[ รู้ไว้.. ใช้สิทธิ์ ] ทำอย่างไร เมื่อบัตรเครดิตหาย - ถูกขโมยใช้จ่ายออนไลน์

เขียนโดย ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค วันที่ . จำนวนผู้ชม: 19851

 know your rights 04052020 001

บัตรเครดิตเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้คนจำนวนไม่น้อย ด้วยวงเงินเครดิตที่สามารถใช้แทนเงินสดได้เกือบทั่วโลก ทั้งยังสามารถใช้ผ่อนชำระสินค้าหรือบริการแบบรายเดือน โดยปลอดดอกเบี้ยนานสูงสุดถึง 10 เดือน หรือใช้จ่ายค่าสินค้าออนไลน์ก็ง่าย ยังไม่รวมสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น เครดิตเงินคืน ส่วนลด รวมไปถึงโปรโมชั่นต่างๆ อีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม แม้บัตรเครดิตจะเพิ่มอำนาจการจับจ่ายใช้สอยและความสะดวกสบายให้ผู้เป็นเจ้าของ แต่หากใช้อย่างไม่ระมัดระวัง หรือ ขาดวินัยทางการเงิน ก็อาจหลุดเข้าสู่วงจรหนี้ได้ง่ายๆ นอกเหนือจากภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องควบคุมดูแลแล้ว ความปลอดภัยในการใช้ โดยเฉพาะบัตรเครดิตที่มีวงเงินสูงๆ หากสูญหาย หรือ อยู่ดีๆ ก็ถูกขโมยใช้ซื้อของออนไลน์ ทั้งๆ ที่บัตรก็ยังอยู่กับตัว หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดแบบนี้ ผู้บริโภคทราบหรือไม่ว่า ต้องทำอย่างไร

 

know your rights 04052020 003

การจัดการปัญหาเบื้องต้น

หากผู้บริโภคทำบัตรเครดิตหาย หรือ ถูกขโมย หรือ ถูกนำเลขบัตรเครดิตไปใช้ สามารถจัดการปัญหาเบื้องต้นได้ดังนี้

     1. แจ้งอายัดบัตรเครดิตทันทีเมื่อรู้ตัวว่าบัตรหาย โดยสามารถแจ้งผ่านคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) ของธนาคารหรือสถาบันการเงินเจ้าของบัตร ซึ่งเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์จะส่งแบบฟอร์มเอกสารร้องเรียนและปฏิเสธการจ่ายให้กรอกข้อมูล ให้ผู้บริโภครีบดำเนินการทันที

     (ปัจจุบันแอปพลิเคชันบัตรเครดิตของสถาบันการเงินบางแห่ง มีตัวเลือกให้ผู้บริโภคสามารถระงับการใช้งานบัตรชั่วคราวเองได้ (Lock & Unlock Credit Card) หากเป็นทางเลือกที่ง่ายและรวดเร็ว ผู้บริโภคอาจเลือกระงับการใช้งานบัตรผ่านแอปฯ ก่อน แล้วจึงโทรแจ้งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อจำกัดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกขโมยใช้งาน)

     2. แจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าบัตรเครดิตหาย หายเมื่อไหร่ หายที่ไหน

     3. ตรวจสอบรายการเรียกเก็บเงินในใบแจ้งหนี้ ว่ามีรายการธุรกรรมที่ผู้บริโภคไม่ได้เป็นผู้ใช้หรือไม่ ถ้าไม่มีการเรียกเก็บเงิน เรื่องยุติ แต่ถ้ามีการเรียกเก็บเงินรายการแปลกๆ ให้ผู้บริโภคดำเนินการดังต่อไปนี้

3.1) ทำหนังสือปฏิเสธรายการเรียกเก็บเงินที่ผู้บริโภคไม่ได้ใช้ และแนบสำเนาใบลงบันทึกประจำวัน ส่งไปยังธนาคารหรือสถาบันการเงินเจ้าของบัตร ณ สำนักงานใหญ่ โดยส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ถึง ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือ ตำแหน่งอื่นๆ ที่เทียบเท่า

