กลุ่มทรู ถูกแจ๊กพอต'จอดำ&สัญญา3จี'

ถึงตอนนี้ต้องบอกว่า บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถูกมรสุมถาโถมอย่างต่อเนื่อง ไหนจะบริษัทในเครือถูกข้อพิพาทกรณีปัญหาการถ่ายทอดสดฟุตบอลแห่งชาติยุโรป หรือ บอลยูโร 2012 ที่มีปัญหาไม่สามารถแพร่ภาพผ่านช่องทางเคเบิลของทรูวิชั่นส์ ได้ จนกระทั่งช่องเคเบิลกลายเป็น "จอดำ" ตั้งแต่เริ่มการแข่งขันเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

พิษ"จอดำ"
มิหนำซ้ำยังมีการร้องเรียนผ่านองค์กรกลางต่างๆ รวมทั้ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งที่ประชุมมีมติออกมาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมาให้ปรับ ทูรวิชั่นส์  สูงสุด 2 หมื่นบาทต่อวัน

เรื่อง "จอดำ" แม้จะยุติไปแล้วไม่สามารถแพร่ภาพส่งสัญญาณออกอากาศให้กับสมาชิกเคเบิลของ ทรูวิชั่นส์  พร้อมกับขออภัยและขอบคุณลูกค้า และมอบสิทธิพิเศษเพิ่มเติม โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ในระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน  - 10 กรกฎาคม 2555 

สิทธิพิเศษดังกล่าว คือ สมาชิกแพลทินัมแพ็กเกจ จะได้รับชมช่องรายการในอลาคาร์ตแพ็กเกจ รวม 9 ช่อง ได้แก่ ช่อง HBO Signature (ทรูวิชั่นส์ช่อง 155), HBO Family (ทรูวิชั่นส์ช่อง 156),HBO Hits (ทรูวิชั่นส์ช่อง 157), Discovery Science (ทรูวิชั่นส์ช่อง 151), TLC(ทรูวิชั่นส์ช่อง 153), Discovery Turbo (ทรูวิชั่นส์ช่อง 152), Discovery Home&Health (ทรูวิชั่นส์ช่อง 154), Disney Chanel (ทรูวิชั่นส์ช่อง 35),  และ Disney Junior (ทรูวิชั่นส์ช่อง 34)

ส่วนสมาชิกโกลด์แพ็กเกจ ได้รับชมช่องรายการในแพลทินัมแพ็กเกจ และสมาชิกในแพ็กเกจอื่นๆ ได้รับชมช่องกีฬา ทรู สปอร์ต 1, 2, 3, 4, 5 และ 6
เรื่อง "จอดำ" จึงยังคาใจกับบรรดาสาวกเคเบิลทรูวิชั่นส์ !!!!

alt กทค.สั่ง แคท  แก้สัญญา 3 จี
เรื่อง"จอดำ"ยังไม่ผ่านพ้นเดือนมิถุนายน ปรากฏว่า  กลุ่มทรู ก็ได้รับมติจากคำสั่งที่ประชุมบอร์ด กทค. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมาที่มี พ.อ. ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน  กสทช. ในฐานะประธาน กทค. เป็นประธาน ได้มีคำสั่งทางปกครองให้ แคท (บริษัท กสทโทรคมนาคม จำกัด (มหาชน))  กลับไปแก้สัญญาที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่ บนคลื่นความถี่ 800 เมกะเฮิรตซ์ ให้สอดคล้องกับมาตรา 46 ตาม พ.ร.บ.กสทช.(กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ)

ยืนคำสั่งมติ 6 ข้อ
มติของ กทค. ข้อแรกนั้นได้กำหนดไว้ว่า ต้องสามารถนำคลื่นความถี่ย่าน 800 เมกะเฮิรตซ์ ไปใช้กับเครื่องและอุปกรณ์ของตนและบริษัทอื่นได้ โดยต้องแก้ไขสัญญาการเช่าเครื่องและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมเพื่อให้บริการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ HSPA ระหว่าง แคท  และ บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด

ข้อที่สอง ควรเร่งดำเนินการให้ แคท สามารถควบคุมและบริหารจัดการคลื่นความถี่ได้อย่างสมบรูณ์ ผ่าน Network operation center ได้ , ข้อที่สาม  ต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลในการใช้งาน Call detail record เพื่อการควบคุมดูแลและบริหารจัดการคลื่นความถี่ได้อย่างสมบูรณ์
ข้อที่สี่ แคท จะต้องให้อำนาจ คณะกรรมการควบคุมการปฏิบัติงาน Operation supervision Committee เพื่อให้แสดงถึงอำนาจในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ของ แคท  ,ข้อที่ห้า แคท  ต้องเป็นผู้ควบคุมและบริหารจัดการคลื่นความถี่ด้วยตนเอง ผ่านกระบวนการสร้างและจัดหาความจุ ของ บริษัท บีเอฟเคทีฯ รวมทุกเรื่อง ทั้งเรื่องแผนบริหารคลื่นความถี่ (Frequency planning) การลงทุนสร้างโครงข่าย (network roll-out) การบริหารโครงข่าย (network operation)
และประเด็นสุดท้าย ต้องเป็นผู้ควบคุมและบริหารจัดการคลื่นความถี่ด้วยตนเอง ในการให้บริการข้ามโครงข่ายภายในประเทศ (Inbound domestic roaming) และการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมกับผู้ประกอบการรายอื่น

