เครือข่ายผู้บริโภคพบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย 753 รายการ ชี้ดาราและเน็ตไอดอลต้องรับผิดชอบต่อผู้บริโภค

260262 health online ad 8

เครือข่ายผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โฆษณาผิดกฎหมาย 753 รายการ ส่วนผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฏหมายยังวางขายเกลื่อนในออนไลน์ เรียกร้องดาราและเน็ตไอดอลต้องรับผิดชอบต่อผู้บริโภค พร้อมยื่นข้อเสนอ 16 ข้อต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          วันนี้ (26 ก.พ. 62) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภูมิภาค ได้แก่ เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคตะวันตก และเครือข่ายผู้บริโภคกทม. เปิดเผยผลการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ พบมีผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เคยประกาศว่าเป็นผลิตภัณฑ์อันตรายและได้เพิกถอนเลขสารบบจำนวน 29 ผลิตภัณฑ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีการอ้างเลข อย. ปลอม ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่แสดงที่ตั้งผู้ผลิต ยังวางจำหน่ายในสื่อสังคมออนไลน์และร้านค้าออนไลน์ต่างๆ และพบว่าดารา เน็ตไอดอลมีส่วนในการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง

260262 health online ad 1

          นายโสภณ หนูรัตน์ นักวิชาการ มพบ. กล่าวว่า การเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ของ มพบ. และเครือข่ายผู้บริโภค เน้นไปที่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกันคือ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กินแล้วต้องไม่ตาย” โดยมีการเฝ้าระวังในช่วงระหว่างวันที่ 24-27 ธันวาคม 2561 โดยแบ่งกลุ่มเฝ้าระวังการโฆษณาผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งในห้างออนไลน์ (E-market Place) สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ได้แก่ อินสตาแกรม ไลน์ เฟซบุ๊ก รวมทั้งมีการเฝ้าระวังในกลุ่มพรีเซนเตอร์ ดารา เน็ตไอดอล บุคคลมีชื่อเสียง แพทย์และเภสัชกรที่ขายหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก  ซึ่งมียอดผู้ติดตามไม่น้อยกว่า 10,000 ราย โดยใช้วิธีการเฝ้าระวังจากข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ อย. ประกาศว่ามีส่วนผสมอันตราย และค้นจากคีย์เวิร์ดคำโฆษณาผิดกฎหมาย เพื่อตรวจสอบการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ที่อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เช่น หุ่นดี ลดความอ้วน ผอม สวย อาหารเสริมลดน้ำหนัก เป็นต้น

260262 health online ad 2

          นางสาวสถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการ มพบ. กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ พบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ อย. เคยประกาศว่ามีส่วนผสมของสารประกอบอันตราย จำหน่ายอยู่ในเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ และร้านค้าออนไลน์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบว่าร้านค้าส่วนใหญ่ไม่แสดงเลขอนุญาตโฆษณา ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย ดังนั้นห้างออนไลน์ที่อนุญาตให้มีการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวจะต้องรับผิดชอบ และผู้ค้ารายย่อยที่นำมาขายก็จะต้องมีความผิดด้วย ทั้งนี้ หลังจากนี้ทางเครือข่ายผู้บริโภคจะเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่ผลในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ซอกแซกสื่อ (มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)’

dietary supplement

dietary supplement 2

260262 health online ad 3

นายปิยะพงษ์ ปัญญาดา มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในอินสตาแกรม พบผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทเสริมอาหารลดน้ำหนัก 177 ผลิตภัณฑ์ และมีการโฆษณามากถึง 348 ครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 90 ของโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งหมดบนอินตาแกรม ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิดกฎหมายที่ อย. ประกาศห้ามจำหน่ายถึง 14 ผลิตภัณฑ์ และมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิดกฎหมายถึง 38 ครั้ง

“ปัญหาที่พบในปัจจุบันคือ ยังมีผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายขายอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งในเฟซบุ๊กและอินตาแกรม แต่ไม่สามารถ report ได้ เนื่องจากตอนกดเลือกเหตุผลในการร้องเรียนนั้นไม่มีเรื่องปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพอยู่เลย” นายปิยะพงษ์

