มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เร่งรัดให้ กสทช. ตรวจสอบและสั่งการกรณีควบรวมทรู-ดีแทค เนื่องจากเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค วันที่ . จำนวนผู้ชม: 4354

ภาพข่าวเร่งรัด กสทช. เนื่องจากเป็นหน้าที่ 01

กขค. ส่งจดหมายตอบกลับ มพบ. แจงไม่มีหน้าที่ตรวจสอบกรณีควบรวมทรู-ดีแทค เผยเป็นหน้าที่ กสทช. ตามกฎหมาย จึงเร่งรัดให้ กสทช. ตรวจสอบและใช้อำนาจสั่งการโดยเร็ว

          จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ส่งหนังสือขอให้ดำเนินการตรวจสอบการควบรวมค่ายมือถือดีแทคและทรู ไปถึงสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เนื่องจากการควบรวมธุรกิจทำให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นเข้าสู่ตลาดยากยิ่งขึ้น และมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาดตลาด มพบ.จึงขอให้ดำเนินการตรวจสอบการควบรวมกิจการและแจ้งผลกลับมายังมูลนิธิฯ

          วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักงาน กขค. ส่งหนังสือตอบกลับถึงมูลนิธิฯ ที่ สขค. 0401/350 ว่า กขค. ไม่มีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องการรวมธุรกิจโทรคมนาคม ตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มาตรา 4 (4) ที่ระบุให้ไม่ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้ากับธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะดูแล สำนักงาน กขค. ได้ตรวจสอบ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และประกาศที่เกี่ยวข้อง พบว่าการรวมธุรกิจของทรูและดีแทค เป็นการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งมี กสทช. เป็นผู้กำกับดูแลภายใต้กฎหมายเฉพาะคือ 1. พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 2. พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 3. ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 และ 4. ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2557

          วันนี้ (27 เมษายน 2565) นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า มพบ. ได้ตรวจสอบตามกฎหมายที่ กขค. อ้างอิง พบว่า กขค. ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบการควบรวมกิจการของทรูและดีแทคจริง เพราะใน พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มาตรา 4 (4) ระบุเรื่องที่ไม่ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้ากับธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะดูแลอยู่ ดังนั้น กรณีการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมของทรูและดีแทค อยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช. ตามกฎหมายดังที่กล่าวอ้างอิง ได้แก่

          1. ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 (11) (24) และมาตรา 81 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ประกอบกับมาตรา 21 และมาตรา 22 (3) (4) (5) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544

          ประกาศดังกล่าวได้กำหนดลักษณะและมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการครอบงำกิจการในตลาดโทรคมนาคม ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการแข่งขันและการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ

          2. ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2557 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 (11) และ (24) แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544

          ประกาศดังกล่าวเป็นมาตรการกำกับดูแลล่วงหน้าเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญใช้อำนาจในการจำกัดหรือกีดกันการแข่งขันในตลาด สอดคล้องกับหลักการส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมและมาตราการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมรวมทั้งสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน

          รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า การควบรวมกิจการโทรคมนาคมที่มีความเสี่ยงในการผูกขาดตลาด ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง เป็นหน้าที่ที่รัฐต้องคอยกำกับดูแล ให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ ให้เข้าถึงบริการที่ครอบคลุม ทั่วถึง ทำให้เกิดกระบวนการที่มีการแข่งขัน สามารถเลือกผู้ประกอบธุรกิจได้ เนื่องจากระบบอินเทอร์เน็ตเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นแล้ว มูลนิธิฯ ขอเร่งรัดให้ กสทช. ตอบหนังสือที่ มพบ. ส่งไปให้ เรื่อง ขอให้ดำเนินการตรวจสอบการควบรวมค่ายมือถือดีแทคและทรู เนื่องจากส่งไปตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 64 แล้วแต่ยังไม่ได้รับคำตอบ รวมทั้งขอให้รีบดำเนินการตรวจสอบการควบรวมกิจการโทรคมนาคมโดยเร็ว และใช้อำนาจสั่งการในเรื่องนี้ตามกฎหมาย ด้านประชาชนก็ต้องจับตาดูว่า กสทช. จะพิจารณาเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร

          ความคืบหน้าการควบรวมกิจการของทรูและดีแทคล่าสุด เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2665 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นบริษัททรูและดีแทค ได้อนุมัติข้อเสนอควบรวมกิจการแล้ว การควบรวมกิจการยังอยู่ภายใต้การตรวจสอบและแจ้งเจ้าหนี้ ซึ่งก็คือ กสทช. ซึ่งได้รับแจ้งเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 (ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/tech/997450) ส่วนด้าน กสทช. กำลังอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อคิดเห็น รวมถึงการจัดทำมาตรการเพิ่มเติมต่างๆ ไปยังคณะอนุกรรมการฯ เพื่อนำเสนอบอร์ด กสทช. ให้พิจารณาต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางเดือน พ.ค. นี้ เพื่อให้ทันกำหนดเวลาตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ที่ระบุว่า เลขาธิการ กสทช.ต้องรายงานต่อ กสทช. ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นประกอบการรายงานการรวมธุรกิจจากที่ปรึกษาอิสระด้านต่างๆ ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 18 พ.ค.นี้ (ที่มา : https://www.prachachat.net/prachachat-hilight/news-908847) ในการนี้ให้คณะกรรมการมีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสาธารณะประโยชน์ได้ ตามมาตรา 22 พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 อีกทั้ง ในวันนี้ กสทช. ชุดใหม่ยังมีวาระการประชุม เรื่องการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคอีกด้วย ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีทิศทางการดำเนินการอย่างไรต่อไป

Tags: กสทช. , มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ทรู, ดีแทค, ทรูมูฟเอช, ควบรวมธุรกิจ

พิมพ์