อย่างไรก็ตามมติดังกล่าวได้มีคำสั่งให้ แคท  ในฐานะผู้ได้รับสรรคลื่นความถี่ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ม.46 ให้ดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขสัญญาดังกล่าวต่อบอร์ด กทค. ภายใน 30 วัน นับจากที่สำนักงาน กสทช. มีหนังสือ ถึง กสท ซึ่งหาก กสท ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กทค. หรือแก้ไขสัญญาดังกล่าว กทค.มีความจำเป็นที่จะต้องยึดใบอนุญาตการประกอบกิจการ

แคท เตรียมเปิดโต๊ะเจรจา
ขณะที่นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุมบอร์ด กทค. ได้มีมติสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ ของคณะอนุกรรมการการตรวจสอบสัญญา 3 จี ระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กับ กลุ่ม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เรื่องการใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการตามสัญญา ขัดต่อมาตรา 46 พ.ร.บ.องค์กรกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ พ.ร.บ. กสทช. ว่าภายหลังจากนี้ แคท จะเดินหน้าทำตามมติของคณะกรรมการ กทค. ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลและนำเสนอที่ประชุมบอร์ดของ แคท ให้เร็วที่สุดส่วนผลลัพธ์จะออกมาเป็นรูปแบบใดนั้นยังไม่สามารถสรุปผลได้ใน ตอนนี้เนื่องจากต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบอร์ดเสียก่อน

"เราก็ต้องทำตามมติของ กทค.ที่ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างให้ บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด มาบริหารจัดการเหมือนเดิม ส่วนลูกค้า ทรูมูฟ เอช ยืนยันว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ"

ทรู ออกแถลงการณ์
อย่างไรก็ตามภายหลังที่ กทค. มีมติเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555 ที่มีคำสั่งให้ บมจ. กสท โทรคมนาคม หรือ แคท  ดำเนินการแก้ไขข้อสัญญา โครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ระบบ HSPA ระหว่าง บมจ. กสท โทรคมนาคม และกลุ่มทรู เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 นั้น

นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจโมบายล์ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ออกมายืนยันว่า บริษัทยินดีให้ความร่วมมือกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม ในการดำเนินการปรับปรุงรายละเอียดข้อสัญญาให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น และให้สอดคล้องกับมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ตามมติของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม  โดยประเด็นต่างๆ ที่ กทค. มีคำสั่งให้ กสท ดำเนินการแก้ไขนั้น  เป็นข้อปฏิบัติที่บริษัท ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด 

บริษัทจึงมั่นใจว่า  กสท และทรู จะสามารถร่วมมือกันในการดำเนินการดังกล่าวให้เรียบร้อยได้ด้วยดี  และขอยืนยันกับลูกค้าว่า การให้บริการทรูมูฟ เอช 3G+ ยังคงเป็นไปตามปกติ ขอให้ลูกค้ามั่นใจว่าจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

สำหรับสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2553 โดยกลุ่มทรูเข้าไปซื้อกิจการจาก บริษัท ฮัทชิสัน ซีไอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด หรือ ฮัทช์ ซึ่งทำหน้าที่การตลาดและขายให้กับ กสท โดยกลุ่มทรู ใช้บริษัท เรียลมูฟ จำกัด เข้าไปซื้อกิจการใน ฮัทช์ และมอบหมายให้ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด เข้าไปซื้อ บริษัท บีเอฟ เคที (ประเทศไทย) จำกัด ที่ทำหน้าที่บริหารติดตั้งโครงข่าย โดยการซื้อครั้งนั้นใช้เม็ดเงินจำนวนทั้งสิ้น 6.3 พันล้านบาท

กรณีเรื่องสัญญามือถือ 3 จี ทางออกจะเป็นอย่างไรน่าจับตายิ่ง เพราะ แคท เองจะควักเงินในกระเป๋าซื้อคลื่นคืนจำนวน 6.3 พันล้านบาทมาบริหารจัดการเองนั้นทำได้หรือไม่!!!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,752  28-30  มิถุนายน พ.ศ. 2555

พิมพ์ อีเมล