ทำไมประชาชนจึงควรร่วมกันคัดค้านการขายทอดตลาด กฟผ.

เขียนโดย รสนา โตสิตระกูล. จำนวนผู้ชม: 11282

ดิฉันได้อ่านบทความคอลัมน์ ชีวิตที่เลือกได้ เรื่อง กฟผ โดยคุณชัยอนันต์ สมุทวณิช ในนสพ. ผู้จัดการ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ที่ผ่านมา นานๆ ทีจะถูกกล่าวพาดพิงถึง โดยเฉพาะจากอดีตนักวิชาการรุ่นใหญ่ อย่างคุณชัยอนันต์ ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานบอร์ด บมจ. กฟผ แม้ว่าจะด้วยวาจาอันรุนแรงเกินกว่าเหตุก็ตาม



อ่านบทความนั้นแล้ว ดิฉันขอแสดงความเห็น และชี้แจง ดังนี้
1) คุณชัยอนันต์ รู้สึกไม่พอใจที่ดิฉันเรียกการกระจายหุ้น กฟผ ในตลาดหลักทรัพย์ ว่าเป็นการขายสมบัติชาติ ที่จริงเป็นคำเรียกขานที่เป็นกลางที่สุดแล้ว ถ้าจะพูดให้ตรงใจดิฉันกว่านั้น อยากใช้คำว่า นำสมบัติชาติไปขายทอดตลาด หรือเป็นการฉ้อราษฏร์บังหลวงด้วยซ้ำไป

คุณชัยอนันต์ ในฐานะประธานบอร์ด กฟผ ควรจะบอกประชาชนว่าเหตุใดจึงประเมินทรัพย์สินของ กฟผ ด้วยวิธีตีมูลค่าตามบัญชีเพราะโดยหลักสากลแล้ว ในการประเมินทรัพย์สินเพื่อขาย ไม่มีใครเขาใช้วิธีประเมินมูลค่าตามบัญชีอย่างแน่นอน เพราะสินทรัพย์จำนวนมากของกฟผ. เมื่อตัดค่าเสื่อมปีละ 20 % ภายใน 5 ปี มูลค่าทางบัญชีก็เท่ากับศูนย์ แต่ทรัพย์สินเหล่านี้ยังมีมูลค่าอยู่ ถ้าจะนำไปขาย หรือสินทรัพย์อย่างที่ดินมีการประเมินมูลค่าตามราคาตลาด หรือคิดแบบหักค่าเสื่อม หรือตีมูลค่าตามราคาที่เคยซื้อมา เรื่องการตีมูลค่าทรัพย์สิน รัฐบาลและผู้บริหารของ กฟผ ควรจะออกมาชี้แจงให้ประชาชนหายคลางแคลงใจ องค์กรผู้บริโภคทำหนังสือขอข้อมูลซึ่งนอกจากไม่ได้รับคำตอบแล้ว ผู้บริหารทั้งฝ่ายรัฐบาลและกฟผ ยังหลีกเลี่ยงการออกมาพูดคุยในเวทีสาธารณะ ร่วมกับฝ่ายองค์กรผู้บริโภคในสื่อทีวีและหนังสือพิมพ์ที่เชิญอีกด้วย

ไหนๆ ถ้าจะต้องตัดเฉือนเนื้อไปขาย หรือที่เรียกแบบวิชาการว่า “การระดมทุน” ในตลาดหลักทรัพย์ เหตุใดจึงตีราคาทรัพย์สินของตัวเองต่ำจนน่าสงสัย รัฐบาลอนุมัติราคาหุ้นกฟผ อยู่ที่ราคา 25 – 28 บาท ในขณะที่บรรดาโบรกเกอร์หลายบริษัทไม่ว่า เจพี มอร์แกน มอร์แกนสแตนเลย์ ซิตี้กรุ๊ป SCBS และทิสโก้ ล้วนแต่ประเมินมูลค่าหุ้นของ กฟผ อยู่ที่ 27 – 40 บาท ถ้าจะต้องขาย กฟผ รัฐบาลควรดูตัวอย่างรัฐบาลฝรั่งเศสที่ขายหุ้นบริษัทไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ เขาประกาศชัดเจนว่าขายไม่เกินร้อยละ 15 และการขายหุ้นเพียง 15 % รัฐบาลฝรั่งเศสได้เงินมาเท่ากับงบประมาณรายได้ของประเทศถึง 2 ปี

