มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเสนอ กสทช. ชะลอการประมูลคลื่น 5G เนื่องจากความไม่พร้อมด้านเทคโนโลยี และความไม่ชัดเจนในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ
จากกรณี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ที่จะนำไปใช้ในการทำ 5G นั้น
แม้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมนำเสนอความคิดเห็นในวันดังกล่าว แต่ มพบ. ได้ทำข้อเสนอส่งไปยัง กสทช. เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 โดยมีเนื้อหาแบ่งเป็น 4 ประเด็น ดังนี้
1. ประเด็นความเหมาะสมเรื่อง ราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ (Reserve price) ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz ที่กสทช. เรียกเก็บจากผู้ประกอบการนั้น มพบ. ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดราคาของย่าน 700 MHz และ 1800 MHz ที่ใช้ราคาชนะการประมูลเดิมเป็นข้อมูลอ้างอิง และเสนอว่า ราคาการอนุญาตใช้คลื่นความถี่ในแต่ละย่านควรเป็นไปตามราคาตลาด ซึ่งกสทช. จะต้องศึกษาเพื่อให้ทราบราคาดังกล่าว และใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดราคาขั้นต่ำที่เหมาะสม โดยพิจารณาร่วมกับปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปริมาณความต้องการของตลาด ความเป็นไปได้ของการแข่งขันในการประมูล เป็นต้น
2. ประเด็นเรื่องความเหมาะสมของการกำหนดจำนวนงวด และระยะเวลาการชำระเงินประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่านต่างๆ เสนอว่า การกำหนดจำนวนงวดและระยะเวลาการชำระเงินประมูลควรมีความกระชับ และคำนึงถึงการถ่วงดุลระหว่างภาระของผู้ประกอบกิจการกับภาระของผู้บริโภค ทั้งนี้ ตามหลักการแล้ว ค่าใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ถือเป็นต้นทุนจมที่ผู้ประกอบกิจการจะต้องไม่ผลักภาระมายังผู้บริโภค ดังนั้น ควรต้องจ่ายทั้งก้อนตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นเงินก้อนใหญ่ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระ รวมทั้งช่วยให้ผู้ประกอบกิจการมีเงินลงทุนสำหรับการวางโครงข่าย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อให้เกิดบริการจริง จึงอาจมีการพิจารณาแบ่งชำระเป็นงวด แต่ระยะเวลาการชำระจะต้องไม่ยาวนานเกินไป และไม่ซอยย่อยงวดมากจนเปิดโอกาสให้มีการผ่อนถ่ายต้นทุนดังกล่าวลงสู่ค่าบริการ
3. การจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz ควรเลื่อนออกไปจนกว่าประเทศไทยจะมีความพร้อมอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภคและมีมาตราการคุ้มครองผู้บริโภค
4. การประมูลคลื่น ต้องไม่นำมาซึ่งภาระแก่ผู้บริโภค เนื่องจากในปัจจุบัน การพัฒนาเทคโนโลยี 5G ในระดับโลกยังอยู่ในระยะเริ่มต้น อุปกรณ์และเครื่องมือรองรับยังไม่ได้มีการพัฒนาอย่างเต็มที่และกว้างขวาง เช่นเดียวกันสำหรับประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องจัดประมูลคลื่น 5G เนื่องจากปัจจุบันไทยยังไม่มีบริการ 5G ในเชิงพาณิชย์ที่ชัดเจน หากดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่ไปโดยยังไม่มีความพร้อมในเรื่องเทคโนโลยีที่รองรับอาจเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า นอกจากนี้ ยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องของผลกระทบของคลื่นความถี่ 5G ต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม ซึ่งข้อห่วงใยนี้เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้บางประเทศยังไม่ตัดสินใจพัฒนา 5G ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรพิจารณาด้วยความรอบคอบเช่นกัน
ทั้งนี้ การไม่เร่งรัดประมูลคลื่น 5G ในเร็ววัน ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยล้าหลังอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันมีเพียง 3 - 4 ประเทศเท่านั้นที่เปิดให้บริการ 5G ในเชิงพาณิชย์ คือ เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐ (ซึ่งเปิดบริการในไม่กี่เมือง) โดยประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศที่ผลิตอุปกรณ์ 5G ซึ่งต้องการเปิดบริการภายในประเทศ เพื่อผลในการโฆษณาและทำการตลาดในต่างประเทศ ดังนั้น สิ่งที่ กสทช. ควรทำคือจึงไม่ใช่การเร่งรัดประมูลคลื่น 5G แต่ควรศึกษาและให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ รวมถึงมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อกำหนดไว้เป็นเงื่อนไขสำคัญในใบอนุญาต โดยเฉพาะในเรื่องความปลอดภัยของสุขภาพประชาชนจากการติดตั้งสถานีวิทยุคมนาคม เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522