วิธีรับมือพวกทวงหนี้จอมโหด

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 64427

 

 

ปัญหาหลักของผู้เป็นหนี้นอกจากต้องหาเงินมาชำระเจ้าหนี้แล้ว ระบบการทวงหนี้ที่ก่อให้เกิดความอับอายก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สร้างความทุกข์ให้กับลูกหนี้   มีทั้งการส่งแฟกซ์มาจะประจานที่ทำงาน หรือโทรศัพท์ไปทวงหนี้ที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งมีการข่มขู่ให้ชำระหนี้โดยเร็ว

การตามทวงหนี้โหด

ทวงแบบไม่สุภาพ พูดเหมือนคุณเป็นขี้ข้าคนทวงหนี้
ทวงไปถึงคนที่มีชื่ออ้างอิงในตอนสมัคร หรือตอนทำสัญญาปรับปรุงหนี้
ทวงไปถึงพ่อแม่ ญาติพี่น้องที่ต่างจังหวัด
ทวงโดยฝากคำพูดกับผู้รับโทรศัพท์เวลาเราไม่อยู่ที่ทำงาน
ส่งแฟกซ์เข้าที่ทำงานประจานให้คนรับแฟกซ์เห็น และส่งวันหนึ่งหลาย ๆ ครั้ง จนคุณถูกเจ้านายเรียกไปตักเตือน
ส่งไปรษณียบัตรไปที่บ้าน
ส่งจดหมายขู่สารพัดจากบริษัททนายตัวแทนสถาบันการเงินต่าง ๆ แม้กระทั้งทำเอกสารเลียนแบบหมายศาล และขู่ว่าจะอายัดเงินเดือน จะถูกดำเนินคดีอย่างร้ายแรงภายใน 3 วัน 7 วัน
ฯลฯ
     ลูกหนี้หลายคนเมื่อถูกกดดันด้วยวิธีเหล่านี้ ก็จะเกิดความเครียดไม่เป็นอันทำการทำงาน บางคนถึงกับคิดสั้นฆ่าตัวตายเพื่อหนีหนี้

ในทางกฎหมายแล้วเมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้เจ้าหนี้ฟ้องเรียกชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยทางศาลได้ เมื่อมีคำพิพากษาแล้วจึงบังคับใช้หนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ แต่การฟ้องร้องอาจล่าช้า มีค่าใช้จ่ายสูง หรือเห็นว่าดอกเบี้ยที่ตนเรียกเก็บอยู่นั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้บริษัทเครดิตสินเชื่อหันไปใช้วิธีการจ้างนักทวงหนี้ทั้งแบบบุคคลหรือสำนักงานกฎหมายเพื่อติดตามทวงหนี้แทน

 

 


การทวงหนี้แบบนี้ ค่าจ้างจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนหนี้ที่ทวงได้ จึงเป็นต้นเหตุให้มีการใช้ทุกวิธี สารพัดรูปแบบทั้งถูกกฎหมายหรือไม่ถูกต้องเพื่อบีบคั้นให้ลูกหนี้จ่ายคืนหนี้ กลายเป็นทุกข์อันดับต้น ๆ ที่ลูกหนี้ประสบอยู่ในปัจจุบัน


การทวงหนี้ที่ใช้พฤติกรรมตัวอย่างเช่น เขียนจดหมายข่มขู่ด้วยวาจาหยาบคายหรือเป็นเท็จ ทำร้ายร่างกาย ด่าทอ กักขัง ทำการรบกวนชีวิตประจำวัน เป็นต้น หากกระทำต่อลูกหนี้หรือสมาชิกในครอบครัว เพื่อน บรรดาผู้ถูกทวงหนี้มีอำนาจแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มคนเหล่านั้นได้ทันที ถ้ามีการทำร้ายบาดเจ็บหรือกักขังหน่วงเหนี่ยว พวกเขาต้องรับโทษอาญาฐานทำร้ายร่างกายหรือทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพอีกคดีหนึ่งด้วย


ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 บัญญัติว่า ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ ยอมให้ หรือ ยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่า จะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือ ของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำผิดฐานกรรโชก มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท


