[รู้ไว้.. ใช้สิทธิ์] ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายศาล จากการผิดนัดชำระหนี้

เขียนโดย ชูชาติ คงครองธรรม วันที่ . จำนวนผู้ชม: 175755

 know your rights fin 100663001 cover

          เมื่อท่านหรือลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ สิ่งที่จะต้องพบเป็นอันดับแรกก็คือ การทวงหนี้ ซึ่งอาจจะเป็นการทวงหนี้จากเจ้าหนี้เดิมหรือจากสำนักงานกฎหมายที่ซื้อหนี้เสียมา ในการทวงหนี้นั้นเจ้าหนี้จะพยายามกดดันทุกวิถีทางเพื่อให้ท่านหรือลูกหนี้ทั้งหลายเปิดกระเป๋านำเงินมาชำระหนี้ให้ได้ โดยใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ มี การเสนอเงื่อนไข เช่น ให้ชำระขั้นต่ำ ให้ปรับโครงสร้างหนี้ ให้ปิดหนี้ด้วยเงินก้อนเดียวโดยการต่อรองลดยอดหนี้ลงมาได้ และเมื่อมีการเสนอเงื่อนไขสักระยะหนึ่งแต่ท่านหรือลูกหนี้ยังไม่ยอมที่จะชำระหนี้อีก เจ้าหนี้ก็จะนำเรื่องฟ้องศาลเป็นขั้นตอนต่อไป

เมื่อท่านได้รับหมายศาลสิ่งแรกที่ท่านจะต้องปฏิบัติก็คือ

          1. ตั้งสติให้ดี อย่าตกใจหรือตื่นเต้นเมื่อได้เห็นหมายศาล คดีเรื่องหนี้เป็นคดีทางแพ่งไม่ติดคุก

          2. อ่านคำฟ้องโดยละเอียด ตรวจสอบดูว่าคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น จำนวนเงิน อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ถูกต้องตามสัญญาหรือไม่เพียงใด คดีที่ฟ้องขาดอายุความหรือไม่ เช่น บัตรเครดิตอายุความไม่เกิน 2 ปี สินเชื่อส่วนบุคคล 5 ปี และ การกู้ยืมเงินทั่วไป 10 ปี   นับจากวันที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ครั้งสุดท้าย หากมีข้อต่อสู้ให้นำเอกสารที่เกี่ยวข้องไปพบเจ้าหน้าที่ศาล เพื่อช่วยเขียนคำให้การสู้คดี

          3. ไปศาลตามกำหนดนัดในคำฟ้อง และควรไปก่อนเวลานัด อย่าไปกระชั้นชิดหรือตรงเวลา ควรไปถึงศาลก่อน อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เพื่อจะได้ตรวจสอบและเตรียมเอกสารให้เรียบร้อย

 know your rights fin 100663001 01

คำถามที่ถามกันมาเป็นส่วนมากในเรื่องการได้รับหมายศาล มีดังนี้

1)  เมื่อลูกหนี้ได้รับหมายศาลจะต้องทำอย่างไร เนื่องจากลูกหนี้ไม่เคยขึ้นศาลมาก่อน และไม่มีความรู้ทางกฎหมาย ?

ตอบ  การไปศาล เป็นการแสดงเจตนาของลูกหนี้ว่าไม่ได้หลบหนี้ และยังสามารถแจ้งต่อผู้พิพากษาในบัลลังก์ได้ ถึงเหตุจำเป็นที่หยุดชำระหนี้ หรือหากลูกหนี้มีเงินที่จะชำระหนี้ ก็สามารถเจรจาต่อรองการชำระหนี้ได้


2)  ลูกหนี้ไปถึงศาลควรทำอย่างไร ?

ตอบ  ลูกหนี้ที่ไปศาลจึงควร ไปแสดงตนว่ามาศาลต่อเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ และผู้พิพากษาในบัลลังก์ เพื่อให้เป็นคนกลางในการเจรจาหรือแจ้งให้ศาลพิพากษาหากไม่สามารถชำระหนี้ได้ เพราะการให้ศาลพิพากษากรณีที่ไม่สามารถเจรจาได้ ศาลจะตรวจสอบเรื่องดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่ไม่เป็นธรรม


3)  ควรเชื่อทนายโจทก์หรือไม่ หากทนายโจทก์บอกว่าไม่มีเงินก็กลับบ้านได้เลย ไม่ต้องรอ ?

