มาวิเคราะห์การแก้ กม.แพ่งและพาณิชย์ฉบับที่ 20

545572

ช่วยกันวิเคราะห์หน่อยว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับที่ 20 ฉบับนี้ จะต้องแกัใหม่ตั้งแต่ยังไม่มีผลบังคับใช้เลยหรือ หรือควรทดลองใช้ไปก่อน ...ตามข้อมูลของคุณสมหมายภาษีรมว คลัง แต่ให้บทเรียนว่าการทำกฎหมายต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย..... หวังว่าคุณสมหมายจะฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายก่อนแก้เช่นกันนะคะ

ขอสรุปสาระสำคัญ พรบ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่20) พ.ศ. 2557 ดังนี้ครับ

       (1)  กฎหมายใหม่นี้จะเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป

       (2)  สัญญาค้ำประกันจะต้องระบุไว้ให้ชัดเจนว่าค้ำประกันหนี้อะไร จำนวนเท่าใด และผู้ค้ำประกันจะรับผิดชอบเฉพาะหนี้ที่ระบุไว้ชัดเจนเท่านั้น หากขาดความชัดเจน ผลจะตกเป็นคุณแก่ผู้ค้ำประกันที่อาจทำให้ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด

       (3)  สัญญาค้ำประกันจะมีข้อตกลงกำหนดให้ผู้ค้ำประกันเป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ชั้นต้น ไม่ได้ หากฝ่าฝืนตกลงกันไป ข้อตกลงในส่วนนั้จะตกเป็นโมฆะ

       (4)  กรอบความรับผิดของผู้ค้ำประกันที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติไว้ (ตาม มาตรา 681 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาตรา 694 มาตรา 698 และ มาตรา 699) เจ้าหนี้กับผู้ค้ำประกันจะทำสัญญากันกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นเพื่อขยายความรับผิดของผู้ค้ำประกันให้แตกต่างไปจากที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ได้ หากฝ่าฝืนทำสัญญาตกลงกันไป ข้อตกลงที่ขยายความรับผิดของผู้ค้ำประกัน นี้ จะตกเป็นโมฆะ

       (5)  ขั้นตอนในการที่เจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ เดิมกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ให้ชัดเจนนัก แต่กฎหมายใหม่ได้เขียนขั้นตอนให้เจ้าหนี้ต้องปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน หากเจ้าหนี้ปฏิบัติผิดขั้นตอน หรือไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน อาจมีผลทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดได้

       (6)  ถ้าเจ้าหนี้ลดหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ชั้นต้นเท่าใด ก็ให้ภาระความรับผิดของผู้ค้ำประกัน ลดลงเท่านั้น ข้อตกลงใดที่จะมีผลเป็นอย่างอื่น ให้ตกเป็นโมฆะ

       (7)  การตกลงกันไว้เป็นการล่วงหน้าว่า หากเจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันให้ความยินยอมในการผ่อนเวลานั้นๆด้วย เช่นนี้ กฎหมายใหม่ให้ถือว่าตกเป็นโมฆะ

       (8)  การจำนองที่จำนองเป็นประกันหนี้ของผู้อื่น (ผู้จำนองกับลูกหนี้เป็นคนละคนกัน) จะมีข้อตกลงกันว่าหากบังคับจำนองแล้วยังเหลือหนี้อยู่เท่าใด ให้ผู้จำนองยังคงรับผิดชำระหนี้ ในส่วนที่ยังคงเหลือด้วย ข้อตกลงเช่นนี้ จะตกเป็นโมฆะตามกฎหมายใหม่

       (9)  กฎหมายเดิมไม่มีบทบัญญัติให้สิทธิแก่ฝ่ายผู้จำนองในการที่จะเป็นฝ่ายเร่งรัดให้มีการบังคับจำนองให้จบๆ ไป แต่กฎหมายใหม่ได้มีบทบัญญัติให้สิทธินี้แก่ผู้จำนอง ซึ่งเจ้าหนี้จะต้องบังคับจำนอง ขายทอดตลาดภายใน1ปี (โดยไม่ต้องฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลเพราะฝ่ายผู้จำนองเป็นฝ่ายเร่งรัดเอง)

