สบส.ส่งหนังสือเวียนแจ้งบังคับใช้ ‘รพ.’ ใดเก็บเงิน ‘ผู้ป่วยฉุกเฉิน’ มีโทษตามกฎหมายทันที

เขียนโดย ศูนย์ข่าวผู้บริโภค. จำนวนผู้ชม: 2338

590613 fileเมื่อวันที่ 22 มกราคม นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา



เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2559 เป็นต้นมา เจตนารมณ์กฎหมายฉบับนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐาน ความปลอดภัยของระบบบริการสุขภาพครอบคลุมสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายฉบับนี้ นอกจากจะกำหนดให้สถานพยาบาลทุกแห่งต้องแสดงชื่อ รายการผู้ประกอบวิชาชีพ อัตราค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าบริการอื่นแล้ว ยังต้องแสดงค่ายาเวชภัณฑ์ และห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินอัตราที่แสดงและมีการเพิ่มหลักเกณฑ์การดำเนินการของสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉินอีกด้วย โดยสบส. ได้แจ้งเวียนให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ทั่วประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน

ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ยังได้ปรับปรุงเงื่อนไขการอนุญาตการโฆษณาสถานพยาบาลให้รัดกุมขึ้น โดยกำหนดให้การโฆษณาทุกชนิดในเขตกรุงเทพมหานคร จะต้องขออนุญาตจาก สบส. และในส่วนภูมิภาค ให้ขออนุญาตที่ สสจ. และได้เพิ่มโทษการโฆษณาโอ้อวดให้หนักขึ้นจากเดิมซึ่งมีแค่โทษปรับอย่างเดียว แต่กฎหมายฉบับนี้เพิ่มโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาทจนกว่าจะระงับการโฆษณา ในกรณีที่ลักลอบโฆษณา มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทและให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา กรณีโฆษณาที่มีการเผยแพร่ก่อนกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้ดำเนินการขออนุญาตกับ สบส. หรือสสจ.ในพื้นที่ ภายใน 90 วัน หลังจากประกาศที่ออกตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ และเมื่อยื่นขออนุญาตแล้วอนุโลมให้โฆษณาต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งผลการพิจารณา

ทพ.อาคม กล่าวอีกว่า สำหรับบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน ได้เพิ่มโทษหนักขึ้นกว่าเดิม เพื่อป้องปรามการกระทำผิด เช่น การลักลอบเปิดสถานพยาบาลโดยมิได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกจากเดิมไม่เกิน 3 ปี เพิ่มเป็น 5 ปี หรือปรับเพิ่มจากเดิมไม่เกิน 6 หมื่นบาท เป็น 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีการเก็บค่ารักษาพยาบาล ยา และเวชภัณฑ์เกินกว่าที่แสดงไว้ที่ป้าย ก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากเดิมมีโทษปรับอย่างเดียวไม่เกิน 2 หมื่นบาท นอกจากนี้ กฎหมายยังครอบคลุมโทษถึงผู้กระทำความผิดที่เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบการดำเนินงานของนิติบุคคล จนเป็นเหตุให้เกิดการกระทำผิด จะต้องร่วมรับผิดชอบในความผิดนั้นด้วย

 

ข้อมูลจาก นสพ.มติชนออไลน์ วันที่: 22 ม.ค. 60 

พิมพ์