"หมอ-พยาบาล"เครียดถูกรัดคอ พ.ร.บ.รับผิดสินค้าไม่ปลอดภัยเริ่ม 20ก.พ.

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 35675

นพ. เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์การปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรด้านสาธารณสุข ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ฯลฯ มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะตึงเครียดมากขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคใหม่ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว และ พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งกฎหมายเหล่านี้สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์อย่างมาก เพราะครอบคลุมถึงการรักษาพยาบาล ยา และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ไว้ด้วย ซึ่งหากเกิดความผิดพลาดในการรักษา หรือการจ่ายยา ผู้ป่วยสามารถฟ้องร้องเอาผิดแพทย์ หรือเภสัชกรได้ทันที

อนาคต แพทย์จะทำงานยากลำบากมากขึ้น สถานการณ์อาจจะรุนแรงถึงขั้นแพทย์ไม่กล้ารักษาโรค หรือวินิจฉัยโรคให้ผู้ป่วย เพราะกังวลว่าจะถูกคนไข้ฟ้องร้องหรือไม่ หากเกิดการรักษาที่ผิดพลาดทั้งๆ ที่แพทย์ได้ให้การรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพ เช่น ผู้ป่วยเกิดอาการแพ้ยาขึ้นมาแล้วฟ้องเอาผิดจากแพทย์ที่เป็นผู้สั่งยาให้คน ไข้ ซึ่งแพทย์จะไม่มีวันรู้ได้เลยว่าคนไข้จะเกิดอาการแพ้ยาหรือไม่ หากคนไข้ไม่ได้บอกไว้ ประกอบกับยาส่วนใหญ่เป็นยาจากต่างประเทศ ซึ่งมีข้อบ่งชี้ในการรักษาโรคอยู่แล้ว แพทย์ก็มีหน้าที่สั่งจ่ายยาตามข้อบ่งชี้นั้นๆ" นพ.เอื้อชาติกล่าว

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย จะครอบคลุมเฉพาะสินค้าอุปโภค บริโภค อสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์ รวมถึงยา และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ หากผู้บริโภคได้รับผลกระทบทั้งทางร่ายกาย สุขภาพ หรือทรัพย์สินเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย ก็ยื่นฟ้องเจ้าของผลิตภัณฑ์ตาม พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ซึ่งกระบวนการพิสูจน์ถูกผิด เป็นหน้าที่และภาระของเจ้าของผลิตภัณฑ์ ในส่วนของยา และเวชภัณฑ์ที่มีแพทย์ หรือเภสัชกร เป็นผู้สั่งจ่ายให้ผู้ป่วย แพทย์ ไม่ควรวิตกเกินเหตุ เพราะตามกระบวนการรักษา หรือจ่ายยาจะต้องมีการอธิบายถึงประสิทธิภาพของยานั้นๆ รวมถึงผลข้างเคียงจากการใช้ยาด้วย ซึ่งหากแพทย์ ให้การรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพ ก็ไม่มีความผิด แต่หากไม่มีการอธิบายหรือชี้แจงให้ผู้ป่วยเข้าใจ ก็ถือว่าเป็นความผิดของแพทย์ส่วนหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือ ยาลดความอ้วน ยารักษาสิว ที่ปรุงขึ้นเองไม่มีฉลาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับรองความปลอดภัย

ข้อมูลจากมติชนรายวัน  วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พิมพ์