สวัสดีครับ.....ท่านผู้อ่านทุก ๆ ท่าน
วันนี้ในคอลัมภ์รู้ไว้ใช้สิทธิ จะขอนำเรื่องที่มีความสำคัญอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับผู้บริโภคมานำเสนอ เรื่องนั้นก็คือ การซื้อรถยนต์ป้ายแดงและเกิดมีปัญหาชำรุดบกพร่อง ซึ่งท่านควรทราบถึงการใช้สิทธิในการเรียกร้องความเป็นธรรมกลับคืนมา
สภาพปัญหาที่พบ อาจแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ
1. ปัญหาในส่วนของการซื้อและโอนสินค้า เช่น การจ่ายเงินผ่อนซื้อรถยนต์จนครบจำนวนแต่ไฟแนนซ์ไม่ยอมโอนรถให้ตรมสัญญา อาจมีเหตุเช่น ผู้ซื้อมีประวัติค้างค่างวด หากจะให้โอนต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มย้อนหลัง
2. ปัญหาในส่วนของคุณภาพสินค้า มีปัญหาตั้งแต่เริ่มสตาร์ท ปัญหาระยะรถป้ายแดงเพียงเริ่มใช้งานวันแรก ๆ เช่นปัญหาเกียร์ เสียงดังช่วงล่าง
ปฎิกิริยาจากผู้ผลิตหรือจำหน่าย เมื่อพบว่าสินค้าหรือบริการที่จำหน่ายมีปัญหา
1. ไม่ยอมรับผิดจนกว่าจะมีข้อเท็จจริงพิสูจน์ให้ต้องยอมจำนน
2. แม้ผู้จำหน่ายจะยอมรับว่า สินค้าที่ขายไปนั้นชำรุดจริง โดยส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะถูกโยนภาระให้รับผิดชอบสินค้าที่ชำรุดนั้นเอง
3. ในกรณีที่ผู้บริโภคต้องการขอคืนสินค้า ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายต่างยืนกรานไม่ยอม และมีการต่อรองในการที่จะซ่อมแซมสินค้าที่ชำรุดนั้นแทน ทำให้ผู้บริโภคต้องทนและเสี่ยงใชรถยนต์โดยไม่มีคุณภาพตามที่โฆษณาหรือมาตรฐานตามที่ควรเป็น ซึ่งพบว่าผู้บริโภคบางรายต้องนำรถยนต์ที่ชำรุดเข้าออกอู่ซ่อมเพื่อแก้ไขปัญหานั้นนับ 10 ครั้ง
สภาพปัญหาคุณภาพของรถยนต์นำมาสู่ความทุกข์ของผู้บริโภคในหลายด้าน ได้แก่
1. เสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากสภาพรถยนต์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งทำให้ผู้บริโภคอาจได้รับบาดเจ็บหรือถึงขั้นเสียชีวิต
2. เกิดภาระทางด้านเวลาและค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถยนต์ที่ชำรุด โดยมีหลายกรณีพบว่ามีการชำรุดถาวร ไม่สามารถซ่อมแซมเพื่อให้หายเป็นปกติได้ ผู้บริโภคต้องรับภาระทั้งด้านค่าใช้จ่ายในการซ่อม และการเสียเวลานำรถเข้าอู่ซ่อมจนเป็นกิจวัตร
3. เกิดภาระในการติดตามทวงสิทธิ การพิสูจน์ความบกพร่อง โดยที่มีการเสียเปรียบด้านข้อมูล เช่น หลังจากซื้อรถแล้วพบว่าคุณภาพของสินค้ามีปัญหาหรือไม่เป็นไปตามคำโฆษณาหรือข้อมูลที่ได้รับการซื้อ ผู้บริโภคย่อมตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบผู้ผลิตหรือจำหน่ายอย่างเห็นได้ชัด เพราะผู้ซื้อไม่มีความชำนาญในการวินิจฉัยอาการผิดปกติ หรือ ชำรุด ในแต่ละกรณี ยิ่งไปกว่านั้นข้อเสนอของผู้บริโภคที่ประสบปัญหารถยนต์ไม่ได้คุณภาพตามข้อตกลง และให้ทางผู้ผลิตหรือจำหน่ายเปลี่ยนรถคันใหม่หรือคืนเงินนั้นย่อมเป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้นจริง
วิธีที่ผู้บริโภคควรใช้สิทธิเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรม มีดังนี้
1. ทำจดหมายหรือหนังสือถึงคู่กรณี เป็นแบบไปรษณีย์ตอบรับ เพื่อให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายทำการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค ซึ่งอาจจะให้ทางบริษัทซ่อมในเบื้องต้นให้ก่อนแต่ถ้าซ่อมแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่หายเป็นปกติ ทางบริษัทจะต้องเปลี่ยนรถคันใหม่หรือซื้อรถคืนให้กับผู้บริโภค
2. มีการนัดประชุมเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อหาข้อยุติในการแก้ปัญหา
3. ฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค ถ้าผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายยังยืนยันที่จะไม่รับผิดชอบ ถึงแม้ผู้บริโภคจะให้ซ่อมแล้ว แต่การซ่อมก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้รถยนต์เป็นปกติได้ เพราะฉะนั้นผู้บริโภคควรต้องให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งข้อกฎหมายที่จะต่อสู้เป็นไปตามมาตรา 472 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ขายนั้นเกิดการชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคา หรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด ความที่กล่าวในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ทั้งผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องนั้นมีอยู่ และอีกประเด็นหนึ่งในส่วนของกฎหมายเช่าซื้อ ซึ่งผู้ให้เช่าซื้อจะต้องส่งมอบรถในสภาพที่สมบูรณ์หรือใช้งานได้เป็นปกติแก่ผู้เช่าซื้อ