วงประชุมแก้ร่าง กม.บัตรทอง ไม่ถอดมาตราร่วมจ่าย แต่ยันไม่มีจ่ายจุดบริการแน่นอน

600713 news2

กก.ยกร่าง กม.บัตรทอง เผยยังคงมาตราร่วมจ่าย แต่ยันไม่มีร่วมจ่ายจุดบริการแน่นอน เผยเรื่องแยกเงินเดือน ยังให้ สปสช.คำนวณค่าแรงตามเดิม การจัดซื้อยาต้องทำร่วมกันระหว่าง สธ.-สปสช. ต่อรองราคายาทั้ง 3 กองทุนเสนอเป็นนโยบาย รบ. ระบุเพิ่มผู้ให้บริการในบอร์ด สปสช.แค่ 2 คน ปลัด สธ.ไม่ต้องนั่งรองประธานบอร์ด

MGR Online  - วันที่ 13 ก.ค. เวลา 09.30 น. มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เพื่อพิจารณาความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายบัตรทอง ที่รวบรวมจากการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งยังเหลืออีก 2 ประเด็นจากการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา คือ การแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว และการจัดซื้อยาที่ สปสช.ไม่มีอำนาจดำเนินการ โดยทางกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้มาเฝ้ารอผลการประชุมว่า จะออกมาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะ 5 ประเด็นที่ยังเห็นต่าง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการร่วมจ่าย

ต่อมาเวลา 13.00 น. นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการพิจารณาร่างฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมมีการหารืออย่างกว้างขวางและละเอียดรอบคอบ และพิจารณาแล้วเสร็จทุกประเด็น แต่ยังไม่ได้เป็นมติแต่อย่างใด เนื่องจากต้องมีการส่งข้อสรุปจากที่ประชุมทำเป็นหนังสือเวียนรับรองมติจากกรรมการก่อน จากนั้นจึงสรุปและรวบรวมให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในสัปดาห์หน้า ส่วน 5 ประเด็นเห็นต่างของภาคประชาชนนั้น เบื้องต้นที่ประชุมไม่ได้มีการแยกพิจารณา แต่พิจารณาภาพรวมจากทั้ง 14 ประเด็น

นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นเรื่องร่วมจ่ายนั้น ยังคงมาตราเดิม และยืนยันเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องไม่ร่วมจ่าย ณ จุดบริการแน่นอน แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องระยะยาว ยังต้องรอผลการศึกษาจากคณะทำงานที่มี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน ศึกษาเรื่องความยั่งยืนทางการเงินการคลังด้านสุขภาพก่อน ส่วนประเด็นการแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวนั้น วิธีคิดเรื่องเงินในอดีต เม็ดเงินจะไปตามจำนวนประชากร ซึ่งมีทั้งค่าแรงและค่าบริการ แต่โรงพยาบาลสังกัด สธ.ยังไม่สามารถบริหารได้อย่างอิสระ การแยกเงินเดือนจึงเห็นว่า ตัวเลขการคิดคำนวณยังคงเป็นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ตัวเลขบอกมาทาง สธ. เพื่อจะมาบริหารจัดการให้เหมาะสมกับบุคลากร และจะนำมาสู่การกระจายบุคลากรที่เหมาะสมใน รพ.ทุกระดับ

นพ.ณรงศักดิ์ กล่าวว่า การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์นั้น สปสช.สามารถจัดซื้อได้ถูกและช่วยให้คนเข้าถึงยามากขึ้น แต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินท้วงว่า สปสช.ไม่มีอำนาจจัดซื้อยาตามกฎหมาย ก็ต้องทำให้ถูกต้อง โดยการแก้กฎหมายจึงให้ สธ.เข้ามาทำงานร่วมกันกับ สปสช. ไม่ใช่การโยกอำนาจกลับไป สธ.แต่อย่างใด โดยจะเป็นการต่อรองราคายาให้ทั้งสามกองทุนสุขภาพ แต่ในปีงบประมาณ 2560 ยังให้ สปสช.ดำเนินการตามเดิม แต่ปีงบประมาณ 2561 จะเริ่มรูปแบบใหม่ โดยจะเสนอต่อรัฐบาลว่า ควรทำเป็นนโยบายการจัดซื้อยาในทุกกองทุน หากเป็นนโยบายต่อไปการปรับแก้ก็จะเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล และภาคประชาชนก็จะมั่นใจในระบบมากขึ้น ส่วนสัดส่วนบอร์ด สปสช. แบ่งเป็นคณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานการบริการ ให้เพิ่มสัดส่วนผู้ให้บริการ 2 คนอย่างละบอร์ด ส่วนเรื่องปลัด สธ. ให้เป็นรองประธานบอร์ด สปสช.ได้ตัดออกไปแล้ว เพราะปลัด สธ.ก็เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมี

พิมพ์ อีเมล