.1.6         ให้ กสทช. ประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนทราบถึงกรณี “ซิมดับ” อย่างรวดเร็วทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจเลือกใช้บริการ และจัดให้สามารถย้ายค่ายได้โดยสะดวก โดยไม่ให้มีการขยายสัมปทาน

5.1.7         ให้ กสทช.ทบทวนการแจกคูปองกล่องทีวีดิจิตอลให้ทั่วถึงประชาชนให้มากขึ้น

5.1.8         ให้กสทช. กำหนดให้ช่องทีวีสาธารณะ และชุมชน ต้องไม่มีโฆษณา

5.1.9         ให้กำกับดูแลเนื้อหาที่มีความรุนแรง โป๊ อนาจาร ตามกรอบจริยธรรมอย่างเคร่งครัด

5.2       ข้อเสนอต่อเครือข่ายผู้บริโภค

5.2.1         ผู้บริโภคต้องติดตามและเฝ้าระวังการทำงานของ กสทช.

5.2.2         ถอดถอน กสทช.

5.2.3         ผลักดัน ม.61

5.2.4         สร้างและพัฒนาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค

 

ประกาศเจตนารมณ์ของสมัชชาวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ ๓
วันคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคสากล (
Consumer Justice Now)
ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๖

 

เราเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจากภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคราชการ จำนวน ๔๐๐ คน ได้ร่วมกันประชุมสมัชชาวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ ๓ ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ วันที่ ๑๓-๑๕ มีนาคม ๒๕๕๖ เพื่อนำเสนอผลงานวิชาการในการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย แลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการปัญหาสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย และพัฒนานโยบายสาธารณะด้านการคุ้มครองผู้บริโภค 

เราขอเรียกร้องต่อรัฐสภาและรัฐบาล ให้เร่งดำเนินการ ดังนี้ 

๑.      รัฐสภาและรัฐบาล เร่งดำเนินการออกพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้ทันสมัยประชุมรัฐสภานี้

๒.     คณะรัฐมนตรี สนับสนุนนโยบายสาธารณะที่พัฒนาจากสมัชชาวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ ๓ ใน ๕ ประเด็น คือ๑) อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และบริการสุขภาพ ๒) บริการสาธารณะ ๓)การเงิน/ธนาคาร ๔)สินค้าและบริการทั่วไป และ ๕)สื่อสารและโทรคมนาคม

๓.     คณะรัฐมนตรีเร่งกำหนดนโยบายในการคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยในประชาคมอาเซียน ภายใต้หลักการ “เมื่อประเทศหนึ่ง ห้ามใช้สินค้าใด ต้องห้ามใช้ในทุกประเทศ” (One Ban, All Ban Policy)

๔.     คณะรัฐมนตรีและรัฐสภา พิจารณาเนื้อหาข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี อย่างรอบคอบบนฐานวิชาการ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคและนโยบายสาธารณะของประเทศ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๐

เราขอประกาศว่า เราจะร่วมกัน

๑.      ขับเคลื่อนให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และให้ข้อเสนอนโยบายสาธารณะ ๕ ประเด็นสำคัญ นำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคอย่างเร่งด่วน

๒.     ติดตามและเฝ้าระวังความปลอดภัยจากการบริโภคสินค้าและการรับบริการ ตลอดจนคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภค

๓.     สร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภคซึ่งรวมบุคคลทุกเพศทุกวัยและเครือข่ายผู้บริโภค ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภค

๔.     ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคในประชาคมอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งผู้บริโภคและขบวนการคุ้มครองผู้บริโภคในภูมิภาคนี้

๕.      ตรวจสอบระบบธรรมาภิบาลของหน่วยงานรัฐในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค

 

 

ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๖

พิมพ์ อีเมล