3.2) เก็บเอกสารทั้งหมดไว้เป็นหลักฐาน

3.3) ชำระหนี้บัตรเครดิตตามรายการที่ได้ใช้จ่ายจริง ยกเว้นหนี้ที่เกิดจากบัตรสูญหายหรือถูกขโมย เช่น ผู้บริโภคใช้บัตรเครดิตตามจริง 5,000 บาท แต่ถูกขโมยใช้ 10,000 บาท ก็ชำระหนี้ในส่วนที่ผู้บริโภคใช้จริง คือ 5,000 บาท

3.4) ทุกครั้งที่ธนาคารแจ้งให้ชำระหนี้รายการที่ไม่ได้ใช้งานจริง ให้ทำหนังสือแจ้งปฏิเสธรายการที่ไม่ได้ใช้ทุกครั้ง

3.5) ถ้าถูกฟ้องคดี ต้องสู้คดี ให้เตรียมตัวในการสู้คดีด้วย อย่าละเลยหรือปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจมีคำพิพากษาให้ท่านชำระเงินได้ หากท่านไม่สู้คดี

 

เอกสารที่ต้องเก็บเป็นหลักฐาน

1. สำเนาหนังสือปฏิเสธรายการใช้บัตรเครดิต หรือ หนังสือทักท้วงการใช้บัตรเครดิต
2. สำเนาภาพถ่ายบัตรเครดิตใบที่เกิดปัญหา (ถ้ามี)
3. ใบแจ้งหนี้บัตรเครดิต (ถ้ามี)
4. ใบไปรษณีย์ตอบรับ
5. เอกสารที่ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน

 know your rights 04052020 002

9 เทคนิคใช้บัตรเครดิตให้ปลอดภัย

1) บันทึกเบอร์ Call Center แจ้งอายัดบัตรเครดิตเอาไว้ในโทรศัพท์ หรือ จดไว้ในที่ค้นหาง่าย

2) อย่าปล่อยให้บัตรคลาดสายตา หากต้องส่งบัตรเครดิตให้พนักงานจ่ายค่าสินค้า

3) ใช้สติ๊กเกอร์ปิดทับเลขรหัส 3 ตัว หลังบัตร (CVV Number) (ควรปิดให้แน่นหนา เพื่อไม่ให้สติ๊กเกอร์เข้าไปติดในเครื่องรูดบัตร) หรือ หากท่านไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายออนไลน์ให้ขูดเลขรหัสทิ้ง

4) ไม่ควรเปิดเผยชุดตัวเลขหน้าบัตร และ รหัส CVV ให้บุคคลอื่นทราบ โดยไม่จำเป็น

5) หากต้องใช้บัตรฯ ชำระค่าสินค้าหรือบริการออนไลน์ ควรทำรายการด้วยตนเอง

6) เลือกทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านบัตรฯ กับ เว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือเท่านั้น เช่น เว็บไซต์ที่มีการใช้รหัสผ่านครั้งเดียว OTP (One-Time Password) ในขั้นตอนการชำระเงิน

7) ควรเลือกบัตรเครดิตใบใดใบหนึ่งไว้สำหรับใช้จ่ายออนไลน์เพียงใบเดียว และควรเป็นใบที่มีวงเงินเครดิตน้อยที่สุด

8) สมัครรับบริการแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อมีการใช้บัตร เช่น SMS , Line connect หรือ ติดตั้งแอปพลิเคชั่นจากสถาบันการเงินเจ้าของบัตรเครดิต ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการแจ้งเตือนทันทีเมื่อมีการใช้งานบัตรเครดิต รวมถึงสมัครบริการ Verified by Visa (สำหรับบัตรเครดิตวีซ่า) หรือ MasterCard SecureCode (สำหรับบัตรเครดิตมาสเตอร์การ์ด)

9) ตรวจสอบใบแจ้งหนี้ก่อนชำระหนี้ทุกครั้ง หากมีรายการเรียกเก็บที่ไม่ได้ใช้ ต้องรีบแจ้งกับบริษัทบัตรเครดิตทันที


ทั้งนี้ หากท่านได้รับจดหมายทวงถามหนี้ หรือ ถูกฟ้องคดี ให้รีบติดต่อมาขอคำแนะนำในการแก้ไขปัญหา โปรดอย่าปล่อยเอาไว้จนใกล้ถึงวันขึ้นศาล เพราะหากยิ่งปล่อยเอาไว้นาน ปัญหาก็อาจแก้ไขยากมากขึ้น


ขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
โทร. 02 248 3737, 089 788 9152
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

พิมพ์