ตอบ   ลูกหนี้ก็ต้องระมัดระวัง เพราะลูกหนี้ที่ไม่มีเงินชำระหนี้ มักจะเจอทนายโจทก์หลอกให้ทำสัญญาประนอมหนี้ หรือหลอกให้กลับบ้าน โดยไม่ได้พบผู้พิพากษาโดยทนายโจทก์จะแจ้งต่อศาลว่าลูกหนี้ขาดนัด


4)  ถ้าลูกหนี้ได้รับหมายศาลแล้วไม่ไปศาลตามหมายนัดจะมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ ?

ตอบ  ถ้าลูกหนี้ไม่ได้ไปศาลตามหมายนัดไม่มีความผิดในด้านกฎหมาย เนื่องจากเป็นคดีแพ่ง ไม่ติดคุก ถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาและไม่ต่อสู้คดี ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เท่านั้น การที่ไม่ได้ไปศาลจะเสียสิทธิในการต่อสู้และต่อรองกับเจ้าหนี้


know your rights fin 100663001 02

 5)  ถ้าลูกหนี้ไม่ได้ไปศาลและศาลได้มีคำพิพากษามาแล้วจะขอผ่อนกับเจ้าหนี้ได้อีกครั้งไหม ?

ตอบ  ในแนวปฏิบัติ คำพิพากษาของศาลจะให้ลูกหนี้ชำระเงินต้น พร้อมดอกเบี้ย เป็นเงินก้อน   หากลูกหนี้ประสงค์จะขอผ่อนชำระ สามารถทำได้ขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้จะยินยอมหรือไม่


6)  เมื่อถูกฟ้อง คนที่มีทรัพย์สิน และไม่ต้องการให้ทรัพย์สินโดนบังคับคดีจะต้องทำอย่างไร ?

ตอบ  ถ้าได้รับหมายศาลแล้วลูกหนี้ต้องไปศาลตามหมายนัดห้ามขาดนัดอย่างเด็ดขาด ควรแจ้งเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ ว่ามาศาล แล้วจึงค่อยเจรจากับทนายโจทก์ ซึ่งลูกหนี้ควรมีตัวเลข จำนวนเงินในการประนอมหนี้อยู่ในใจแล้วจึงค่อยต่อรองกับทนายโจทก์ ถ้าตกลงกันได้ก็ทำสัญญาประนีประนอม ผ่อนชำระกันไปตามที่ตกลงกัน ตราบใดที่ยังคงชำระหนี้อย่างต่อเนื่องก็จะไม่มีการบังคับคดีเกิดขึ้น แต่ถ้าผิดนัดลูกหนี้จะถูกบังคับคดีโดยที่ไม่ต้องฟ้องใหม่ เพราะฉะนั้นการประนอมหนี้ควรคิดให้รอบคอบเพราะอาจเกิดความเสียหายได้


7)  ลูกหนี้จะถูกบังคับคดีอายัดทรัพย์และยึดทรัพย์ภายในกี่ปี ?

ตอบ  เจ้าหนี้จะยึดหรืออายัดทรัพย์ได้ 10 ปีนับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคดีในชั้นที่สุด ดังนั้นหากลูกหนี้ไม่ได้ไปศาลควรไปขอคัดคำพิพากษา เพื่อจะได้ทราบถึงอายุความที่เจ้าหนี้บังคับคดีได้ และสิทธิในการบังคับคดีกรณีลูกหนี้มีเงินเดือนและมีทรัพย์สิน


8)  การบังคับคดีอายัดทรัพย์และยึดทรัพย์มีหลักเกณฑ์อย่างไร ?

ตอบ  การยึดทรัพย์ของลูกหนี้ การยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ ที่จำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิต เกิน 20,000 บาท การยึดทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบอาชีพ เกิน 100,000 บาท

          การอายัดทรัพย์ เงินเดือน โดยต้องมีเงินเหลือให้ลูกหนี้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาท เงินตอบแทนกรณีออกจากงาน ในส่วนที่เกินกว่า 300,000 บาท เงินฝากในบัญชีธนาคาร เงินปันผลหุ้น เงินเฉลี่ยคืน เงินลงหุ้น(สหกรณ์ออมทรัพย์) ค่าเช่าบ้าน เช่าทรัพย์

know your rights fin 100663001 03

บทความโดย ชูชาติ คงครองธรรม
ขอคำปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
โทร. 02 248 3737 อีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

พิมพ์