ทำไมต้องมี กฎหมายทวงหนี้ที่เป็นธรรม

เขียนโดย อิฐบูรณ์ อ้นวงษา - มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. จำนวนผู้ชม: 16539

คนที่ไม่เคยเป็นหนี้แบบท่วมหูท่วมหัวบางคน อาจจะคิดหมั่นไส้คนที่เป็นหนี้แล้วไม่มีเงินจ่าย ซ้ำยังมาร้องขอกฎหมายบังคับให้เจ้าหนี้ทวงหนี้ด้วยความเคารพเสียอีก ถ้าคิดแบบนี้ก็อยากให้ใจเย็นลงสักนิดแล้วเปิดความคิด เปิดโอกาสรับฟังความทุกข์ของคนอื่นดู จะทำให้เห็นความไม่เป็นธรรมของระบบหนี้และการทวงหนี้ที่เกิดขึ้นในขณะนี้

 

สาเหตุของการเป็นหนี้ 

“ความไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ”  ก็รู้อย่างนี้แล้วทำไมถึงดันเป็นหนี้เขาล่ะ

เป็นคำถามสำคัญของคนเป็นหนี้ที่อยากจะปลดหนี้ได้เร็ววัน แต่วันนั้นไม่เคยเกิดขึ้นสักที

 

ถ้าด่วนสรุปว่าคนเป็นหนี้เพราะความฟุ่มเฟือย บ้าพนัน บ้าหวย ไม่มีวินัย ไม่รู้จักใช้เงินก็ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งน่ะใช่ แต่ไม่ทั้งหมดครับ แถมอาจจะเป็นส่วนน้อยเสียด้วยซ้ำในสถานการณ์ของคนที่เป็นหนี้ในปัจจุบัน

 

ผมทำงานในศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครรับโทรศัพท์คน 100 คนที่โทรเข้ามาปรึกษาปัญหาต่างๆ เกือบ70-80 คน ครับที่โทรมาปรึกษาหาทางออกเรื่องแก้หนี้กับปัญหาโดนทวงหนี้แบบเลวทราม จึงทำให้พอทราบถึงสาเหตุแห่งวังวนหนี้ที่เกิดขึ้นของคนเหล่านี้ได้บ้าง

 

จำได้ไม๊ครับ ว่าเศรษฐกิจของประเทศเราเคยล้มในปี 2540 คนทำงาน มีเงินเดือนต้องตกงานล้มระเนระนาด เศรษฐีแท้ล้มบนฟูก เศรษฐีเทียมต้องล้มลงโลงพากันฆ่าตัวตายยกครัวเห็นในข่าวเป็นระยะๆ รัฐบาลต่อมาก็พยายามแก้ปัญหาดังกล่าวแต่แก้เท่าไหร่ เศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้นเพราะสถาบันการเงินระดับโลกเขาไม่ปล่อยให้รัฐบาลกู้ แต่พอถึงรัฐบาลในช่วงปี 2544 ท่านผลินโยบายประชาชนเข้าถึงเงินกู้ด้วยตัวเอง ด้วยการเปิดโอกาสให้บรรดานักลงทุนจากต่างประเทศร่วมกับนักลงทุนไทยจำนวนหนึ่งมาเปิดธุรกิจบริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในลักษณะสถาบันการเงินที่ไม่ได้เป็นธนาคาร เพื่อให้ประชาชนได้มีเงินจับจ่ายใช้สอยและนำไปลงทุนเล็กๆน้อยๆ

     โดยหวังว่าเมื่อประชาชนสามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเองแล้ว จะมีเงินไปใช้หนี้ในภายหลังได้แบบสบายๆ

     แต่เดชะบุญคุณพระช่วย รัฐบาลท่านไม่บอกประชาชนเลยว่า บรรดาสถาบันเงินกู้และบัตรเครดิตเหล่านี้ ท่านไม่ได้ควบคุมเรื่องการเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ส่วนประชาชนพอเห็นความสว่างนึกว่าช่องทางสวรรค์จึงแห่พากันสมัครเป็นสมาชิกทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อเป็นจำนวนมาก