260262 health online ad 4

นายศตคุณ คนไว สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย พบว่ามีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดถึง 753 ชิ้น โดยพบในเฟซบุ๊ก 240 ชิ้น อินสตาแกรม 348 ชิ้น ไลน์ 80 ชิ้น และร้านค้าออนไลน์ 85 ชิ้น โดยผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างเหล่านี้มักจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการขออนุญาตจาก อย. ผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเป็นเพียงการจดแจ้งกับ อย. แต่มักจะนำไปโฆษณาว่าผ่านมาตรฐาน อย. แล้ว รวมถึงมีบางผลิตภัณฑ์ที่ใส่เลข อย. ไม่ตรงกับผลิตภัณฑ์ที่โฆษณา นอกจากนี้ เมื่อมีการร้องเรียนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่ พบยังมีข้อติดขัดในการบังคับใช้กฎหมายอีกด้วย

260262 health online ad 5

นายพงษภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก กล่าวว่า นอกจากปัญหาโฆษณาที่มีจำนวนมากแล้ว ดารา คนดัง เน็ตไอดอล รวมทั้งผู้มีวิชาชีพด้านสุขภาพ ก็มีส่วนต่อการโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ โดยผลการเฝ้าระวังพบผลิตภัณฑ์ที่มีโฆษณาซึ่งอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย 74 ผลิตภัณฑ์ และมีดาราเป็นผู้โฆษณาจำนวน 59 ราย เน็ตไอดอลจำนวน 10 ราย นักวิชาการหรือวิชาชีพ จำนวน 2 ราย และดาราที่เป็นเจ้าของแบรนด์อีกจำนวน 9 ราย  ทั้งนี้ ในกลุ่มดังกล่าวมีบางผลิตภัณฑ์ที่เลข อย. ไม่ตรงกับสินค้าที่โฆษณา หรือบางสินค้า เลข อย. มีสถานะยกเลิกแล้ว แต่ยังมีการโฆษณาอยู่ จึงมองว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ขาย ผู้โฆษณาที่เป็นดารา เน็ตไอดอลและร้านค้าออนไลน์ที่เป็นช่องทางจำหน่ายจะต้องมีส่วนรับผิดชอบ

“ขอให้ดารา เน็ตไอดอล และนักวิชาการ ตรวจสอบข้อมูลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะรับโฆษณา หรือสอบถามจากเพจ ซอกแซกสื่อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก่อนที่จะรับงานโฆษณา เพื่อเป็นการสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น” นายพงษภัทร

260262 health online ad 6

ภญ.ชโลม เกตุจินดา อุปนายกสมาคมผู้บริโภคสงขลา กล่าวว่า นอกจากเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย โฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคแล้ว ยังพบว่าผู้ขายไม่มีการแสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบว่า เป็นผู้ขายที่ได้จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือจดทะเบียนตลาดแบบตรงกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทำให้ผู้บริโภคยังมีความเสี่ยงจากการซื้อสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะผู้ค้ารายย่อยที่จำหน่ายสินค้าผ่านพื้นที่สาธารณะอย่างเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม ซึ่งตรวจสอบยากกว่าผู้ขายในร้านค้าออนไลน์ต่างๆ ทำให้ยังพบปัญหาผู้บริโภคถูกหลอก ถูกโกงจากการซื้อสินค้าออนไลน์อยู่เสมอ

“กระทรวงพาณิชย์ควรออกกฎให้ผู้ค้าออนไลน์ทุกคนต้องจดทะเบียนขายสินค้าออนไลน์โดยไม่มีระบุรายได้ต่อปีขั้นต่ำเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงเพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลและตามหาตัวผู้กระทำผิดได้หากเกิดปัญหา” ภญ.ชโลมกล่าว

ทั้งนี้ มพบ. และเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภูมิภาค ได้เสนอให้หน่วยงานต่างๆ มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ ดังนี้

ข้อเสนอต่อ อย.