ถ้าความผิดฐานกรรโชกได้กระทำโดย ขู่ว่าจะฆ่า ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายให้ผู้ถูกข่มขืนใจ หรือผู้อื่น ให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือขู่ว่าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น หรือมีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ ผู้กระทำต้องมีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท


ส่วนการส่งคำเตือนเรื่องหนี้ด้วยวิธีก้าวร้าวหรือจงใจประจานทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงด้วยวิธีใดๆ อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ และในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 323 ผู้ใดล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่น แล้วเปิดเผยความลับนั้น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


การกู้เงินเป็นเรื่องส่วนตัว การข่มขู่หรือการนำความลับของลูกหนี้ไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่นจึงเป็นความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา ลูกหนี้ที่เจอกับการทวงหนี้ลักษณะเช่นนี้ให้สอบถามรายละเอียดว่าเจ้าหน้าที่คนนั้นชื่ออะไร ทำงานอยู่ที่บริษัทไหน ขอเบอร์โทรกลับ และแจ้งถึงความผิดที่เขาได้กระทำอยู่และสิทธิของคุณที่จะดำเนินการตามกฎหมาย

วิธีรับมือเมื่อถูกทวงหนี้แบบถ่อย ๆ
เหตุเกิดในช่วงบ่ายวันหนึ่ง ณ โต๊ะทำงานของลูกหนี้(คุณ A) หลังเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น

 

e - bad : สวัสดีครับขอสายคุณ A (เสียงยังเพราะอยู่)
คุณ A : ค่ะกำลังพูด จากไหนคะ
e - bad : จาก e - bad ครับ( ไม่ยอมบอกชื่อ) ไม่ทราบว่าค่างวดเดือนที่แล้วยังไม่ได้ชำระใช่ไหม
พรุ่งนี้ชำระให้ด้วยนะครับ
คุณ A : ยังชำระให้ไม่ได้หรอกค่ะ เอาไว้สิ้นเดือนชำระทีเดียว 2 งวดเลยก็แล้วกัน
e - bad : แค่งวดเดียวยังไม่มีเลยแล้วเดือนหน้าจะมีเหรอ (เริ่มเสียงแข็ง)
คุณ A : ก็เดี๋ยวเดือนหน้าพอเงินเดือนออกจะรีบจ่ายให้เดือนนี้ไม่พอจริง ๆ
e - bad : ก็ไปยืมใครมาก่อนสิ เป็นหนี้ก็ต้องจ่ายจะโกงเหรอ เงินเดือนออกวันไหน
คุณ A : (เงียบ)
e - bad : คุณ A เงียบทำไม เป็นหนี้ เมื่อไหร่จะใช้ …. วันนี้ถ้าไม่จ่าย ผมจะไปพบเจ้านายที่ทำงานคุณ
คุณ A ทำไมไม่พูด ปากอมอะไรไว้เหรอ
คุณ A : เรื่องจดหมาย ทำไมต้องส่งมาที่ทำงานด้วย
e - bad : ทำไมอายหรือ เสียหน้าใช่ไหม แล้ว นางสุชินกับนายสมบูรณ์ (ชื่อพ่อแม่) ทำมาหากินอะไร
ไม่มีปัญญาช่วยลูกใช้หนี้หรือ "
คุณ A : นี่คุณเกี่ยวอะไรกับพ่อ แม่ฉัน ฉันเป็นหนี้ก็คุยกับฉันสิ
e - bad : เอางี้ หน้าตาคงดี เดี๋ยวให้เพื่อนมารับไปกินข้าวแล้วกัน จะได้ มีเงินใช้หนี้นะ
คุณ A : ตู๊ด ด…….

