ฉลาดซื้อ ตรวจพบน้ำพริกหนุ่มสารกันบูดเกินมาตรฐานสูงสุดถึง 11 เท่า

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. จำนวนผู้ชม: 19109

 Nampriknum 2ndtest 4

นิตยสารฉลาดซื้อ ตรวจซ้ำน้ำพริกหนุ่ม 17 ตัวอย่าง พบกว่าร้อยละ 63 ใช้สารกันบูดเกินมาตรฐาน และบางตัวอย่างเกินมาตรฐานถึง 11 เท่า แนะยกระดับมาตรฐานของฝากทั่วไทย สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค

          ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ ภายใต้โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มในพื้นที่ภาคเหนือจำนวน 17 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์หาปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก เป็นครั้งที่ 2 หลังจากเคยสุ่มตรวจในครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2561 โดยผลทดสอบ มีดังนี้

Nampriknoom2 graphic for web 01 1

Nampriknoom2 graphic for web 01 2

         น้ำพริกหนุ่มที่ตรวจไม่พบสารกันบูด มี 2 ตัวอย่าง คือ น้ำพริกหนุ่มอุ้ยคำ (ตราขันโตก) จากตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ และน้ำพริกหนุ่มวรรณภา จากร้านวรรณภา จ.เชียงราย ส่วนน้ำพริกหนุ่มที่ตรวจพบสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก แต่ไม่เกินมาตรฐาน มี 8 ตัวอย่าง ได้แก่

     1) ยี่ห้อ นันทวัน (เจียงฮาย สูตรดั้งเดิม) จาก จ.เชียงราย พบปริมาณกรดเบนโซอิก 455.80 มก./กก.

     2) น้ำพริกหนุ่มอุ้ยแก้ว จากตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบปริมาณกรดเบนโซอิก 437.27 มก./กก.

     3) ยี่ห้อ อำพัน จากร้านข้าวแต๋นของฝาก จ.ลำปาง พบปริมาณกรดเบนโซอิก 435.29 มก./กก.

     4) ยี่ห้อ ศุภลักษณ์ รสเผ็ดมาก จากตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบปริมาณกรดเบนโซอิก 51.92 มก./กก. และ กรดซอร์บิก 338.17 มก./กก. (รวม 390.09 มก./กก.)

     5) ยี่ห้อ ป้าแอ็ด จากตลาดหลักเมือง จ.ลำปาง พบปริมาณกรดเบนโซอิก 387.38 มก./กก.

     6) ยี่ห้อ แม่มารศรี น้ำพริกหนุ่ม-ปลาร้า จากร้านปะเลอะเยอะแยะ จ.เชียงราย พบปริมาณกรดเบนโซอิก 41.73 มก./กก.

     7) ยี่ห้อ มารศรี น้ำพริกหนุ่มสูตรดั้งเดิม จากตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบปริมาณกรดเบนโซอิก 36.92 มก./กก.

     และ 8) ยี่ห้อ แม่ศรีนวล จากร้านของฝากสามแยกเด่นชัย จ.แพร่ พบปริมาณกรดเบนโซอิก 30.67 มก./กก.

          สำหรับ น้ำพริกหนุ่มที่เหลืออีก 7 ตัวอย่าง ตรวจพบปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐาน ได้แก่

     1) น้ำพริกหนุ่มอุมา จากตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบปริมาณกรดเบนโซอิก 5649.43 มก./กก.

     2) ยี่ห้อ ยาใจ (รสเผ็ด) จากร้านของฝากสามแยกเด่นชัย จ.แพร่ พบปริมาณกรดเบนโซอิก 3549.75 มก./กก.

     3) ยี่ห้อ แม่ชไมพร จากตลาดสดอัศวิน จ.ลำปาง พบปริมาณกรดเบนโซอิก 2231.82 มก./กก.

     4) ยี่ห้อ เจ๊หงส์ จากตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบปริมาณกรดเบนโซอิก 1968.85 มก./กก.

     5) ยี่ห้อ นิชา (เจ๊หงส์ น้ำพริกหนุ่ม) จากตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบปริมาณกรดเบนโซอิก 1634.20 มก./กก.

     6) น้ำพริกหนุ่มล้านนา จากตลาดของฝากเด่นชัย จ.แพร่ พบปริมาณกรดเบนโซอิก 1026.91 มก./กก.

     และ 7) ร้านดำรงค์ จากตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบปริมาณกรดเบนโซอิก 890.32 มก./กก.

          ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) อนุญาตให้ตรวจพบวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก ปริมาณสูงสุดได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม และ ประเภทกรดซอร์บิก ปริมาณสูงสุดได้ไม่เกิน 1000 มก./กก. ในหมวดอาหารประเภทเครื่องปรุงรส      

Nampriknum 2ndtest 2

          ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ กองบรรณาธิการ นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า แม้ร่างกายมนุษย์จะสามารถขับสารกันบูดออกทางระบบปัสสาวะได้ แต่หากได้รับเป็นประจำจากอาหารต่างๆ ที่รับประทาน โดยเฉพาะอาหารที่มีปริมาณสารกันบูดค่อนข้างมากอย่างสำเร็จรูปหรืออาหารแปรรูป ก็อาจทำให้ร่างกายสะสมสารกันบูดในปริมาณมาก และทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามมาได้ เช่น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หมดสติ หรือแม้กระทั่งทำให้กลไกการดูดซึมสารอาหารของร่างกายผิดปกติ จนอาจเกิดปัญหาต่อตับและไตได้

Nampriknum 2ndtest 1

          ทั้งนี้ นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มพบ. ตั้งข้อสังเกตว่า น้ำพริกหนุ่มที่ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิกเพียงเล็กน้อยนั้น อาจเป็นกรดเบนโซอิกจากธรรมชาติ ซึ่งไม่ได้มาจากการเติมโดยผู้ผลิต เพราะสารกันบูดในปริมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อการใช้เพื่อการถนอมอาหาร อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการมีการใช้วัตถุเจือปนอาหาร เช่น วัตถุกันเสีย ก็ต้องระบุข้อมูลการใช้สารกันบูดไว้บนฉลากบรรจุภัณฑ์ให้ผู้บริโภคทราบด้วย

          “จากการตรวจสอบน้ำพริกหนุ่มทั้ง 17 ตัวอย่าง พบว่ามีเพียง 2 ตัวอย่าง (คิดเป็นร้อยละ 11) เท่านั้น ที่ระบุว่าใช้วัตถุกันเสีย โดยเฉพาะน้ำพริกหนุ่ม 7 ยี่ห้อ ที่มีปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐาน ไม่มียี่ห้อใดที่ให้ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์ว่าใช้สารกันบูดเลย ทั้งที่บางยี่ห้อมีปริมาณสารกันบูดสูงถึง 5649.43 มก./กก. ซึ่งเกินจากที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ถึง 11 เท่า” นางสาวมลฤดีกล่าว

          นางสาวมลฤดีกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากสินค้าของฝากอย่าง น้ำพริกหนุ่ม โรตีสายไหม และแกงไตปลาแห้งแล้ว มพบ. เคยสุ่มตรวจสารกันบูดในขนมปังไส้ เฉาก๊วย และขนมจีน ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าผู้ประกอบการไม่ได้มีการแสดงฉลากให้ถูกต้องชัดเจน โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องการใช้วัตถุเจือปนอาหารประเภทสารกันบูด จึงอยากเสนอให้หน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแล ได้ออกกฎหมาย ข้อกำหนด หรือบทลงโทษ ให้ผู้ประกอบการได้มีการจัดทำฉลากบนบรรจุภัณฑ์ให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค

Nampriknum 2ndtest 3

          นางสาวพวงทอง ว่องไว เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวว่า น้ำพริกหนุ่มถือเป็นสินค้าประจำภาคเหนือที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อหาเป็นของฝาก แต่จากผลตรวจน้ำพริกหนุ่มในครั้งนี้กลับพบน้ำพริกหนุ่มที่มีปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐานกว่าร้อยละ 63 จึงอยากฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันสำรวจคุณภาพมาตรฐานสินค้าของฝากต่างๆ รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้วัตถุเจือปนอาหารอย่างถูกต้องให้กับผู้ประกอบการ เพื่อช่วยกันยกระดับมาตรฐานของฝากทั้งของภาคเหนือและภาคอื่นๆ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว

 

และติดตาม facebook LIVE ได้ที่ : "ผลทดสอบสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่ม 17 ยี่ห้อ (รอบสอง)"

อ่านผลทดสอบสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่ม ได้ที่ : ผลทดสอบสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่ม (ภาค 2)

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, นิตยสารฉลาดซื้อ, ของฝากภาคเหนือ, น้ำพริกหนุ่ม

พิมพ์