ตกหมอน

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 4893

“ช่วยด้วยหนูหันคอไม่ได้”   
บางคนหลังตื่นนอนไม่สามารถหันคอหรือเอียงคอได้ เพราะจะเจ็บปวดมากหากฝืนหันหรือเอียงคออย่างเวลาปกติ เราเรียกอาการแบบนี้ว่า “ตกหมอน”
ใครไม่เคยปวดคอหรือมีอาการคอแข็งมักไม่ค่อยตระหนักถึงความสำคัญของ “คอ” ทั้งที่กล้ามเนื้อบริเวณคอต้องทำงานหนักเพราะต้องแบกรับน้ำหนักของกะโหลกและมันสมองที่มีน้ำหนักมาก 
ปกติกล้ามเนื้อคอจะมีความยืดหยุ่นสูง แต่ถ้าไม่ระวังตัวใช้กล้ามเนื้อคอเกินความสามารถหรือผิดท่าผิดจังหวะก็ทำให้เกิดอาการคอแข็งได้ ที่พบบ่อย ๆ สำหรับอาการคอแข็งอย่างเฉียบพลันเกิดจากการเอี้ยวผิดท่าหรือหลังตื่นนอน 

การรักษาอาการตกหมอน
1.อย่าพยายามเคลื่อนไหวคอให้อยู่นิ่ง ๆ จากนั้นให้ประคบร้อน โดยนำกระเป๋าน้ำร้อนวางบริเวณกล้ามเนื้อต้นคอที่กดแล้วเจ็บ ประมาณ 20 – 30 นาที และกดนวดบริเวณคอเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น (ระวังอย่าให้น้ำร้อนมากเอาแค่พอทนได้) 
2.ถ้าไม่ประคบร้อนอาจรับประทานยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัวลดอาการเจ็บปวด ควรใช้ยาอย่างถูกวิธี เนื่องจากยานี้มีผลข้างเคียงสูง
3.ถ้าไม่ดีขึ้นเลยควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและรักษาให้ถูกต้อง 

การป้องกันและสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อต้นคอ
1.ระวังอิริยาบถ ไม่ก้ม ๆ เงย ๆ มากเกินไปหรือเคลื่อนไหวคออย่างรุนแรง
2.ผู้ที่ต้องทำงานหน้าเครื่องจักรหรือคอมพิวเตอร์ ควรเปลี่ยนพักอิริยาบถบ้าง มิฉะนั้นกล้ามเนื้อจะเกิดอาการเครียดหรือตึงได้ 
3.เวลานอน ควรนอนบนที่นอนที่แข็ง ให้ศีรษะอยู่ระดับเดียวกับพื้นหรือหาหมอนที่ใบกว้าง ๆ มานอนจะลดโอกาสนอนตกหมอนคอเอียงลงได้
4.ไม่ควรนอนคว่ำอ่านหนังสือหรือดูทีวี 
5.เป็นข้อสำคัญที่สุด คือ หมั่นออกกำลังกล้ามเนื้อของคอทุก ๆ วัน และพยายามลดความเครียดจากชีวิตประจำวันโดยการออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอ

วิธีบริหารกล้ามเนื้อคออย่างง่าย ๆ 
- ก้มและเงยหน้า ค่อย ๆ ก้มหน้าให้คางจรดกับอก แล้วเงยช้า ๆ ให้มากที่สุด 
- ตะแคงซ้ายขวา หน้าตรงค่อย ๆ ตะแคงซ้ายจนหูจรดไหล่ซ้าย แล้วตะแคงขวาในลักษณะเดียวกัน
- หันหน้าซ้ายขวา หมุนศีรษะหันหน้าไปทางซ้ายช้า ๆ โดยให้ปลายคางอยู่ในแนวเดียวกับไหล่ แล้วหมุนกลับมาด้านขวา 

พิมพ์