สปส.คืนสิทธิผู้ประกันตนขาดจ่ายสมทบ

สำนักงานประกันสังคมเผยเตรียมเพิ่มสิทธิ ประโยชน์อีกหลายกรณีเพิ่มเงินทดแทนบาดเจ็บจากการทำงานจาก 60% เป็น 70% ของรายได้ คืนสภาพให้ผู้ประกันตนกว่า 6 แสนคนหลังขาดจ่ายเงินสมทบ พร้อมปรับโครงการเป็นองค์กรอิสระ

ที่อาคารรัฐสภา จัดสัมมนา “ชำแหละ 20 ปีประกันสังคม ผู้ประกันตนได้อะไร?” โดยมี นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า จากปีแรกจนถึงปัจจุบันได้มีพัฒนาการคือลดขนาดสถานประกอบการจาก 20 คนมาเหลือ 1 คน ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 9 ล้านคน และมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งได้จ่ายค่าเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นจากวันแรกเกือบ 30 เท่า

ในอนาคตอาจมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายจึงต้องนำ เงินไปลงทุน โดยปี 2546 เริ่มลงทุนในตลาดหุ้นซึ่งครั้งนั้นได้ผลกำไรกว่า 900 ล้าน พอปี 2552 เพิ่มเป็นกว่า 2 หมื่นล้านบาท และในปีนี้หากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่เปลี่ยนแปลงอาจได้กำไรเพิ่มขึ้นเป็น 3 หมื่นล้าน จากเงินลงทุนทั้งสิ้น 7 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกองทุนชราภาพกว่า 5 แสนล้านบาทซึ่งต้องหาดอกผลเตรียมจ่ายบำนาญปี 2557

นายปั้นกล่าวว่า อนาคต สปส.นั้น ระยะยาวต้องมีการปรับปรุงสภาพองค์กรซึ่งเห็นด้วยที่ผู้ใช้แรงงานอยากให้เป็น องค์กรอิสระ แต่ระยะสั้นจะปรับปรุงกองทุนเงินทดแทน ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขอยู่ในสภาผู้แทน โดยเพิ่มเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างที่หยุดพักรักษาตัวภายหลังบาดเจ็บจากการทำ งานจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง และเพิ่มค่าทดแทนทุพพลภาพให้มากกว่า 15 ปี และเพิ่มค่าทดแทนกรณีเสียชีวิตจาก 8 ปีเป็น 12 ปี

ส่วนการคืนสภาพผู้ประกันตนตามมาตร 39 (ประกันตนเองคือต้องจ่ายในส่วนของนายจ้างด้วยหลังจากตกงาน) จากการขาดส่งเงินสมทบ โดยให้ต่ออายุ ดังนั้นเงินบำเหน็จชราภาพที่เคยสะสมเอาไว้ก็สามารถสะสมต่อได้ คาดว่าจะมีคนกลุ่มนี้ราว 6 แสนคน อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ต้องมีการแก้ไขกฎหมายซึ่งขณะนี้ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งเตรียมนำเข้าสภาแล้ว

นายปั้นกล่าวว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายประกันสังคม หากร่างได้เร็วเกี่ยวกับการเปลี่ยนเป็นองค์กรอิสระก็อาจขยับเข้าไปในสภา พร้อมๆ กัน ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่ 7 กรณีนั้น ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเยียวยา แต่ไม่มีเรื่องการป้องกัน ดังนั้นจึงอยากทำในเรื่องของการตรวจสุขภาพให้ผู้ประกันตนด้วย

"อีก 30 ปีข้างหน้า สปส.มีปัญหากรณีจ่ายชราภาพ ซึ่งผู้ประกันตนจ่ายร้อยละ 3 และนายจ้างจ่ายร้อยละ 3 โดยเงินก้อนนี้ไม่ได้เอามาใช้อะไรเลย แต่เวลารับคืนร้อยละ 20 ทำให้ สปส.หัวโต เพราะต้องหาส่วนต่างร้อยละ 14 เปอร์เซ็นต์มาโปะ ทั้งหมดเป็นปัญหาที่ต้องเกิดขึ้นในอนาคต แต่หากไม่พูดในวันนี้ ภาระทั้งหมดจะตกกับผู้ประกันตนที่เป็นลูกหลานของเรา" นายปั้นกล่าว

ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า การดำเนินการและบริหารงานของ สปส.ยังประสบปัญหามากมายและมีการตั้งคำถามจากผู้ประกันตนมาโดยตลอดว่าเงิน จากหยาดเหงื่อที่เสียไปนั้น โดยหวังว่าจะได้รับการดูแลให้ดีที่สุด แต่ปรากฏว่ามาตรฐานทางการแพทย์ยังไม่ดีเท่าที่ควร และเกิดความไม่โปร่งใสในการบริการ แม้แต่คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) ก็ยังเป็นคนหน้าเดิมๆ ล่าสุดยังเตรียมนำเงิน 200 ล้านบาทไปทำหนังสือประวัติบอร์ดอีก ข้อเสนอของ คสรท.ต้องการให้ สปส.เป็นองค์กรอิสระและทำงานแบบโปร่งใสเพื่อสร้างหลักประกันให้กับผู้ประกัน ตนในอนาคต ซึ่งขณะนี้ได้มีการยกร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ จึงต้องการเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมต่างๆ และได้นำร่างฉบับนี้เสนอเข้าสู่สภาผ่านคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร

ด้านนายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิจัย มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่า ประเด็นการบริหารจัดการ ปัญหาความโปร่งใส การถูกแทรกแซงทางการเมือง เกิดขึ้นจากปัญหาโครงสร้างองค์กร ทั้งนี้ประกันสังคมเป็นองค์กรที่บริหารจัดการกองทุน 7 แสนล้านบาท จึงไม่เหมาะที่จะอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงแรงงาน โดยควรเป็นองค์กรอิสระ เพื่อที่จะได้คนที่มีความรู้ สามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระ ปลอดจากการแทรกแซงของนักการเมือง

“เลขาธิการประกันสังคม เป็นข้าราชการคนหนึ่ง จึงเป็นเรื่องยากที่จะวางตัวให้เป็นอิสระ อย่างแท้จริง ซึ่งหากเป็นคนที่มาจากการสรรหา ที่ได้คนที่มีความรู้ มีความสามารถบริหารจัดการ เขาก็จะทำหน้าที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ ตัดสินใจเพื่อประโยชน์ต่อผู้ประกันตน และกองทุน โดยไม่ต้องคำนึงถึงสิ่งใด” นายบัณฑิตย์กล่าว

ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 7 ก.ย.53

พิมพ์ อีเมล