     ถลำใช้กันไปได้สักพัก สักพักของผมนี่คือถึงปี 2549 น่ะครับ ถึงได้รู้ตัวว่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของสถาบันการเงินพวกนี้มหาโหดไม่แพ้พวกหนี้นอกระบบเลย เพราะบางเจ้ากินดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมร่วมร้อยละ 60-70 ต่อปี ในขณะที่กฎหมายให้เก็บได้แค่ร้อยละ 15 เท่านั้น

     กว่าชาวประชาชีจะรู้ตัวก็สายเสียแล้วครับ เพราะตกอยู่ภายใต้สัญญาการเงินมหาโหดมาตั้งแต่ปี 2544-2545 เงินได้มาเท่าไหร่ลงหลุมดอกเบี้ยลงหลุมค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน ค่าธรรมเนียมติดตามทวงถามหมดเกลี้ยง ไม่เป็นเงินต้นสักบาท สร้างความร่ำรวยพาเหรดให้กับบรรดานอนแบงค์เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างรวดเร็ว

     ส่วนชาวบ้านประหยัดยังไงก็ช่วยไม่ได้แล้วครับ กลายเป็นว่าเงินที่ใช้ในวันนี้กลายเป็นหนี้และเป็นภาระที่ผลาญเงินในอนาคตอย่างสมบูรณ์แบบ ล้มระเนล้มระนาดกันรอบที่สองกันอย่างรวดเร็ว

     แบงค์ชาติตื่นขึ้นมา แทนที่จะช่วยจัดการปราบปรามการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่อยู่เหนือกฎหมาย กลับออกประกาศมารับรองให้เป็นสถาบันการเงินที่ถูกกฎหมายโดยให้บัตรเครดิตเรียกดอกเบี้ยได้ที่ร้อยละ 20 ส่วนสินเชื่อเรียกดอกเบี้ยได้ร้อยละ 28 โดยไม่รวมบรรดาข้าติดตามทวงถามหรือค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน ปัญหาเรื่องหนี้ที่เกิดจากการหลอกให้ชาวบ้านไปใช้เงินในอนาคตด้วยการรูดปรื๊ด ๆ จึงไม่จบและมีปัญหาการติดตามทวงถามหนี้ที่เลวทรามเกิดขึ้นหลังจากที่ลูกหนี้หมดสายป่านที่จะหมุนหนี้จากบัตรเครดิตต่างๆที่มีอยู่ในมือได้แล้ว

     ที่ผ่านมาจึงมีเสียงร้องเรียนเรื่องการติดตามทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรมเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเต็มกระบุงโกย

กฎหมายทวงหนี้ที่เป็นธรรม สำคัญอย่างไร

     แม้ว่าในการกู้ยืมเจ้าหนี้จะมีสิทธิที่จะติดตามทวงถามหนี้จากลูกหนี้เพื่อให้มาชำระหนี้ได้ แต่ก็ต้องทำด้วยวิธีการที่เหมาะสมและตามสมควร ต้องไม่ใช้วิธีจิกหัวจิกบาล ละเมิด คุกคาม หรือด่าประจานทำให้ลูกหนี้ต้องอับอาย

     แต่ที่เห็นตลอดในช่วงที่ผ่านมาว่า การติดตามทวงถามหนี้ของเจ้าหนี้สินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต หลายราย ยังมีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกหนี้ในหลายลักษณะครับ เช่น

     โทรตามยิกๆ สายว่างเมื่อไหร่เป็นได้เจอมัน กำลังนั่งทำงานอยู่ไม่เป็นต้องได้ทำงานกัน วันหนึ่งมาเป็นสิบๆครั้ง โทรมาบ้างส่งมอเตอร์ไซค์มาบ้าง

