เครือข่ายผู้บริโภค ยื่น กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบ สปน.

news pic 06112019 1

เครือข่ายผู้บริโภคยื่น กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบ สปน. เรื่องปัญหาความล่าช้าการจดแจ้งองค์กรผู้บริโภค พร้อมยื่น 3 ข้อเสนอ เร่ง สปน. จัดทำแนวปฏิบัติและประกาศผลโดยเร็ว

          จากการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เป็นนายทะเบียนกลางและผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายในฐานะนายทะเบียนจังหวัดในภูมิภาคต่างๆ ตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 และได้มีการเปิดรับจดแจ้งองค์กรผู้บริโภค ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 หลังจากนั้น พบว่า หลายจังหวัดประสบปัญหาในการรับจดแจ้ง ทั้งแนวทางปฏิบัติของนายทะเบียนซึ่งแตกต่างกัน มีการเรียกขอเอกสารที่เกินจำเป็น ไม่ดำเนินการออกเลขที่ขอจดแจ้งให้แก่องค์กรผู้บริโภค และความไม่พร้อมของนายทะเบียนในบางจังหวัด อีกทั้งยังมีการออกแนวทางตรวจสอบความเป็นองค์กรซึ่งทำให้องค์กรผู้บริโภคไม่ได้รับความสะดวก และมีการสร้างขั้นตอนรับจดแจ้งที่เกินสมควร ขณะเดียวกันสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สสอบ.) และตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคได้หารือและยื่นข้อเสนอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหลายครั้งๆ ให้แก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น98432

          วันนี้ (6 พฤศจิกายน 2562) ที่รัฐสภา สสอบ. และตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคได้เข้าพบนายมานะ โลหะวณิชย์ ประธานคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ในการประชุมกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อขอให้พิจารณาตรวจสอบปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้ที่ได้รับมอบหมายในการดำเนินการจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภค และให้เร่งรัดการจดแจ้งองค์กรผู้บริโภคและการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาพบปัญหาในการดำเนินการ ดังนี้

          ปัญหาที่หนึ่ง ประกาศนายทะเบียนกลาง เรื่อง การกำหนดแบบและวิธีการแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) อาจจะขัดต่อมาตรา 6 วรรค 4 ของพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ที่ระบุว่า แบบและวิธีการจดแจ้งองค์กรผู้บริโภค ต้องไม่มีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นและให้รับฟังความคิดเห็นขององค์กรของผู้บริโภคประกอบด้วย แต่ขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการรับจดแจ้งฯ กลับมีการจัดทำประกาศฯ มาเปิดรับฟังความคิดเห็นถึงสองฉบับ โดยในฉบับล่าสุดมีการแก้ไขเรื่องการขยายระยะเวลาพิจารณาคุณสมบัติออกไป พร้อมเพิ่มอำนาจในการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่จดแจ้งมาให้ข้อมูล และเปิดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งองค์กรผู้บริโภคทั้งหลายก็ได้ส่งความเห็นคัดค้านไม่เห็นด้วยกับประกาศดังกล่าว โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการขยายระยะเวลาและเชิญกรรมการมาให้ข้อมูล เนื่องจากสร้างภาระและค่าใช้จ่ายแก่องค์กรผู้บริโภคอย่างมาก

          ขณะนี้นายทะเบียนกลางและนายทะเบียนจังหวัด มีการเชิญกรรมการขององค์กรที่ยื่นจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรให้มายืนยันตนในหลายพื้นที่และใช้วิธีเชิญกรรมการทุกคนไปยืนยันตน ทั้งยังอ้างเหตุผลว่า หากไม่ไปยืนยันตน อาจพิจารณาให้องค์กรขาดคุณสมบัติตามกฎหมาย ทำให้เกิดภาระแก่องค์กรผู้บริโภคทั้งหลาย ในเรื่องค่าใช้จ่ายและเสียเวลา และพบว่าเมื่อบางองค์กรมีการมาพบตามที่ถูกเรียกเชิญ นายทะเบียนบางพื้นที่มีลักษณะเหมือนการเรียกมาสอบปากคำ ใช้เวลานาน จนทำให้กรรมการองค์กรซึ่งเป็นเพียงผู้บริโภคที่มีเจตนาจะทำงานคุ้มครองสิทธิ อุทิศตนเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะต้องถูกปฏิบัติเสมือนผู้กระทำผิด อีกทั้งเห็นได้ชัดว่าวิธีการตรวจสอบดังกล่าวนี้ไม่ได้มุ่งเน้นตรวจสอบผลงานขององค์กรผู้บริโภค แต่เป็นการตรวจสอบรายบุคคลซึ่งไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย98425