ถ้าคุณเจอเหตุการณ์แบบนี้ จะมีวิธีรับมืออย่างไร
     1. ก่อนอื่น ต้องตั้งสติให้ดี ทำจิตใจให้มั่นคง ว่าคุณเป็นหนี้จริง แต่เขาไม่มีสิทธิมาพูดจาก้าวร้าว หรือข่มขู่ ด้วยวาจาหยาบคาย
     2. สอบถามชื่อ – สกุล ของคนที่เราคุยด้วย พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อ โดยเฉพาะเบอร์ของสำนักงาน เพื่อที่จะได้เป็นหลักฐาน หากมีการพูดจาข่มขู่ หยาบคาย ถ้าเขาไม่แจ้งชื่อ เบอร์โทรศัพท์ คุณก็ไม่ควรที่จะคุยกับเขาต่อไป
     3. หากอ้างว่าเป็นทนายความ สอบถามชื่อ –สกุล และ เลขหมายใบอนุญาตให้เป็นทนายความ เพื่อร้องเรียนสภาทนาย หากมีการประพฤติผิดมารยาททนายความ
     4. เป็นสิทธิของคุณที่จะไม่ตอบคำถาม ที่คุณไม่ต้องการตอบ เขาไม่มีสิทธิบังคับให้คุณพูด
     5. การทวงหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ เช่น พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนร่วมงาน ไม่ว่าด้วยการส่งเอกสารเปิดผนึกโทรศัพท์ หรือส่งแฟกซ์มาที่ทำงาน โทรถือว่าเป็นการประจานลูกหนี้ให้ได้รับความอับอาย เข้าข่ายหมิ่นประมาท สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้
     6. ความผิดอาญาฐานกรรโชกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 บัญญัติว่า ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่า จะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือ ของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำผิดฐานกรรโชก มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท คุณสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้เลย หากการทวงหนี้มีลักษณะเช่นว่านี้
     7. เก็บเอกสารทุกชิ้นที่สำนักงานทวงหนี้ส่งถึงคุณ และหากเป็นไปได้อัดเทปเสียงการสนทนา เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานในการจัดการกับพวกทวงหนี้ที่ละเมิดสิทธิ
     8. หากคุณเป็นหนี้บริษัทสินเชื่อที่คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ร้อยละ 15 ต่อปี อย่ากลัวกับคำขู่ที่ว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดี เพราะหากมีการฟ้องร้องดำเนินคดีจริง ดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 50 –60 อย่างที่โดนขูดรีดอยู่ ศาลถือว่าผิดกฎหมาย เป็นโมฆะ และเป็นเหตุผลว่าทำไม พวกทวงหนี้นี้ถึงเอาแต่ขู่ ไม่ฟ้องศาลดำเนินคดีตามกฎหมายสักที
     9. เปิดใจพูดความจริงให้คนรอบตัวคุณไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ พี่น้อง ภรรยา สามี หรือเจ้านาย เพื่อนร่วมงานทราบถึงสถานการณ์ปัญหาที่แท้จริง เพื่อเตรียมรับมือกับการทวงหนี้แบบโหด ๆ ที่จะเกิดขึ้น
     10. พวกทวงหนี้ ไม่มีสิทธิมาเก็บเงินในที่ทำงานคุณ ถ้าคุณไม่อนุญาต และทางที่ดี คุณควรคุยทำความเข้าใจกับพนักงานรักษาความปลอดภัยในที่ทำงานทราบล่วงหน้า ว่าหากพวกทวงหนี้บุกมาเก็บเงินถึงที่ทำงาน เข้าข่ายความผิดฐานบุกรุก
     11. หากมีโทรศัพท์ทวงหนี้มาที่ทำงาน ให้คุยสั้น ๆ กระชับ โดยย้ำว่าหากไม่หยุดโทรมารบกวนเวลาทำงาน ก็จะไม่ชำระหนี้รายนี้
     12. หากมีการเจรจาตกลงประนอมหนี้ อย่าเพิ่งจ่ายเงิน จนกว่าจะได้รับเอกสารยืนยันข้อตกลงจากเจ้าหนี้ เพราะบางครั้งจ่ายเงินไปแล้ว เจ้าหนี้อ้างว่าไม่รู้เรื่องการประนอมหนี้ดังกล่าว และที่สำคัญควรชำระหนี้โดยโอนเงินเข้าบัญชีของเจ้าหนี้เท่านั้น ไม่ควรชำระเป็นเงินสดให้กับพวกทวงหนี้

     นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิธีรับมือกับการทวงหนี้แบบแย่ ๆ ยังมีคำแนะนำอีกมาก ที่คุณสามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ปัญหาของคุณ
เข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมที่ ชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลค่ะ

 

พิมพ์