องค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน ขับเคลื่อนรถโดยสารปลอดภัยเสนอทางนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

เขียนโดย malisa. จำนวนผู้ชม: 2358

pic NE02

เมื่อวันศุกร์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ที่ห้องประชุมชั้น ๘ โรงแรมวีวิช อ.เมือง จ.ขอนแก่น เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสานร่วมกับสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น จัดประชุมเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อรถโดยสารปลอดภัย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนการดำเนินงานและสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน ,การกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนงานกลไกคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัดและระดับภาค , เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้รถโดยสารปลอดภัย มีผู้เข้าร่วมจำนวน ๓๐ คน จากจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี ยโสธร สุรินทร์ ที่มาจากสำนักงานขนส่งจังหวัด ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สถานศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.)และองค์กรผู้บริโภค

นายศตคุณ คนไว ผู้รับผิดชอบโครงการเฝ้าระวังรถโดยสารปลอดภัยในภาคอีสาน กล่าวว่าในรูปแบบการดำเนินงานมีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กร เครือข่ายภาคประชาชน เพื่อให้รถโดยสารมีความปลอดภัย มี ๓ ประเด็นหลักคือ ๑. เรื่องรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ,๒. เรื่องรถทัศนาจรปลอดภัย(สัญญาเช่า) , ๓. การเฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียน (รถโดยสารสาธารณะ) , ด้านการขับเคลื่อนรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย   มีการเก็บข้อมูลสถานการณ์ การเดินทางไปโรงเรียนของนักเรียนในแต่ละจังหวัด ,คืนข้อมูลผลการสำรวจสถานการณ์ รถรับส่งนักเรียนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและร่วมกันขับเคลื่อนให้รถรับส่งนักเรียนเกิดความปลอดภัย , การประสานความร่วมมือโรงเรียน ๑ โรงเรียนต่อจังหวัด เพื่อหารูปแบบรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย (รร.สมเด็จ จ.อุบลฯ, รร.สามพาดพิทยาคาร จ.อุดรฯ,   รร.ซำสูงพิทยาคม จ.ขอนแก่น และ รร.ยโสธรพิทยาคม จ.ยโสธร , ด้านรถทัศนาจรปลอดภัย   มีการเก็บข้อมูลสถานการณ์ การเช่ารถทัศนาจรของสถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น , คืนข้อมูลผลการสำรวจสถานการณ์ การเช่ารถทัศนาจรของสถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ,นำเสนอ “ สัญญาเช่าเพื่อรถทัศนาจรปลอดภัย ” เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการเช่ารถทัศนาจรให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ด้านการรับเรื่องร้องเรียน ผลการรับเรื่องร้องเรียนทั้งเชิงรุกและเชิงรับตั้งแต่ เดือน ม.ค. ๖๐ - ต.ค. ๖๑ มีจำนวน ๒๗๐ กรณี เช่น รถแท็กซี่ ไม่กดมิเตอร์ คิดราคาเหมาจ่าย บวกค่าโดยสารเพิ่มโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บ, รถสองแถว รับส่งผู้โดยสารไม่ถึงปลายทาง ,รถทัวร์โดยสารประจำทาง รับผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งเพิ่มเบาะเสริม คิดราคาไม่ตรงตามป้าย ,รถโดยสารไม่ประจำทาง/รถทัศนาจร (เกิดอุบัติเหตุถึงรู้ปัญหาและเฝ้าระวังเชิงรุก)

นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน กล่าวว่าที่ผ่านมาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ มีข้อเสนอต่อระดับนโยบายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรถโดยสารปลอดภัย ดังนี้  

๑. เสนอให้รัฐซื้อรถคืนจากผู้ประกอบการ หรือออกมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนรถจากรถสองชั้นเป็นรถชั้นเดียว

๒. กำหนดเส้นทางเสี่ยงอันตรายสำหรับรถสองชั้น โดยพิจารณาจากสภาพถนน ทางโค้งลาดชัน จำนวนการเกิดอุบัติเหตุ และระยะทางไกลของรถขนาดใหญ่ พร้อมกำหนดบทลงโทษหากมีการฝ่าฝืนมาตรการความปลอดภัย

๓. รถโดยสารสองชั้นที่ผ่านการทดสอบพื้นเอียงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต้องแสดงสัญลักษณ์ผ่านการทดสอบชัดเจนบริเวณด้านหน้าตัวรถและบริเวณข้างรถ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ

๔. ต้องเปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียน สถิติอุบัติเหตุ หรือการกระทำความผิด ของผู้ประกอบการ ผ่านระบบออนไลน์ของกรมการขนส่งทางบก เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคเลือกผู้ประกอบการรถโดยสารเพื่อการเช่าเหมาเดินทางได้

๕. กำหนดความเร็ว GPS ให้สอดคล้องกับสภาพถนน เช่น ในทางเสี่ยง ทางลาดชัน เป็นต้น

๖. กำหนดใบอนุญาตขับขี่สำหรับรถโดยสารขนาดใหญ่ ที่มีความสูงเกิน ๓.๘๐ ม. ต้องผ่านการอบรมและพัฒนาทักษะ

๗. มีการศึกษาเพื่อนำมาทบทวนการออกใบอนุญาตฯเพื่อให้มีความสมดุลย์ของดีมาน์/ซัพพลาย

๘. ปรับเพิ่มวงเงินประกันภัยภาคบังคับ กรณีเสียชีวิต จาก ๓๐๐,๐๐๐ บาท เป็น ๑ ล้านบาทต่อราย โดยให้แยกเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต และ ทุพพลภาพ ออกจากค่ารักษาพยาบาล และเพิ่มวงเงินกรณีรักษาพยาบาลจาก ๘๐,๐๐๐ บาท เป็น ๑๕๐,๐๐๐ บาท ต่อรายปรับเพิ่มวงเงินประกันภัยสมัครใจเฉพาะการชดเชยเยียวยาผู้ประสบเหตุในส่วนประกันภัยภาคสมัครใจของรถสองชั้น จาก ๑๐ ล้านบาท เป็น ๓๐ ล้านบาทต่อครั้ง และให้แยกค่ารักษาพยาบาลออกจากค่าซ่อมรถด้วย โดยจะนำข้อเสนอเหล่านี้ให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้นำไปดำเนินการต่อไป

ทางด้านนางสาวปัทมา ราตรี ผู้ประสานงานกิจกรรมเฝ้าระวังรถโดยสารปลอดภัย จ.ยโสธร กล่าวว่าในวันนี้ช่วงแรกมีการแบ่งกลุ่มเพื่อให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจในสถานการณ์ปัญหาของการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ บทบาทของตนเองที่เกี่ยวข้อง ช่วงบ่ายมีการแบ่งกลุ่มจังหวัดเพื่อพูดคุยการขับเคลื่อนในระดับจังหวัดโดยมีประเด็นรวมๆ เช่น จัดตั้งภาคีเครือข่ายในการทำงานเฝ้าระวังรถโดยสารปลอดภัย เน้นความร่วมมือในระดับจังหวัด ,รถรับส่งนักเรียนปลอดภัยจะมีการขยายพื้นที่ในจังหวัด ,อบรมคนขับรถ นายท้ายรถ, มีเวทีสื่อเพื่อสื่อสารสาธารณะเพื่อรถโดยสารปลอดภัย ในแต่ละจังหวัดพร้อมที่จะดำเนินการต่อภายใต้โครงการเฝ้าระวังรถโดยสารปลอดภัยในระยะต่อไป

Tags: เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน

พิมพ์