จับพิรุธประมูล 3G ส่อเอื้อประโยชน์ผู้ประกอบการ

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 3269

จับพิรุธร่องรอย “ความผิดปกติ” ในการประมูล 3G ส่อเอื้อประโยชน์ “ผู้ประกอบการ” อย่างเป็นระบบ


การประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz เพื่อให้บริการ 3G ได้สิ้นสุดลงแล้วในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2555 พร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติ อย่างมหาศาลจากการออกแบบการประมูลที่ล้มเหลว เนื่องจากราคาชนะประมูลสุดท้ายสูงกว่าราคาตั้งต้นการประมูลเพียง 2.78 เปอร์เซ็นต์ หรือขยับขึ้นไปจากราคาตั้งต้นรวมทุกชุดคลื่น 40,500 ล้านบาท เพียง 1,125 ล้านบาท สร้างรายได้ต่ำกว่าตัวเลขประเมินรายรับจากการให้อนุญาตใช้คลื่น 2.1 GHz ที่ทาง กสทช. ว่าจ้างให้ทีมวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ คำนวณ ถึง 16,335 ล้านบาท

การไม่แข่งขันด้านราคาประมูลนี้ทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยว่ามีการ “ฮั้ว” ประมูลเกิดขึ้นหรือไม่ หรือกระทั่งมีข้อวิจารณ์ว่า กสทช. เป็นผู้จัดฮั้วประมูลผ่านการออกแบบกฎกติกาที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขันประมูล เสียเอง รายงานชิ้นนี้มุ่งตรวจสอบ “ร่องรอย” ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในการประมูลครั้งประวัติศาสตร์นี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการประมูลครั้งนี้น่าจะถูกออกแบบมาเพื่อเอื้อประโยชน์ ต่อภาคเอกชนมากกว่าผลประโยชน์ของภาครัฐและสังคม “อย่างเป็นระบบ” หาใช่สิ่งที่ กสทช. คาดเดาไม่ได้

1.    ความผิดปกติในการกำหนดราคาตั้งต้น
สำหรับผู้ติดตามกระบวนการกำหนดนโยบายของการประมูลคลื่น 2.1 GHz ครั้งนี้มาตลอด การกำหนดราคาตั้งต้นประมูลที่ 4,500 ล้านบาทนั้นน่าจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะเป็นสิ่งที่ ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมาตลอดว่าราคาตั้งต้นประมูลไม่ควรสูงเกินไปและไม่ควรเกิน 5,000 ล้านบาท ตั้งแต่ก่อนที่ทีมวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จะนำเสนอผลการศึกษาให้กับคณะอนุกรรมการฯ และก่อนที่จะมีการถกเถียงเพื่อหามติร่วมในที่ประชุมอนุกรรมการฯ ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2555 ด้วยซ้ำ

ในเดือนมีนาคม 2555 ซึ่งยังไม่ได้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการฯ เพื่อสนับสนุนการเตรียมความพร้อมประมูล ดร.เศรษฐพงค์ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ราคาตั้งต้นการประมูลนั้นไม่ควรสูงเท่ากับการประมูลครั้งก่อนหน้าที่ กทช. เป็นผู้ออกแบบไว้ในปี 2553 คือ 12,800 ล้านบาท (ต่อ 15 MHz) โดยอ้างว่าเทคโนโลยี 3G มีราคาถูกลง และเสนอราคาตั้งต้นที่ 7,000–10,000 ล้านบาทต่อ 15 MHz หรือประมาณ 2,300–3,300 ล้านบาทต่อ 5 MHz เท่านั้น  ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้ตั้งอยู่บนผลการศึกษาหรือหลักฐานใดๆ เลย ซึ่งในภายหลังก็ปรากฏว่าผู้ประกอบการอย่างน้อย 2 ราย ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่ามีความเต็มใจที่จะจ่ายในราคาที่สูงกว่าราคาตั้งต้น การประมูลครั้งก่อนหน้า การนำเสนอตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมากในครั้งนั้นอาจสะท้อนให้เห็นทัศนะ พื้นฐานหรือ “ความเชื่อ” โดยไม่อยู่บนฐานข้อมูลหลักฐานใดๆ ของประธาน กทค. ที่ส่งผลให้เกิดการเอื้อประโยชน์ต่อภาคเอกชน