          และในส่วนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก็ไม่ได้ดำเนินการให้เกิดการรับฟังอย่างรอบด้าน เพียงพอ มีการเร่งรัดเพื่อออกประกาศ โดยพบว่า มีการปิดรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2562 และหลังจากนั้นเพียงสองวัน คือวันที่ 17 กันยายน 2562 จากนั้นก็ได้มีการออกประกาศนายทะเบียนกลาง เรื่อง การกำหนดแบบและวิธีการแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

          ปัญหาที่สอง นายทะเบียนกลางมีอำนาจในการขยายระยะเวลาพิจารณาการยื่นจดแจ้งจาก 60 วัน เป็น 120 วันหรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาระยะเวลา 60 วัน นับเป็นระยะเวลาที่เพียงพอในการตรวจสอบความเป็นองค์กรของผู้บริโภค จึงเห็นว่า ควรทำให้เกิดมาตรฐานการรับแจ้งและวิธีการตรวจสอบเป็นแบบเดียวกันทั่วประเทศ และไม่สร้างภาระเกินจำเป็นต่อองค์กรผู้บริโภค เช่น การนัดหมายลงพื้นที่ตั้งขององค์กรพร้อมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบในคราวเดียว และควรมุ่งตรวจจากหลักฐานการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นที่ประจักษ์ขององค์กรมากกว่าตัวบุคคล จึงขอเสนอเพื่อพิจารณาให้ สปน. ดำเนินการ ดังนี้

          หนึ่ง ขอให้เร่งประกาศผลจดแจ้งแก่องค์กรผู้บริโภคที่นายทะเบียนไม่มีการแจ้งขอข้อมูลเพิ่มเติม และครบกำหนดตรวจสอบ 60 วัน เนื่องจากตามประกาศนายทะเบียนกลาง เรื่อง การกำหนดแบบและวิธีการแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ข้อ 8 ระบุว่า “เมื่อคำขอแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภค และรายการเอกสารหรือหลักฐาน ที่ยื่นพร้อมคำขอครบถ้วนแล้ว ให้นายทะเบียนพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่เอกสารหลักฐาน ที่ยื่นพร้อมคำขอครบถ้วน และให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งออกหลักฐานการแจ้งไว้ให้แก่ผู้ยื่นคำขอตามแบบ แต่พบว่ามีองค์กรผู้บริโภคที่ได้ไปยื่นเรื่องขอจดแจ้งทั้งในส่วนกลางที่ สปน. และในต่างจังหวัดต่อนายทะเบียนจังหวัด โดยได้ยื่นเอกสารและหลักฐานครบถ้วน ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 จนปัจจุบันเกินกว่าหกสิบวันตามที่ระบุในกฎหมาย ยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณารวมถึงการประกาศรายชื่อองค์กรโดยนายทะเบียนกลาง ดังนั้นจึงขอให้มีการเร่งรัดนายทะเบียนกลางและนายทะเบียนจังหวัดปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย โดยออกหลักฐานจดแจ้ง และประกาศรายชื่อองค์กรโดยเร็ว98428

          สอง การจัดทำแนวปฏิบัติในการรับจดแจ้งและตรวจสอบสถานะองค์กรผู้บริโภคของนายทะเบียนที่เป็นมาตรฐานเดียว พบว่า หลังจากองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศได้ไปยื่นจดแจ้งสถานะองค์กรตามกฎหมาย นายทะเบียนกลางและนายทะเบียนจังหวัดซึ่งทำหน้าที่รับจดแจ้งองค์กรตามกฎหมาย มีแนวทางตรวจสอบสถานะองค์กรผู้บริโภคแตกต่างกัน บางจังหวัดมีการเรียกขอเอกสารจำนวนมาก บางจังหวัดมีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบ หรือบางจังหวัดมีการทำหนังสือถึงหน่วยงานส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ลงไปตรวจสอบองค์กรในพื้นที่ และบางจังหวัดก็ไม่ดำเนินการออกหลักฐานการขอจดแจ้งให้แก่องค์กรผู้บริโภค ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นตามที่กำหนดไว้ในคู่มือเจ้าหน้าที่รับแจ้งสถานะความเป็นองค์กร

          สาม จัดทำมาตรฐานการตีความกฎหมายที่เป็นสาเหตุในการตัดสิทธิองค์กรของผู้บริโภค โดยแบ่งเป็น 2 ประเด็น ได้แก่

