มพบ. เร่ง ไทย - เดนมาร์ค แก้ฉลากโภชนาการให้ถูกต้อง

news pic 070562 thaidanishมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เร่งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ดำเนินการแก้ไขข้อมูลบนฉลากโภชนาการให้ตรงกับข้อเท็จจริงทันที เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม

          จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์นมไทย - เดนมาร์ค มีการระบุข้อมูลโภชนาการของโปรตีนและใยอาหารไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจวิเคราะห์ ต่อมามูลนิธิฯ ได้แจ้งปัญหาดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ อย. ชี้แจงกลับมาว่าพบปริมาณโปรตีน (Nx 6.38)(ร้อยละของน้ำหนัก) 2.94 และไม่พบใยอาหาร ขณะที่บนฉลากโภชนาการกลับแจ้งปริมาณโปรตีน 10 กรัม และใยอาหาร 2 กรัม 8% ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522* อีกทั้งยังได้ส่งหนังสือถึงองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ขอให้ตรวจสอบและดำเนินแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น (อ่านข่าวเพิ่มเติม : 'มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค' เผย ภาคปชช.ร้องนมบางยี่ห้อ โภชนาการไม่ตรงข้างกล่อง จี้ อย.เร่งแก้ปัญหา หลังส่งเรื่องสอบถามไร้ความคืบหน้า)

          นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ตอนนี้ อ.ส.ค. ได้ชี้แจงกลับมายัง มพบ. ว่าไม่ได้เพิกเฉยกับปัญหาที่เกิดขึ้นและได้ดำเนินการแก้ไขโดยส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์นม ยู เอช ที ที่ผลิตจากทั้ง 4 โรงงาน ไปตรวจวิเคราะห์และดำเนินการปรับแก้ไขฉลากโภชนาการตามผลวิเคราะห์ที่ได้ แต่ช่วงนี้อยู่ระหว่างรอสต็อกกระดาษรุ่นเก่าหมดก่อน คาดว่าจะหมดในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563 จากนั้นจึงจะดำเนินการเปลี่ยนฉลากโภชนาการบนกล่อง

          “จากการชี้แจงดังกล่าว มองว่าไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหา เพราะกระบวนการผลิตควรมีการตรวจสอบคุณภาพและปริมาณสารอาหารเพื่อจัดทำข้อมูลโภชนาการก่อนที่จะทำฉลากบรรจุภัณฑ์อยู่แล้ว อีกทั้งต้องมีการควบคุมคุณภาพให้ตรงกับบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่องก่อนที่จะจัดจำหน่ายออกไป ดังนั้น ปัญหาที่เกิดจึงควรแก้ไข ด้วยการเปลี่ยนฉลากโภชนาการให้ถูกต้องทันที นอกจากนี้ในฐานะที่ อ.ส.ค. เป็นองค์การรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงควรเป็นที่น่าเชื่อถือทั้งในด้านคุณภาพและมาตรฐานการผลิต รวมทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ดีในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้ประกอบการรายอื่นต่อไป” นางนฤมลกล่าว

          อย่างไรก็ตาม ขอให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยทันที เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม

* | พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 |

1. ผลวิเคราะห์ ไม่พบใยอาหาร จัดว่าเป็นอาหารปลอม ตามมาตรา 25(2) และมาตรา 27(4) ตามมาตรา 59 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท ตามมาตรา 59

2. ผลวิเคราะห์ พบปริมาณโปรตีนไม่ตรงกับฉลากที่แสดง จึงเป็นการแสดงฉลากไม่ถูกต้องตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ และมาตรา 6(10) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท ตามมาตรา 51

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, อย., ฉลาก, นมไทยเดนมาร์ค

พิมพ์ อีเมล