แต่อย่างเราขาย กฟผ ถึง 25 % หรือ 2,000 ล้านหุ้น จะมีรายได้เพียง 50,000 – 56,000 ล้านบาท เท่านั้น ถ้าลองคิดเล่นๆ ว่ารัฐบาลขายหุ้น กฟผ ทั้ง 100 % คือ 8,000 ล้านหุ้น ก็จะได้เงินรายได้เพียง 200,000 – 224,000 ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าทรัพย์สินของ กฟผ ในการทำกำไรในอนาคต ประเมินว่า มีมูลค่าสูงถึง 3.8 ล้านล้านบาท แล้วอย่างนี้จะไม่เรียกว่าเป็นการเอาทรัพย์สินของชาติมาขายทอดตลาดละหรือ ในเมื่อ กฟผ สมัยเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่งรายได้เข้ารัฐ ปีละ 30,000 ล้านบาท แต่เฉือนเนื้อตัวเองขายไปถึง 25 % ยังได้เงินน้อยกว่ารายได้ที่เคยส่งให้รัฐเพียง 2 ปี ดิฉันว่าคิดอย่างคนธรรมดาที่ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงและยังไม่เสียสติ ก็ไม่มีใครคิดจะขายกิจการของตัวเองในมูลค่าเพียงเท่านี้อย่างแน่นอน

2) คุณชัยอนันต์ กล่าวถึงคนที่คัดค้านการขาย กฟผ ว่ายังติดอยู่กับความคิดแบบ “รัฐอุปถัมภ์” ไปจนถึงการตีตราว่าเป็น “ความคิดทาส” ที่ปล่อยไม่ไปนั้น ดิฉันอยากถามว่า คุณชัยอนันต์เข้าใจอะไรผิดไปหรือเปล่า เพราะดิฉันเห็น มีแต่ประชาชนเท่านั้นที่อุปถัมภ์รัฐมาตลอด ไม่ใช่เพราะภาษีและแรงงานของประชาชนดอกหรือที่ทำให้รัฐและนักวิชาการที่รับใช้รัฐอยู่ดีมีสุขกันทุกวันนี้ แต่ไม่เคยเห็นบุญคุณของประชาชนที่เป็นผู้อุปถัมภ์ที่แท้จริง ยังคงจำวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540ได้ใช่ไหมที่บรรดาบริษัทเอกชนที่ล้มบนฟูก แล้วกลับมาซื้อหนี้เน่าของตัวเองในราคาเพียง 20-30% ส่วนที่เหลือกลายเป็นภาระของประชาชนที่ต้องช่วยจ่ายหนี้ให้ใครอุปถัมภ์ใครกันแน่ คนที่อ้างว่าไม่ต้องการรัฐอุปถัมภ์ แท้จริงแล้วก็ยังแฝงเร้นอาศัยให้รัฐอุปถัมภ์ การกล่าวอ้างว่า การขายหุ้นกฟผ ออกไป 25 % ไม่ถือเป็นการแปรรูป แต่เป็นเพียงการระดมทุน คำพูดแบบนี้ ดิฉันว่าเป็นคำพูดที่ไม่ตรงไปตรงมา ไม่เหมาะที่จะถือตนว่าเป็นนักวิชาการ

ความหมายของการแปรรูป คือการเปลี่ยนโอนสิทธิในการประกอบกิจการที่เคยเป็นของรัฐ ให้เป็นของเอกชน เพื่อลดการผูกขาดโดยรัฐ เพื่อให้มีการแข่งขันจะได้มีประสิทธิภาพ และราคาเป็นธรรม การแปรรูปแบบครึ่งๆ กลางๆ เช่นการขายหุ้นออกไป 25 % คือการเปิดให้เอกชน 25 % เข้ามาแอบแฝงใช้อำนาจรัฐ หรือเข้ามาเป็นการฝากให้รัฐอุปถัมภ์นั่นเอง ด้านหนึ่งคุณชัยอนันต์ให้สัมภาษณ์ว่า กฟผ ไม่ได้เป็นองค์กรของรัฐบาลแล้ว ศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณา แต่ในอีกด้านหนึ่ง อ้างว่าเพราะรัฐถือหุ้นใหญ่ ก็เลยยังเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ ตกลงจะเอาอะไรกันแน่ แต่ที่แน่ๆ คือ เอกชนที่เข้ามาอาศัยรัฐอุปถัมภ์ จะได้ประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งล่อง เป็นองค์กรประเภทนกมีหูหนูมีปีกคือเลือกเฉพาะที่เป็นประโยชน์กับตัวเองเท่านั้น การกล่าวอ้างว่ายัง เป็นรัฐวิสาหกิจ ก็หมายความว่า บมจ. กฟผ ที่เป็นเอกชน 25 % ยังคงมีสิทธิผูกขาดการผลิตไฟ 50 % โดยไม่ต้องแข่งขันกับใคร พูดให้ง่ายกว่านั้นคือ การอ้างความเป็นรัฐวิสาหกิจก็เพื่อจะคงสิทธินั่งอยู่บนหลังของประชาชนต่อไป เพื่อให้รัฐหรือประชาชนค้ำประกันหนี้สิน และเงินกู้ ของ กฟผ ต่อไป และต้องให้ผูกขาดการผลิตไฟฟ้า แม้ว่าต้นทุนการผลิตไฟของ กฟผ จะแพงกว่าของเอกชนถึง 0.61 บาท ต่อหน่วย ตามรายงานประจำปีของ บมจ. กฟผ ปี 2547 เฉพาะต้นทุนค่าเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียวของกฟผ ราคาหน่วยละ 1.59 บาท ถ้าบวกกับต้นทุนค่าการผลิตไฟฟ้าอีก 0.37 บาท ต่อหน่วย ต้นทุนที่ยังไม่บวกกำไรของกฟผ จะเท่ากับ 1.96 บาท ต่อหน่วย ในขณะที่กฟผ รับซื้อกระแสไฟฟ้าที่ผลิตโดยบริษัทเอกชน ซึ่งบวกกำไรแล้ว ราคาเพียง 1.35 บาทต่อหน่วย แต่ประชาชนก็ต้องช่วยแบกต้นทุนของกฟผ เอาไว้ ในฐานะที่รัฐยังถือหุ้นใหญ่อยู่ ใช่หรือไม่