          ประเด็นที่หนึ่ง ตีความคุณสมบัติกรรมการองค์กรในลักษณะเป็นการตัดสิทธิองค์กรของผู้บริโภค พบว่า ในหลายจังหวัด นายทะเบียนมีปัญหาการตีความคุณสมบัติของคณะกรรมการองค์กร มีการตีความที่แตกต่าง หลากหลาย จนเป็นเหตุให้องค์กรนั้นๆ ถูกตัดสิทธิองค์กรเนื่องจากคุณสมบัติกรรมการ เช่น มีกรรมการที่เป็นข้าราชการ หรือหน่วยงานรัฐ กรรมการที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองจึงถือว่าไม่ใช่องค์กรผู้บริโภคที่มีลักษณะตามกฎหมาย รวมทั้งกรณีตัดสิทธิในฐานะเป็น "ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน" ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งที่มีหลักฐานว่าเข้ามาเป็นกรรมการองค์กรก่อนจะได้เป็นผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เห็นว่า การรวมตัวของบุคคลธรรมดาเป็นองค์กรผู้บริโภคนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้บริโภคทั่วไป และในการทำงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภคจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนการทำงานขององค์กรผู้บริโภค ดังนั้น การเชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ซึ่งอาจทำหน้าที่ในหน่วยงานรัฐมาเป็นกรรมการจึงเป็นเรื่องปกติในการทำงานขององค์กรผู้บริโภค เนื่องจากบุคคลดังกล่าวเข้ามาทำหน้าที่ในฐานะส่วนตัวไม่ใช่ในนามของหน่วยงานรัฐ และไม่ได้ถือว่าองค์กรดังกล่าวถูกจัดตั้งหรือถูกครอบงำโดยหน่วยงานรัฐ        

          อย่างไรก็ตาม ปัญหาการตีความที่แตกต่างและไม่ชัดเจนดังกล่าว ส่งผลให้การพิจารณาการจดแจ้งองค์กรผู้บริโภคมีความล่าช้า เนื่องจากนายทะเบียนบางจังหวัดไม่สามารถใช้ดุลพินิจตัดสินใจได้เอง และรอแนวทางตีความที่ชัดเจนจากนายทะเบียนกลาง และหลังจากการรับจดแจ้งองค์กรล่วงเลยมากว่า 60 วัน นายทะเบียนกลางก็ยังไม่สามารถมีแนวทางพิจารณาที่ชัดเจนได้98418

          ประเด็นที่สอง การตีความเรื่องการรับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐในลักษณะเป็นการตัดสิทธิองค์กรของผู้บริโภค พบว่า ในหลายพื้นที่นายทะเบียนมีความเข้าใจต่อข้อกฎหมายที่คลาดเคลื่อน ทั้งที่ในมาตรา 5 (2) แห่งพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนดไว้ชัดว่า “ไม่เป็นองค์กรของผู้บริโภคที่ได้รับเงินอุดหนุนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมจากบุคคล ตาม (1) เว้นแต่เป็นเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ..” หากตีความตามตัวบทกฎหมายจะพิจารณาได้ว่าองค์กรผู้บริโภคสามารถรับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐได้ ไม่เป็นการต้องห้ามแต่อย่างใด แต่นายทะเบียนบางจังหวัดกลับตีความว่าการที่องค์กรผู้บริโภครับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐเป็นองค์กรที่ถูกรัฐจัดตั้งหรือครอบงำ โดยเอาเรื่องการรับเงินมาพิจารณาประกอบซึ่งทำให้ขัดต่อข้อกฎหมายดังกล่าว เกิดความเสียหายกับองค์กรผู้บริโภค จึงเห็นว่า สปน. ควรจัดทำเกณฑ์มาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับขององค์กรผู้บริโภค แจ้งแนวทางมาตรฐานและการตีความที่ชัดเจน ไม่ใช้การตีความที่ขาดความเข้าใจและมีดุลยพินิจที่แตกต่างกันเป็นการตัดสิทธิองค์กรผู้บริโภค และสอดคล้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยมีหนังสือชี้แจงเกณฑ์พิจารณาลักษณะองค์กรที่ชัดเจนตามข้อคิดเห็นข้างต้นไปยังนายทะเบียนทุกจังหวัดโดยเร็ว

          อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดความล่าช้าในการจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภค ส่งผลทำให้การจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคล่าช้า ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ เนื่องจากปัญหาผู้บริโภคเกิดขึ้นทุกวัน สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นตัวแทนของผู้บริโภคระดับประเทศเป็นพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ดังนั้น หากมีสภาองค์กรผู้บริโภคเร็วเท่าใด ก็ย่อมสามารถป้องกันปัญหา ยุติ ยับยั้งการละเมิดสิทธิที่จะเกิดขึ้นได้เร็วเท่านั้น ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับผู้บริโภค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เข้าพบ รมต.เทวัญ หารือเรื่องสภาองค์กรผู้บริโภค และนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค
บุญยืน เตือน สำนักปลัดฯ อย่ารับจดแจ้งองค์กรผู้บริโภคฯ มั่ว 
จี้ สปน. เร่งประกาศองค์กรผู้บริโภคภายใน 60 วัน 

และสามารถติดตาม Facebook LIVE ย้อนหลัง เรื่อง หลังการประชุมกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่อง ขอให้ตรวจสอบสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีปัญหาความล่าช้าการจดแจ้งองค์กรผู้บริโภค และการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ได้ที่เฟซบุ๊กเพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

Tags: สภาองค์กรของผู้บริโภค, จดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภค, สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

พิมพ์ อีเมล