ต้นทุนชีวิตของคนอายุยืน

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 5701

ใครก็อยากมีอายุยืน ยิ่งการแพทย์ก้าวหน้าขึ้น และระบบสาธารณสุขถ้วนหน้าขึ้น อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโลกยิ่งมากขึ้น 

คุณพร้อมหรือยังที่จะมีอายุเกิน 100 ปี 

รายงาน CIA World Factbook ของสหรัฐปี 2553 ประเมินอายุเฉลี่ยของคนไทยไว้ที่ 72.55 ปี โดยเพศชายมีอายุเฉลี่ย 70.24 ปี เพศหญิงเฉลี่ย 74.98 ปี ผู้สูงอายุเหล่านี้จำนวนไม่น้อยสามารถดูแลตัวเอง และยังปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ได้ไม่ต่างคนวัยอื่น 

แต่ชีวิตที่ยืนยาวยังมีต้นทุนที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับสุขภาวะของชีวิตปัจฉิมวัย สมบูรณ์ รวยโชค อดีตข้าราชการครูซี 7 วัย 56 ปี เป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้สูงอายุที่แบกรับต้นทุนอายุยืน 

"เคยคิดว่าอาจจะตายเมื่ออายุ 50 ปี เพราะว่ามีโรคเยอะ สิงหาคมนี่ก็จะครบ 56 ปีแล้ว ก็อย่างว่า คนไม่ถึงที่ตายก็ไม่ตาย” ครูเรือจ้างที่เลิกพายเรือก่อนวัยเกษียณบอกด้วยน้ำเสียงครึกครื้นเหมือนไม่ยี่หระต่อสารพัดโรคประจำทั้งเบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง พาร์กินสัน และเป็นเหตุให้เขาตัดสินใจเข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด 

ครูสมบูรณ์ได้รับบำนาญเดือนละ 19,000 บาท ดูแล้วน่าจะเพียงพอกับการดำเนินชีวิตตามประสาคนโสด ไม่ต้องแบกรับภาระการเลี้ยงดูใคร แค่จ่ายค่าคอนโด ค่ากินอยู่แต่ละมื้อตามปกติ 

แต่ถ้าเป็นคนสามัญที่ไม่มีบำนาญและเงินเก็บ เขาอาจตายไปแล้วหลายปี เพราะแต่ละเดือนค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลตกร่วม 26,000 บาท ไม่รวมค่ารถ ไปหาหมอแต่ละครั้ง 

"เป็นคนอื่นตายล่วงหน้าแล้วแหละพอรู้ว่าเป็นโรคเยอะขนาดนี้ก็ตายแล้ว... ยิ่งถ้ารู้ค่ายาคงแทบอยากฆ่าตัวตายไปเลย โชคดีที่ผมใช้สิทธิ์ข้าราชการเบิกค่ายาได้ " ลุงสมบูรณ์ เปลี่ยนน้ำเสียงขรึมขึ้นทันที 

แต่ละวัน เขาต้องกินยาสารพัดเริ่มต้นจากยาเบาหวาน มียา 3 ตัวหลักๆ ได้แก่ ยา ACTOS กิน 1 เม็ดหลังอาหารเช้า ตัวที่สอง Clucophang กินหลังอาหารเช้า กลางวัน และเย็น ครั้งละ 1 เม็ด และตัวที่สาม Minidiab กินก่อนอาหารเช้า 2 เม็ด ก่อนอาหารเย็น 2 เม็ด 

ตามด้วยยาลดความดันที่มีชื่อว่า Diovan ที่ต้องกินตอนเช้าวันละ 1 เม็ด ขณะที่ยาลดไขมัน มี 2 ตัว ด้วยกันโดยตัวแรกชื่อ Supralip กินหลังอาหารเช้า 1 เม็ด ส่วนตัวที่สอง Zimex กินหลังอาหารเย็นวันละ 1 เม็ด แต่ยา 2 ตัวนี้ห้ามกินพร้อมกัน เพราะทำให้ไตวายได้ เขาจึงต้องระวังเป็นพิเศษ 

ยังมียารักษาโรคพาร์กินสันทั้งหมด 5 รายการ ตัวแรกยา คือ Stalevo ต้องกินทุกวัน เริ่มตั้งแต่ 7 โมงเช้า 11 โมงเช้า 4 โมงเย็น และ 2 ทุ่ม ตัวที่สอง Sifrol กินเวลาเดียวกันกับตัวแรกแต่กินครั้งละเศษ 3 ส่วน 4 เม็ด ตัวที่สาม Molax -M กิน 4 เวลา ครั้งละ 1 เม็ด ก่อนอาหารตัวที่สี่ Prenarpil ให้กินเวลาฝันร้ายวันละ 1 ครั้งก่อนนอน ตัวสุดท้ายตัวที่ห้า Madopar กินก่อนนอนวันละเม็ด 

