ผู้บริโภคติง กสทช. แนวทางทำความเข้าใจตั้งเสา แค่ติดป้ายไม่พอ

เขียนโดย ศูนย์ข่าวผู้บริโภค วันที่ . จำนวนผู้ชม: 6941

580720 talacom16 ก.ค. 2558 – สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้บริโภคถึงแนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชน เกี่ยวกับการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งมีตัวแทนผู้บริโภคเข้าร่วมทั้งจากพื้นที่กรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค ขณะที่ผู้แทนสำนักงาน กสทช. มีนายดำรงค์ วัสโสทก ผู้อำนวยการสำนักการอนุญาตและกำกับวิทยุคมนาคม เป็นประธานการประชุม โดยมีนายชัยยุทธ มังศรี ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ร่วมให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น

ในเบื้องต้น ผู้แทนสำนักงาน กสทช. ให้ข้อมูลแก่ที่ประชุมว่า ที่ผ่านมาได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมหรือเสาส่งสัญญาณมาโดยตลอด ซึ่งประชาชนในหลายพื้นที่คัดค้านหรือไม่เห็นด้วย ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค) ครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 จึงมีมติให้สำนักงานจัดทำหลักเกณฑ์การทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ข้างเคียงตามประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตในการติดตั้งเสาวิทยุโทรคมนาคมมีหน้าที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เพื่อป้องกันความวิตกกังวลของประชาชนที่อาจเกิดขึ้นได้

“ปัญหาที่เผชิญอยู่ตอนนี้มีทั้งกรณีที่มีการตั้งเสาส่งสัญญาณแล้ว แต่ยังไม่มีการทำความเข้าใจกับประชาชน และกรณีที่ยังไม่มีการตั้งเสาส่งสัญญาณ ว่าจะมีแนวทางในการทำความเข้าใจอย่างไร โดยตอนที่มีการยกร่างแนวทางทำความเข้าใจนี้ขึ้นมา ได้นำไปหารือกับ กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เพื่อรับฟังคำแนะนำ หลังจากนั้นก็ได้นำร่างแนวทางไปหารือกับผู้ประกอบการจำนวน 2 ครั้ง ก่อนที่มาจัดรับฟังความคิดเห็นของผู้บริโภคในวันนี้ เพื่อให้เกิดแนวทางการตั้งเสาที่ชัดเจนและยอมรับร่วมกัน” ผู้แทนสำนักงาน กสทช. กล่าว

ทั้งนี้ ร่างแนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมฯ ที่นำเสนอต่อเวทีรับฟังเสียงผู้บริโภคนั้น กำหนดให้ก่อนการขอรับใบอนุญาต ต้องมีการติดตั้งป้ายเพื่อแสดงข้อมูลและแจกเอกสารเผยแพร่เพื่อเป็นการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ และหากมีการร้องเรียนก็ให้ผู้ประกอบการแจ้งผู้นำท้องถิ่นเชิญประชาชนมาประชุมเพื่อทำความเข้าใจจำนวน 1 ครั้ง โดยผู้ที่เข้าร่วมประชุมนั้นให้เป็นไปตามที่ผู้นำท้องถิ่นเห็นสมควร

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวภายในสำนักงาน กสทช. ระบุว่า ร่างแนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมฯ ที่นำมารับฟังความคิดเห็นผู้บริโภคในวันนี้ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับร่างที่นำไปปรึกษาหารือกับ กสทช. ประวิทย์ฯ เนื่องจากร่างนั้นกำหนดว่ากระบวนการทำความเข้าใจกับประชาชนต้องมีการจัดประชุมกับประชาชนก่อนการตั้งเสาส่งสัญญาณ โดยมีรัศมีของพื้นที่ที่จะต้องทำความเข้าใจ 400 เมตรจากจุดติดตั้ง หรือ 7 เท่าของความสูงเสาส่งสัญญาณ ขณะที่ร่างที่นำมารับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภคในวันนี้เป็นฉบับที่ยกร่างขึ้นร่วมกับผู้ประกอบการ ซึ่งได้มีการตัดเรื่องการจัดประชุมออกไป คงเหลือวิธีการทำความเข้าใจเพียงการติดป้ายและแจกเอกสารเท่านั้น