ลองพิจารณาดูตัวอย่างของ ปตท ก็ได้ แม้ว่ารัฐจะถือหุ้นใน ปตท เพียง 52 % ในปัจจุบัน แต่เพราะอ้างว่ารัฐถือหุ้นใหญ่ เลยยังถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ ปตทเลยได้สิทธิผูกขาดขายแก๊ส 100 % ให้กับ กฟผ และขายในราคาแพงกว่าที่ ปตท ขายแก๊สให้กับบริษัทในเครือของตน แก๊สที่ปตท ขายให้ กฟผ ราคา 177 บาท ต่อ 1 ล้าน BTU แยกเป็นค่าเนื้อแก๊ส 155 บาท ค่าท่อ 20 บาท และกำไร 2 บาท แต่ ปตท ขายให้กับบริษัทในเครือ ในราคา 135 บาท โดยแยกเป็นค่าเนื้อแก๊ส 125 บาท ค่าท่อ 8 บาท และกำไร 2 บาท กฟผ ไม่สามารถไม่ซื้อแก๊สจากปตท เพราะอะไร เพราะปตท เป็นรัฐวิสาหกิจอย่างนั้น ใช่หรือไม่

นอกจากแก๊สแล้ว กฟผ ยังถูกบังคับให้ต้องซื้อน้ำมันเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า 80 % จาก ปตท เหลืออีก 20 % จึงจะสามารถซื้อโดยวิธีประมูลได้ และประมูลทีไร ปตท สู้ราคาบริษัทน้ำมันต่างประเทศไม่ได้

คุณชัยอนันต์เป็นประธานบอร์ด กฟผ เหตุใดไม่เคยต่อสู้ให้หน่วยงานของตัวเอง ซื้อเชื้อเพลิงในราคาที่ยุติธรรมจาก ปตท สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องแบกพวกคุณอยู่บนหลังของเราใช่ไหม ในฐานะของความเป็น “รัฐวิสาหกิจ” แต่ถ้าประชาชนจะเรียกร้องขอให้ลดค่าน้ำมันลง รัฐวิสาหกิจนั้น จะกลายเป็นบริษัทเอกชนทันที และจะอ้างว่ารัฐไม่สามารถแทรกแซงราคาน้ำมันได้ รัฐบาลแม้ถือหุ้นใหญ่ก็ไม่อาจแทรกแซงนโยบายเรื่องราคาน้ำมันได้ ในกรณีของ ปตท รัฐบาลต้องตั้งกองทุนน้ำมันขึ้นมาพยุงราคา ซึ่งคือหนี้ที่ประชาชนต้องแบก เพื่อให้ปตท ได้กำไร ปีละ 90,000 ล้านบาท

หาก ปตท เป็นรัฐวิสาหกิจ 100 % เราก็ไม่ต้องมีหนี้ในกองทุนน้ำมันเป็นแสนล้านบาทอย่างในขณะนี้ เพราะรัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายให้ปตทไม่ต้องหากำรสูงสุดเช่นในปัจจุบันและสามารถเป็นผู้ตรึงราคาน้ำมันได้ ซึ่งจะทำให้บริษัทน้ำมันต่างชาติไม่กล้าขึ้นราคาน้ำมันมากเกินไป แต่เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจแบบครึ่งๆ กลางๆ จึงกลายเป็นว่ารัฐบาลต้องชดเชยราคาน้ำมันให้กับ ปตท และรวมไปถึงต้องชดเชยให้กับบริษัทน้ำมันต่างชาติไปด้วย ดิฉันอยากถามว่า การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เช่นนี้ ประชาชนได้ประโยชน์อะไรบ้าง