" ผมรู้สึกงง และเบื่อมาก บางทีก็กินถูกกินผิด กินแล้วนึกว่าไม่กิน เลยกินซ้ำไปอีก สุดท้ายต้องหาซื้อกล่องใส่ยาที่เป็นช่องมาจัดยาไว้เพื่อให้ไม่กินซ้ำ แต่ไม่รู้เหมือนกัน ว่ายังกินผิดอยู่หรือเปล่า บางครั้งมันเบลอ" เสียงลุงสมบูรณ์เริ่มเนือยลงเหมือนจะหมดแรงระหว่างเล่า 

อดีตครูวิทยาศาสตร์รวบรวมพลังอธิบายต่อไปว่า เหตุที่เขาต้องกินยาหลายขนานเพราะยาบางชนิดเมื่อใช้ร่วมกันอาจเกิดอันตรายได้ หรืออาจทำให้ผลการรักษาลดลง แต่บางชนิดใช้ด้วยกันแล้วทำให้ผลการรักษาดีขึ้น การใช้ยาร่วมกันเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจว่ายาแต่ละชนิดมีผลกระทบกันหรือไม่ 

เขายกตัวอย่างยา Molax -M มีคุณสมบัติช่วยให้ดูดซึม Stalevoและ Sifrol รวมทั้งแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนจากการแพ้ Sifrol ส่วนอาการฝันร้ายที่มีผลจาก Sifrol เลยต้องกินยา Prenarpil 

เช่นเดียวกับ สมถวิล โคกสูงเนิน อดีตข้าราชการกระทรวงยุติธรรม วัย 67 ปี ที่แต่ละวันต้องมีกินยารักษาโรคหัวใจ กระดูกพรุน ตั้งแต่เช้าจรดเย็น 

"ตื่นมาแปรงฟันล้างหน้าเสร็จกินแคลเซียมละลายน้ำ 1 ซองก่อนทานข้าวหลังทานข้าวเสร็จกินยาความดัน 1 เม็ด ยา Herbesser ครึ่งเม็ด Plavix 1 เม็ด กลางวันกินยาหลังอาหาร แคลเซียม 1 เม็ด ยา Herbesser ครึ่งเม็ด ตกเย็นกินยา Zocor ลดไขมัน ครึ่งเม็ด Herbesser ครึ่งเม็ด และวิตามินบี 3 อีก 1 เม็ด แต่ถ้าเกิดปวดจะต้องกินยา Ultracet แก้ปวด " 

ยังไม่หมด คุณยายต้องกิน Fosamax เพื่อรักษาโรคกระดูกพรุนสัปดาห์ละครั้งก่อนอาหารเช้าครึ่งชั่วโมง ระหว่างนั้นต้องนั่งอยู่เฉยๆ เพราะจะมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ 

" ทุกครั้งที่หาหมอไปรับยาเหมือนไปชอปปิ้ง เคยลองคำนวณค่ายา ต่อเดือนตก 10,000 บาท มีรายได้จากบำนาญเดือนละ 14,000 บาท ถ้าเป็นพนักงานบริษัทแย่ไปแล้ว เพราะเบิกไม่ได้ก็เคยคิดว่า เรายังโชคดีนะที่มียากิน แต่ก็ไม่ได้อยากกินเลย " 

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการ วิจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา อธิบายถึง ปัญหาดังกล่าวว่า มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะมีโรคประจำตัวหลายโรค ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังต้องกินยาตลอดชีวิต เช่น โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท แถมบางโรคมียาหลายขนาน 

ยาแต่ละตัวมีฤทธิ์เสริมกัน การได้รับยาที่มากกว่า 1 ขนานอาจเกิดปัญหา ”ยาตีกัน” (อันตรกิริยาของยา) บางครั้งการให้รับประทานก่อนหรือหลังอาหารแยกจากกัน ก็มีจุดมุ่งหมายป้องกันไม่ให้ยาตีกัน ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรที่จะรับประทานให้ถูกต้องเพื่อผลการรักษาที่ดีและลดอาการอันไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ยาลดไขมัน Supralip กับ Zimex ห้ามกินพร้อมกัน เพราะทำให้ไตวายได้ แพทย์จึงให้กินยาคนละช่วงเวลา 

ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการยาแนะนำว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังควรใส่ใจกับการดูแลตนเองเป็นพิเศษ เพราะกินยาจำนวนมาก ไม่เรื่องที่ดี และเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่บางครั้งก็จำเป็นต้องกิน อย่างคนที่เป็นเบาหวาน ไม่อย่างนั้นอาจตาบอด ไตวาย เป็นแผลเรื้อรัง ไขมันในเลือดสูงได้ 

“วิธีที่ดีที่สุดคือการออกกำลังกาย ดูแลเรื่องอาหารการกิน ก่อนจะกินอะไรเข้าไปจดจำไว้เสมอว่ากินอะไรก็ได้อย่างนั้น“

ข้อมูลจาก บุษกร ภู่แส

พิมพ์