สำหรับความเห็นของผู้บริโภคภายหลังรับฟังการนำเสนอร่างแนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมฯ ของสำนักงาน กสทช. ล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่าการติดป้ายและแจกเอกสารเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนนั้นไม่เพียงพอ เพราะหัวใจสำคัญของกระบวนจะต้องมีการจัดเวทีประชาคมเพื่อพูดคุยและทำความเข้าใจกันด้วย โดยการแจกเอกสารและการให้ข้อมูลเป็นส่วนเสริมเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ ซึ่งต้องมีการนำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้านที่แสดงให้เห็นทั้งด้านของประโยชน์และผลกระทบ และหากในระหว่างนั้นมีการร้องเรียนเกิดขึ้น สำนักงาน กสทช. ต้องไม่ออกใบอนุญาตโดยเด็ดขาด

นายพงษ์ภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ ตัวแทนผู้บริโภคจากจังหวัดสมุทรสงคราม เสนอว่า แนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนควรเริ่มต้นจากการปักป้ายแจ้งแสดงจุดที่จะตั้งเสาส่งสัญญาณ รวมทั้งแจกเอกสารแจ้งกับประชาชนให้ได้รับรู้ข้อมูลและเรื่องการจัดเวทีประชาคม โดยอาจขอความร่วมมือจากผู้นำท้องถิ่นในการประกาศผ่านเสียงตามสายให้ประชาชนรับทราบ ส่วนในขณะจัดเวทีประชาคมนั้นก็ให้มีการนำเสนอข้อมูลที่รอบด้าน ซึ่งคนในชุมชนสามารถเสนอผู้ที่จะมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ เพราะโดยปกติผู้ประกอบการย่อมพูดถึงแต่ด้านดี ดังนั้นก็ควรเปิดโอกาสให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลอย่างรอบด้านด้วย และที่สำคัญไม่ควรมีการกำหนดจำนวนครั้งของการจัดประชุม เพราะสาระสำคัญอยู่ที่ว่าต้องจัดจนเกิดความเข้าใจหรือจนมีการตัดสินใจ

ส่วนนายวินัย กาวิชัย ตัวแทนผู้บริโภคจากจังหวัดตราด เสนอว่าในกระบวนการทำความเข้าใจต้องมีข้อห้ามมิให้บริษัทแจกสิ่งของแก่ชุมชน มิเช่นนั้นการตัดสินใจของชุมชนจะไม่อยู่บนหลักเหตุผล

ด้านนายวิทยา ทาแก้ว ตัวแทนผู้บริโภคจากจังหวัดลำปาง กล่าวว่า การทำความเข้าใจกับประชาชนเป็นเพียงหนึ่งในกระบวนการการตั้งเสาส่งสัญญาณ อันที่จริงควรมีการพูดคุยกันกับผู้บริโภคตั้งแต่เรื่องแนวทางการตั้งเสาส่งสัญญาณมากกว่า เช่นการมีกติกาว่าเสาส่งสัญญาณต้องตั้งห่างจากชุมชนไม่ต่ำกว่า 400 เมตร เนื่องจากในต่างประเทศมีงานศึกษาวิจัยจำนวนมากที่กล่าวถึงผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่อสุขภาพ และในชนบทหลายพื้นที่ก็ประสบปัญหาฟ้าผ่าที่ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าของบ้านเรือนแถวนั้นเสียหาย ดังนั้นการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วย อย่าอาศัยความไม่รู้ของประชาชนแล้วปล่อยปละละเลยเช่นนี้

ตัวแทนองค์กรผู้บริโภคหลายรายยังระบุตรงกันว่า ควรต้องมีข้อกำหนดเกี่ยวกับระยะ “ปลอดเสาฯ” สำหรับสถานที่ที่มีความอ่อนไหวต่างๆ เช่น ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน โรงพยาบาล วัด เป็นต้น โดยมีการเสนอระยะทางที่ 400 เมตร 500 เมตร และ 1 กิโลเมตร

นอกจากนั้นในเวทียังมีการแสดงความเห็นในรายละเอียดต่างๆ ซึ่งทางสำนักงาน กสทช. รับที่จะนำไปพิจารณาปรับแนวทางการทำความเข้าใจก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม เพื่อประกาศใช้ต่อไป โดยก่อนการประกาศจะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอีกครั้งหนึ่ง

พิมพ์