ค่าไฟ ค่าก๊าซ ค่าน้ำมัน เตรียมขึ้นราคา ประชาชนตายแน่

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 10695

ค่าไฟ ค่าก๊าซ ค่าน้ำมัน เตรียมขึ้นราคา ประชาชนตายแน่
รัฐบาลต้องยกเลิกแผนพลังงานพีดีพี 2007 (ฉบับอัปยศ)

 

แผนพลังงานพีดีพี 2007 (ฉบับอัปยศ) คืออะไร
คือแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2551-2564 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ซึ่งกระทรวงพลังงานเป็นผู้จัดทำ และรัฐบาลในรูปของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา เป็นแผนพลังงานที่จะก่อให้เกิดสัญญาผูกพันระยะยาว 15 ปี ในการใช้เงินลงทุนมูลค่ากว่า 1.6 ล้านล้านบาทเพื่อแลกกับกำลังไฟฟ้า 3 หมื่นกว่าเมกะวัตต์ที่ไม่ได้มีความจำเป็นอย่างแท้จริง ด้วยการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และบริษัทเอกชนทำการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และพลังงานนิวเคลียร์เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากแผนพลังงานนี้คือ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ซึ่งจะมีรายได้จากการขายก๊าซธรรมชาติให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และของบริษัทเอกชน ในสัดส่วนสูงกว่า 66% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้จะถูกผลักมาให้ประชาชนทั้งประเทศต้องแบกภาระจ่ายเป็นค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทุกเดือน

จำเป็นหรือไม่...ที่ประชาชนต้องแบกภาระ 1.6 ล้านล้านบาทเพื่อความโลภของ ปตท.
ไม่จำเป็น...ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยใช้ไฟฟ้าสูงสุดเพียงแค่ 2.2 หมื่นกว่าเมกกะวัตต์เท่านั้น ในขณะที่โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในขณะนี้สามารถผลิตไฟฟ้ารวมกันได้เกือบ 3 หมื่นเมกะวัตต์ ต่างกันถึง 7,300 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่มากเกินพออยู่แล้ว แต่แผนพลังงานอัปยศที่เกิดจากร่วมมือของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานบางคนที่ไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัท ปตท. และบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนหลายแห่ง กลับตอกย้ำภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ด้วยการสั่งปลดโรงไฟฟ้าเดิมของ กฟผ. ที่ใช้เงินภาษีของประชาชนสร้างขึ้นมาและยังใช้งานได้ ออกจากระบบ เช่น โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าลานกระบือ โรงไฟฟ้าสุราษฎร์-ธานี โรงไฟฟ้าหนองจอก โรงไฟฟ้าบางปะกง เหตุที่ทำเช่นนี้เพื่อตบตาประชาชนทำให้ตัวเลขกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองลดลง และให้โรงไฟฟ้าใหม่ที่ได้มีการเซ็นต์สัญญาไปแล้วและกำลังทยอยเซ็นต์สัญญาเพิ่มเติม สามารถแทรกเข้ามาอยู่ในแผนพลังงานอัปยศนี้ได้อย่างถาวร สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้ประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 จนถึงปี พ.ศ. 2564 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้ามากถึง 5 หมื่นเมกกะวัตต์ ในภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง คงไม่มีใครหน้าไหนที่จะไปใช้ไฟฟ้ามากมายขนาดนั้น