และถ้าจะกล่าวอ้างว่า การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่มีดอกเบี้ย ทำให้รัฐไม่มีภาระที่ต้องแบกรับต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ ก็ควรพิจารณาว่าส่วนแบ่งกำไร 40% ให้กับผู้ลงทุนจะสูงกว่าดอกเบี้ยหรือไม่ และเป็นเงินที่ต้องจ่ายตลอดไป ไม่เหมือนดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีวันสิ้นสุด และในกรณีของปตท.ควรพิจารณาว่าการที่ประชาชนและรัฐต้องแบกรับภาระหนี้สินของกองทุนน้ำมัน เนื่องจากการขายหุ้นปตท ในตลาดหลักทรัพย์นั้น เทียบกับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ อย่างไหนเป็นภาระหนักกว่ากัน

3) สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ปตท พอจะเป็นบทเรียนที่เทียบเคียงกับ กฟผ ได้หรือไม่ หรือยังเป็นสิ่งที่คุณชัยอนันต์ เรียกว่า “เป็นความกังวลในอนาคต”

กรณีเขื่อนปากมูลที่คุณชัยอนันต์ ถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่ข้อวิตกกังวลในอนาคตนั้น คุณชัยอนันต์สามารถเปลี่ยนแปลงให้ชาวบ้านกลับไปสู่สภาพเดิมได้หรือไม่ กรณีเขื่อนปากมูลมีการต่อต้านตั้งแต่ก่อนสร้างหลายปี แต่สู้ไม่ได้ เพราะทัศนะ หรือข้ออ้าง เช่นนี้แหละที่เห็นว่า เป็นความกังวลในอนาคต แล้วในที่สุดเมื่อความกังวลในอนาคตไม่ได้รับการพิจารณา จึงกลายเป็นความจริงอันขมขื่นสำหรับชาวบ้านในวันนี้ ชาวบ้านต้องประสบกับความทุกข์ยาก ชาวบ้านสูญเสียโอกาสในการทำมาหากิน ประเมินว่าสูญเสียรายได้ปีละ 100 กว่าล้านบาทจากเขื่อนปากมูล กฟผ ทำได้เพียงจ่ายเงินชดเชยเป็นเงินครอบครัวละไม่กี่หมื่นบาท แต่เงินเพียงเท่านี้ ไม่สามารถชดเชยกับการสูญเสียแหล่งทรัพยากรที่ชาวบ้านอาศัยในการดำรงชีวิตได้ แต่เวลานี้ บมจ. กฟผ ทำสัญญาเช่าเขื่อนปากมูลเพื่อผลิตไฟฟ้าจากกรมธนารักษ์ ในราคาเพียงปีละ 4 ล้านบาท ทั้งที่มูลค่าก่อสร้างเขื่อนปากมูลเป็นเงิน 6,600 ล้านบาท ถ้าคิดอายุการใช้งานของเขื่อน ว่ามีเวลา 40 ปี ราคาค่าเช่าไม่ควรต่ำกว่าปีละ 165 ล้านบาท

ถ้าหากคำกล่าวอ้างของคุณชัยอนันต์ว่า กฟผ ไม่มีอำนาจรัฐ ไม่ได้ใช้อำนาจรัฐ เป็นความจริง ชาวบ้านเขื่อนปากมูลควรจะขอเช่าเขื่อนปากมูล แข่งกับ กฟผ โดยเสนอค่าเช่าให้กับรัฐสูงกว่า กฟผ แล้วดูว่ารัฐจะให้ชาวบ้านเช่าหรือไม่

ประการสุดท้าย ดิฉันอยากเตือนความจำคุณชัยอนันต์ ถึงการประชุมเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2547 ที่โรงแรมสยามซิตี้ที่จัดร่วมกับสหภาพแรงงาน กฟผ และฝ่ายรัฐที่เกี่ยวข้อง รายงานข่าวที่ดิฉันได้อ่านในวันนั้น มีดังนี้

นายชัยอนันต์ สมุทวณิช แถลงว่า ขบวนการเกี่ยวกับการแปรรูป กฟผ ขณะนี้จะหยุดจนกระทั่งการดำเนินการจัดทำ พ.ร.บ. การปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ เสร็จเรียบร้อย โดยจะแสวงหาแนวทางในการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะยังไม่มีการนำ กฟผ เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ “ในระหว่างที่เรากำลังทำเรื่องนี้ รับประกันได้ว่าจะไม่มีการนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะมีข่าวลือว่า รัฐบาลจะนำเข้าตลาดฯ ผมไม่ได้มาบอกว่า ต้องเชื่อรัฐบาล แต่คนเราควรมีความเชื่อใจกันบ้าง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า เขาไม่ทำตามข้อตกลง”

ดิฉันอยากขอเรียนถามว่า มาถึงวันนี้ เรายังควรเชื่อใจรัฐบาลและคุณชัยอนันต์ หรือไม่

 

พิมพ์