1. ให้ดำเนินคดีผู้ค้ารายย่อยที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย รวมทั้งร้านค้าออนไลน์ที่ละเลยไม่ตรวจสอบ และปล่อยให้มีการขายสินค้าผิดกฎหมายด้วย

2. ลงโทษผู้ค้าที่ไม่แสดงเลขอนุญาตโฆษณา เข้มงวดกวดขันกับการโฆษณาเกินจริง หลอกลวง เป็นเท็จ ผิด กฎหมาย อย. หรือผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ รวมทั้งสั่งปรับรายวันกับผู้โฆษณาขายสินค้าผลิตภัณฑ์สุขภาพออนไลน์ผิดกฎหมาย เพื่อให้ปิดอินสตาแกรมหรือเฟซบุ๊ก

3. ตั้งงบสนับสนุนผู้ร้องเรียนเรื่องการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย โดยมีรางวัลนำจับที่ชัดเจน เรื่องละ 300 บาท เพื่อสร้างแนวร่วมเฝ้าระวังในการจัดการปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพออนไลน์

4. อย. ควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ ด้วยการวินิจฉัยโทษ ‘โฆษณาเกินจริงเป็นเท็จ’ และลงโทษปรับอัตราสูงสุด

5. ควรกระจายอำนาจให้ สสจ. ดำเนินการเปรียบเทียบปรับได้ กรณีมีการร้องเรียนกระทำความผิดทางออนไลน์ในเขตพื้นที่ที่ สสจ. รับผิดชอบ

6. ให้ห้างออนไลน์สร้างระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูลกับ อย. เพื่อลิ้งก์เลขทะเบียนผลิตภัณฑ์และเลขอนุญาตโฆษณาของผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายกับเว็บสารบบของ อย. เพื่อให้ผู้บริโภคตรวจสอบข้อมูลได้ง่ายขึ้น

7. เปิดเผยคลังข้อมูลโฆษณา เพื่อให้ผู้บริโภคทั่วไปและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูล และช่วยตรวจสอบเรื่องโฆษณาร่วมกับ อย. ได้

8. ดำเนินคดีกับทั้งผู้ขาย ผู้โฆษณาที่เป็นดารา เน็ตไอดอลและร้านค้าออนไลน์ที่เป็นช่องทางจำหน่ายในเชิงลงโทษด้วย

9. ควรมีการกำกับการโฆษณาเพิ่ม โดยให้แสดงข้อความว่าเป็นผู้โฆษณาที่ได้รับสปอนเซอร์ หรือเป็นผู้ใช้จริง

          10. กรณีร้องเรียนปัญหาผ่านช่องทางออนไลน์ ให้ อย. ใช้ระบบระงับข้อพิพาททางออนไลน์ ให้เสร็จในคราวเดียวไม่ต้องเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย

ข้อเสนอต่อหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

1. หน่วยงานรัฐ ทั้ง อย. สคบ. รวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประสานงานให้เจ้าของเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม ให้เพิ่มอัลกอริธึ่มสำหรับรายงานการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค

2. กลุ่มสภาวิชาชีพต่างๆ ตรวจสอบ และดำเนินคดีกับผู้ที่อ้างความเป็นวิชาชีพ มาหารายได้ โดยการโฆษณาผิดกฎหมาย ตามข้อบังคับของสภาวิชาชีพนั้นๆ  

3. ดารา เน็ตไอดอล นักวิชาการ ต้องตรวจสอบข้อมูลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือสอบถามจากเพจ ‘ซอกแซกสื่อ (มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)’ ก่อนจะรับงาน เพื่อสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น

4. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ต้องกำกับดูแลให้มีการแสดงข้อมูลผู้จดทะเบียนขายสินค้าออนไลน์ โดยแสดงเป็นตราสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่ชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคทราบ

5. ให้ สคบ. แก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้มีการรับจดทะเบียนผู้ขายสินค้าผลิตภัณฑ์สุขภาพโดยไม่มีทุนขั้นต่ำ และบังคับใช้กฎหมายกับผู้ขายสินค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างเคร่งครัด 

6. ให้รัฐมีการเก็บภาษีการขายสินค้าออนไลน์ 

Tags: ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร , โฆษณาเกินจริง, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ห้างออนไลน์, ซื้อของออนไลน์

พิมพ์ อีเมล