 

นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้หารือกับนักกฎหมายเพื่อหาทางการแก้ปัญหาของ พ.ร.บ.แพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยเรื่องการค้ำประกันและจดจำนอง ที่เพราะผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญัติ (สนช.) 3 วาระรวด และจะมีผลบังคับ วันที่ 7 ก.พ. 58 เนื่องจากมีการปกป้องผู้ค้ำประกันเงินกู้มากขึ้น ไม่ให้เจ้าหนี้ไปไล่เบี้ยกับผู้ค้ำประกัน ซึ่งทำให้กระทบต่อการดำเนินของธนาคารพาณิชย์และเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง โดยจะต้องหาทางการแก้ไขเป็นการด่วน ก่อนกฎหมายจะมีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ ยอมรับว่ามีปัญหาที่ตามมา ทั้งธนาคารพาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อให้คนทั่วไปได้ยากขึ้น เพราะต้องตรวจสอบว่าลูกหนี้จะชำระหนี้ได้จริงหรือไม่ เนื่องจากไม่สามารถไปตามทวงหนี้จากผู้ค้ำประกันได้เหมือนที่ผ่านมา หากลูกหนี้ชำระไม่ได้

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาใหญ่กว่านั้น คือ การค้ำประกันปล่อยกู้ไ ม่ได้มีแต่บุคคลเป็นผู้ค้ำประกันเท่านั้น แต่ธนาคารพาณิชย์เอง ก็เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้เหมือนกัน เช่น มีผู้ประกอบการจะลงทุนในโครงการใหญ่ของรัฐ หรือไปรับจ้างเอกชนด้วยกัน ก็ต้องไปขอให้หนังสือค้ำประกันฐานะทางการเงินกับธนาคารพาณิชย์ทั้งนั้น ซึ่งการแก้กฎหมายดังกล่าว มีผลทำให้การค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ไม่มีความหมายไปด้วย เท่ากับแบงก์ไม่มีเครดิต ที่จะค้ำประกันอะไรได้อีกต่อไป ส่วนผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่ต้องใช้หนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน ก็จะมีปัญหาการประมูลงาน

นายสมหมาย กล่าวว่า ปัญหาของการแก้กฎหมายดังกล่าว เพราะไปคิดว่าการค้ำประกันเงินกู้ มีแต่บุคคลเพียงอย่างเดียว ลืมประเด็นว่าการค้ำประกันมีสถาบันการเงิน เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ด้วย ซึ่งจากหารือกับนักกฎหมายชั้นนำเอกชนของไทย ได้รับการยืนยันว่า การแก้กฎหมายครั้งนี้ มีปัญหาทั้งหมดจริง ๆ ซึ่งได้รับคำแนะนำเบื้องต้น ว่าต้องออกฏหมายใหม่ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น ซึ่งกระทรวงการคลังจะเร่งหารือเรื่องนี้กับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ได้ข้อสรุปในไม่ช้านี้

“ผมยังมีเวลาอีก 2 เดือน ที่จะแก้ไขเรื่องนี้ เพราะกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.พ.58 ถือเป็นบทเรียนที่ต้องพิจารณาให้ดี โดยเฉพาะสมาชิก สนช. ที่มาจากด้านการเงินและเศรษฐกิจ จะต้องพิจารณากฎหมายให้ดี ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ โดยปัญหาดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยรู้ แต่เป็นปัญหาใหญ่ หากแก้ไขไม่ทัน จะกระทบรุนแรงกับการเงินการลงทุนของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของไทยมีปัญหาเพิ่มขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจต้องเร่งเรื่องการลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ”

 

ที่มา: ข้อมูลจาก Facebook คุณสารี  อ๋องสมหวัง  วันที่ 24 พฤศจิกายน 2557

พิมพ์ อีเมล