ปตท.ยิ้มร่ารับแผนอัปยศ เตรียมขยับขึ้นค่าก๊าซ
สัญญาณบ่งชี้เรื่องนี้คือ คณะกรรมการกิจการพลังงาน(กพพ.) ได้อนุมัติให้ปรับขึ้นค่าบริการผ่านท่อส่งก๊าซธรรมชาติหรือค่าผ่านท่อก๊าซ ที่ ปตท. ร้องขอโดยอ้างว่าต้องลงทุนท่อก๊าซเพิ่มเติมตามแผนพีดีพี 2007 โดยค่าผ่านท่อก๊าซจะปรับเพิ่มขึ้นจาก 19.74 บาทต่อล้านบีทียูเป็น 21.76 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งความจริงแล้ว ปตท. ไม่มีสิทธิ์มาคิดค่าผ่านท่อก๊าซและราคาควรจะลดลงด้วยซ้ำ เพราะศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ ปตท. ต้องคืนท่อก๊าซทั้งหมดให้กับรัฐเนื่องจากได้มาด้วยการเวนคืนโดยอาศัยอำนาจรัฐถือเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน แต่ ปตท. ทำการคืนทรัพย์สินเพียงแค่ 16,000 ล้านบาท ในขณะที่ ปตท.ประเมินต้นทุนค่าท่อเพื่อใช้ในการคำนวณขอขึ้นราคาค่าผ่านท่อสูงถึง 90,000 ล้านบาท การขึ้นค่าผ่านท่อครั้งนี้ส่งผลให้ประชาชนต้องรับภาระค่าไฟฟ้าสูงถึง 4,500 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ ก๊าซแอลพีจี ปตท. พยายามผลักดันให้รัฐบาลปล่อยลอยตัวตามราคาน้ำมันมาโดยตลอด และก๊าซเอ็นจีวี ปตท. ก็เตรียมพร้อมที่จะทยอยปรับราคาขึ้นตามลำดับหากได้รับการอนุมัติ โดย ปตท. มีแผนจะให้ขึ้นจาก 8.50 บาทต่อกิโลกรัมเป็นปีละ 1 บาทต่อกิโลกรัม

ความผิดพลาดของแผนพลังงานอัปยศจะถูกยัดใส่ในค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัต

การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่จนล้นความต้องการ เพื่อหวังให้ผลิตไฟฟ้าได้มากๆ แต่ประเทศไทยไม่สามารถใช้ได้มากขนาดนั้นจะส่งผลให้โรงไฟฟ้าใหม่ที่สร้างขึ้นเป็นเพียงโกดังเก็บเครื่องปั่นไฟฟ้าเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกัน กฟผ.ในฐานะผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนและรับซื้อก๊าซจาก ปตท.ยังต้องจ่ายค่าซื้อไฟฟ้าและค่าก๊าซธรรมชาติอยู่ต่อไป ทั้งนี้มาจากเงื่อนไขสัญญาค่าโง่แบบ “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” ค่าโง่ที่ กฟผ. ต้องจ่ายทั้งหมดนี้จะถูกผลักมาอยู่ในค่าไฟฟ้าอัตโนมัติให้ประชาชนรับผิดชอบแทนในท้ายที่สุด

ในขณะเดียวกันยังนำเงินค่าไฟจากประชาชนไปตั้งเป็นกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าเพื่อจัดสรรให้กับโรงไฟฟ้าของบริษัทเอกชนด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ซึ่งเงินส่วนนี้ควรจะเป็นความรับผิดชอบของโรงไฟฟ้า แต่ปัจจุบันพบว่าถูกโรงไฟฟ้าใช้เป็นงบโฆษณาชวนเชื่อ สร้างภาพ สร้างความแตกแยก และจัดการกับผู้ที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้า อย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี และที่มาบตาพุด จ.ระยอง ชาวบ้านกำลังเผชิญกับความแตกแยกจากการใช้เงินกองทุนที่ผิดวัตถุประสงค์ในลักษณะดังกล่าว

ประชาชนต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อให้รัฐบาลยกเลิกแผนพลังงานอัปยศโดยเร็ว
ท่านที่ได้รับเอกสารนี้...กรุณานำไปถ่ายสำเนาอย่างน้อยคนละ 10 แผ่น และช่วยกันเผยแพร่ส่งต่อให้กับคนรอบข้างของท่านต่อ ๆ กันไป เพื่อให้รับรู้กันอย่างกว้างขวางถึงกลฉ้อฉลของกระทรวงพลังงาน ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแผนพลังงานอัปยศนี้ เพื่อร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกแผนพลังงานอัปยศนี้โดยเร็ว

เราไม่สามารถคาดหวังได้ว่าสื่อมวลชนหลักจะทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างเต็มที่หรือไม่ เพราะเจ้าของกิจการของสื่อส่วนใหญ่ ต่างได้รับผลประโยชน์ในรูปของเงินค่าโฆษณาที่บริษัทและหน่วยงานด้านพลังงานสนับสนุน ดังนั้น ประชาชนถึงประชาชน พวกเราต้องช่วยกัน

>> ค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

 

 ข้อเรียกร้องให้ยกเลิกแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(PDP 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2)

 

ตามที่กระทรวงพลังงาน  โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)  ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  ได้มีมติเห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2551-2564(PDP 2007ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 นั้น  

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  เครือข่ายผู้บริโภค  เครือข่ายพลังงานและประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฯ  ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าดังกล่าว  และมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล , ประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ , ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดังต่อไปนี้

1. ยกเลิกแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2551-2564(PDP 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2)  เนื่องจากทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเกินความต้องการอย่างมหาศาล  ทั้งที่ปัจจุบันโรงไฟฟ้าเท่าที่มีอยู่สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 29,891 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเมื่อปี 2551 อยู่ที่ 22,568 เมกะวัตต์ ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่เกินความต้องการถึง 7,323 เมกะวัตต์ และปริมาณการใช้ไฟฟ้าไม่ได้มีแนวโน้มสูงขึ้นตามการคาดการณ์แต่กลับมีแนวโน้ม ลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้ามากถึง 51,792 เมกะวัตต์ และใช้เงินลงทุนสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท  ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างต่อเนื่องเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะภาระที่เกิดขึ้นจากการสร้างโรงไฟฟ้า จากสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ในลักษณะที่ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย เงินจำนวนนี้สุดท้ายจะถูกผลักภาระมาเป็นค่าไฟฟ้าของประชาชนโดยไม่มีผู้รับ ผิดชอบ

 

2. ให้ยุติสัญญาที่ทำไว้กับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด การที่ กพช.ระบุว่าไม่สามารถปรับลดหรือเลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าที่ได้ให้ความเห็นชอบ ไปแล้วจำนวน 4 โครงการ  ในจำนวนนี้เซ็นสัญญาก่อสร้างไปแล้ว 3 โครงการเมื่อปี พ.ศ. 2551 และนำมาบรรจุลงในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฯ และไปปลดโรงไฟฟ้าที่ยังใช้งานได้อยู่ออกจากระบบ ถือเป็นการผลักภาระมาให้ประชาชนต้องรับผิดชอบกับโรงไฟฟ้าที่ไม่มีความจำ เป็น  อีกทั้งโรงไฟฟ้าจำนวน 2 แห่งคือโรงไฟฟ้าของบริษัท สยามเอเนอร์ยี่ จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และโรงไฟฟ้าของบริษัท พาวเวอร์ เจนเนอ-เรชั่น ซัพพลายตั้งอยู่ที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี  ยังมีการลัดขั้นตอนการทำงาน  กล่าวคือมีการอนุมัติการก่อสร้างโดยยังไม่ผ่านรายงานการประเมินผลกระทบทาง สิ่งแวดล้อม(EIA)  

 

3. ยกเลิกการอนุมัติให้ปรับอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติของ บมจ.ปตท. ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับขึ้น  2.02 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 21.76 บาทต่อล้านบีทียู  เนื่องจากไม่ได้ตั้งอยู่บนต้นทุนที่แท้จริง  โดย ปตท.คำนวณต้นทุนท่อก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าบริการส่งก๊าซ ธรรมชาติสูงถึง 90,000 ล้านบาท แม้ กกพ. จะได้ปรับลดต้นทุนในส่วนนี้เหลือประมาณ 60,000 ล้านบาท แต่ก็มีคำถามว่าต้นทุนดังกล่าวเป็นต้นทุนในการดำเนินการที่แท้จริงของ ปตท. หรือไม่เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งว่าท่อก๊าซธรรมชาติและทรัพย์สิน ซึ่งได้มาโดยการใช้อำนาจมหาชนและใช้เงินลงทุนของรัฐนั้นต้องกลับคืนเป็นของ รัฐทั้งหมด เพราะถือเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน หน้าที่ของ ปตท. คือการจ่ายค่าเช่าและส่งคืนท่อก๊าซทั้งหมดให้รัฐ มิใช่มาขอปรับค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติเอามาเป็นผลกำไรของตน

 

4. ให้ปฏิรูปการวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยใหม่ตามหลักธรรมาภิ บาล  โดยต้องเปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนอย่างเป็นระบบ  เนื่องจากที่ผ่านมามีเพียงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่โปรงใสและ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม  ทำให้เกิดการวางแผนและการดำเนินงานที่ฉ้อฉล  ไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประเทศ  ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆตามมามากมาย เช่น กรณีกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า  ซึ่งเก็บมาจากค่าไฟฟ้าของประชาชน  มีวัตถุประสงค์เพื่อเยียวยาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้า  แต่กลับถูกโรงไฟฟ้านำมาใช้โฆษณาสร้างภาพ  จัดการกับผู้คัดค้านโรงไฟฟ้า  ทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในพื้นที่

{mxc}

พิมพ์