ทดสอบระบบลาดเอียงรถโดยสาร 2 ชั้น

มารู้จัก “รถโดยสาร ๒ ชั้น” กันเถอะ

เขียนโดย ศูนย์ข่าวผู้บริโภค วันที่ . จำนวนผู้ชม: 31889

infographic double decker
หลายคนที่ใช้รถใช้ถนนอาจเคยเห็นรถทัวร์หรือรสบัสขนาดใหญ่ ที่มีความสูงมากๆ วิ่งรับส่งผู้โดยสารทั้งแบบประจำทางและไม่ประจำทาง หรือที่เราเรียกกันว่า “รถโดยสาร ๒ ชั้น”
วันนี้ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ได้รวบรวมข้อมูลเรื่องรถโดยสาร ๒ ชั้นในประเทศไทย มาให้อ่านกัน



“รถโดยสาร ๒ ชั้น” ทั้งแบบประจำทาง และไม่ประจำทาง ถือเป็นรถมาตรฐาน ๔ ตามพระราชบัญญัติกรมการขนส่งทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ คือ มีห้องผู้โดยสารทั้งชั้นล่างและชั้นบน โดยพื้นห้องโดยสารทั้ง ๒ ชั้น แยกจากfกันโดยเด็ดขาด มีทางขึ้นลงชั้นล่างอยู่ด้านข้าง และมีทางขึ้นลงชั้นบนอยู่ภายในตัวรถ อย่างน้อย ๑ ทาง ส่วนความสูงนั้น เมื่อวัดจากพื้นถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถ จะต้องไม่เกิน ๔.๓ เมตร ส่วนความยาวต้องไม่เกิน ๑๒ เมตร ขณะที่ความกว้าง จะต้องไม่เกิน ๒.๕๕ เมตร

รถโดยสาร ๒ ชั้น ที่วิ่งอยู่ในเมืองไทยนั้น จากข้อมูลจำนวนรถที่จดทะเบียนสะสมกับกรมการขนส่งทางบก จนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ มีทั้งสิ้นจำนวน ๗,๑๑๘ คัน และจากข้อมูลการออกแบบและพัฒนามาตรฐานการผลิตรถโดยสาร ๒ ชั้น (มาตรฐาน ๔) ของศักรินทร์ ชูดวง ในปี ๒๕๔๙ นั้นพบว่า กว่าร้อยละ ๘๐ เป็นรถที่ประกอบขึ้นเองในประเทศ เนื่องจากราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศถึงร้อยละ ๕๐ แต่การผลิตไม่ได้คำนึงถึงการวิเคราะห์ทางวิศวกรรม ทั้งที่มีความจำเป็นอย่างมาก จึงส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อการใช้งานเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ รถโดยสารที่ผลิตอยู่ในปัจจุบันนั้น ยังไม่มีแบบมาตรฐานที่ใช้ในการผลิต มาตรฐานในการประกอบการคิดคำนวณความแข็งแรงของโครงคัซซี (Chassis) จุดศูนย์ถ่วงและการทรงตัวของรถ รวมถึงความสามารถในการรับน้ำหนัก ซึ่งปัจจุบันใช้เพียงความชำนาญของช่างผู้ผลิต ที่ใช้ประสบการณ์ แต่ยังขาดความรู้ที่แท้จริง คือ ผู้ประกอบการแต่ละราย อาจออกแบบโครงสร้างของรถ ที่มีความแข็งแรงไม่เท่ากัน แต่ต้องรับภาระ เช่น น้ำหนักบรรทุกเท่ากัน เป็นต้น อันนำมาสู่ความไม่ปลอดภัยในการใช้งานในสภาพต่างๆ ได้

สอดคล้องกับข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อปี ๒๕๕๖ พบว่า
ตัวโครงสร้างรถ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น รถตกไหล่ทางหรือตกเขามีการพลิกคว่ำ ส่วนใหญ่โครงสร้างรถจะยุบตัว โดยเฉพาะรถ ๒ ชั้น ชั้นบนจะหายออกไปเลย ทำให้ผู้โดยสารที่นั่งอยู่ชั้นบนต้องเผชิญอันตราย เพราะไม่มีอะไรไปปกปิด ดังนั้น จุดเชื่อมต่อของเหล็ก ต้องแข็งแรงเพียงพอ

ทีดีอาร์ไอ ยังเสนอด้วยว่า ควรมีการทดสอบพื้นเอียง สำหรับรถโดยสาร ๒ ชั้น หรือรถที่มีความสูง ๓.๖๐ เมตรขึ้นไป เพื่อดูว่าระดับความเอียงที่ ๓๐ องศา รถจะยังทรงตัวอยู่ได้หรือไม่ เป็นการเทียบเคียงการเข้าโค้งด้วยความเร็ว หากรถล้มในระดับความเอียง ๒๔ – ๒๕ องศา โอกาสแหกโค้งจะค่อนข้างสูง ถือว่าไม่ผ่านการทดสอบ แต่หากล้มที่ ๒๘ – ๒๙ องศา กรมการขนส่งทางบกจะให้ผู้ประกอบการนำกลับไปปรับปรุงช่วงล่างใหม่

“แนวคิดยกเลิกรถโดยสารสาธารณะ ๒ ชั้น ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะในต่างประเทศ รถ ๒ ชั้น จะใช้วิ่งนำเที่ยวในตัวเมืองเท่านั้น เพราะความสูงของรถไม่เหมาะที่จะนำไปวิ่งลัดเลาะทางลาดชัน แต่ในไทยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ มักใช้รถ ๒ ชั้น เพราะจุคนได้เยอะกว่า ตรงนี้ถือเป็นความเสี่ยง ดังนั้นหากเลือกได้แนะนำว่าควรเลือกโดยสารรถชั้นเดียว” สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม ทีดีอาร์ไอ ให้ความเห็น

ในตอนหน้า เรามาลองดูว่า การทดสอบการลาดเอียงของรถโดยสารสาธารณะนั้นเป็นอย่างไร

พิมพ์