     ถ้ามามอเตอร์ไซค์จะไม่มีการแนะนำชื่อเสียงเรียงนามของคนมาทวงหนี้ ไม่มีเอกสารมอบอำนาจ จนต้องหาคำเรียกแทนตามเสื้อผ้าเครื่อนุ่งห่มที่ใส่มาหาลูกหนี้ เช่น “ไอ้พวกหมวกกันน๊อกหรือไม่ก็ไอ้พวกแจ๊คเก็ตดำ”เผลอหยอดจ่ายเงิน 300 บาท 500 บาท ให้คนพวกนี้ไปเงินเป็นหาย

     หรือถ้ามีการแนะนำตัวจะหลอกลูกหนี้หรือคนใกล้ชิดว่าเป็นสารวัตร ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี ทำตัวเหมือนมดเอ๊กซ์ชอบแปลงกาย แต่ก็ได้ผลเพราะลูกหนี้กลัว

     ที่ร้องเรียนเข้ามามากๆ คือ โดนด่า ใช้ภาษาหยาบคาย ข่มขู่ ดูหมิ่น เล่นลูกหนี้ไม่พอยังตามล่อไปถึง พ่อ แม่ ลูก เมีย หรือนายจ้าง หรือเพื่อนร่วมงาน ทำให้ลูกหนี้หลงผิดคิดว่า ตัวเองคืออาชญากรเลวร้ายหรือเป็นคนหน้าด้าน ชอบชักดาบ ใครรู้จักอย่าไปคบ

ใครทนไม่ได้ หรือสงสารลูหนี้ก็เผลอจ่ายหนี้แทนลูกหนี้ไป
     วิธีการเด่นๆเหล่านี้ ผลักดันให้ลูกหนี้แก้ปัญหาหนี้ด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสมและไม่เกิดประโยชน์กับลูกหนี้ เช่น วิ่งไปหมุนเงินจากแหล่งอื่นมาใช้หนี้ หรือใช้วิธีหยอดเงินครั้งละ 100-200 บาท โดยไม่รู้ว่าไม่เป็นเงินต้นเลย หรือหลงไปปรับโครงสร้างหนี้โดยไม่รู้ว่าการปรับโครงสร้างหนี้คืออะไร บางคนตัดสินใจหนีออกจากงาน เลิกกับครอบครัว และที่แย่ที่สุดคือการฆ่าตัวตาย

     ปัญหาสำคัญคือ ปัจจุบันการติดตามทวงถามหนี้ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทำธุรกรรมของผู้ติดตามหนี้ รวมทั้งยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองประชาชนผู้เป็นหนี้ไว้เป็นการเฉพาะ ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะองค์กรกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ให้ความใส่ใจเพียงแค่การแจ้งเป็นแนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้ออกเป็นหนังสือเวียนขอความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจเท่านั้น ซึ่งไม่ค่อยได้ผลสักเท่าไรนักเพราะยังมีการติดตามทวงถามหนี้ที่เป็นการละเมิด คุกคาม และทำให้ลูกหนี้เสื่อมเสียชื่อเสียงอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีบทลงโทษใด ๆ

การผลักดันให้เกิดกฎหมายทวงหนี้ในประเทศไทย
     
ด้วยสภาพปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550 รองศาสตราจารย์ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนั้น ได้ยื่นเสนอ ร่างพระราชบัญญัติการติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ. ... ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ส่วนหนึ่งมาจากการระดมความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งจากตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ และตัวแทนของชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคม อย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสภาทนายความ แต่น่าเสียดายที่ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไปไม่ถึงดวงดาวเนื่องจากมีการยุบสภานิติบัญญัติไปเสียก่อน

     ต่อมาได้มีสัญญาณเล็กๆ เมื่อกระทรวงการคลังหวังสร้างความเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ โดยเฉพาะในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดยจะเสนอ(ร่าง)กฎหมายติดตามทวงถามหนี้ที่เป็นธรรมกับ ครม.นัดพิเศษ ในวันที่ 16 ก.ค.2552 แต่ก็ไม่สำเร็จ

     จนล่าสุดหลังเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็น ธรรม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของสำนักงาน ก.พ. กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

    ทั้งหมดนี้คือที่มาและความคืบหน้าของกฎหมายที่หลายฝ่ายคาดว่าจะสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อีกฉบับหนึ่ง

พิมพ์