ต่อมาในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2555 ดร.เศรษฐพงค์ได้ออกมาให้ข่าวว่า ราคาตั้งต้นควรใกล้เคียงกับการประมูลครั้งก่อนหน้า หรือประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อชุดคลื่น 5 MHz  โดยอ้างว่าเป็นข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ กลับชี้ให้เห็นว่า ในช่วงเวลาที่ ดร.เศรษฐพงค์ให้สัมภาษณ์ ทางทีมวิจัยซึ่งรับหน้าที่ในการหาราคาตั้งต้นยังไม่ได้เข้ามานำเสนอผลการ ศึกษาให้กับคณะอนุกรรมการฯ (นำเสนอวันที่ 19 มิถุนายน 2555) และยังไม่ได้มีการหารือเพื่อหามติร่วม (มีการกำหนดราคาตั้งต้นวันที่ 25 มิถุนายน 2555) นอกจากนั้น ในช่วงเช้าของวันที่ 25 มิถุนายน 2555 ก่อนที่จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการฯ เพื่อสรุปราคาตั้งต้น ดร.เศรษฐพงค์ได้อ้างว่าทางทีมวิจัยเสนอให้กำหนดราคาตั้งต้นจาก 67% ของราคาประเมิน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ “มีแนวโน้ม” ที่จะเลือกตัวเลขประเมินมูลค่าคลื่นที่ 6,440 ล้านบาท (ในร่างรายงานการศึกษาของทีมวิจัยเสนอไว้ที่ 6,770 ล้านบาท ก่อนจะมีการเปลี่ยนกลับมาที่ 6,440 ล้านบาทในรายงานฉบับสมบูรณ์) ดังนั้นราคาตั้งต้นควรจะอยู่ที่ 4,200-4,300 ล้านบาท  ซึ่งเป็นการคาดการณ์ทุกอย่างก่อนการประชุมได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ ด้วยเหตุนี้ การอ้างราคาตั้งต้นดังกล่าวจึงน่าจะแสดงให้เห็นว่าอาจมีการตั้ง “ธง” ตัวเลขของ ดร.เศรษฐพงค์ โดยไม่ได้ผ่านการรับฟังผลการศึกษาและการถกเถียงในที่ประชุมของคณะอนุกรรม การฯ ที่แต่งตั้งขึ้นมาเพื่อให้ความเห็น

นอกจากการให้สัมภาษณ์ดังกล่าว รายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 10 ซึ่งถกเถียงกันถึงการกำหนดราคาตั้งต้นการประมูล มีประเด็นที่ชวนให้เกิดข้อสงสัย คือแม้คณะวิจัยจากเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ยกตัวเลข 0.67 ซึ่งมาจากค่าเฉลี่ยสัดส่วนระหว่างราคาตั้งต้นและราคาชนะการประมูลของ 17 ประเทศ (ในรายงานฉบับสมบูรณ์คำนวณจาก 13 ประเทศ) ทว่าทางคณะวิจัยไม่ได้เสนอให้ใช้ตัวเลขดังกล่าวในการคำนวณราคาตั้งต้นแต่ อย่างไร การเสนอให้ใช้ตัวเลขดังกล่าวเป็นของคณะอนุกรรมการฯ ท่านอื่น อาทิ นายจิตรนรา นวรัตน์ ดร.เชิดชัย ขันธ์นะภา พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร และ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ ซึ่งก็ชวนให้ตั้งคำถามต่อไปว่าเหตุใดคณะอนุกรรมการเหล่านั้นจึงรวบรัดเสนอ ตัวเลข 0.67 ที่ไม่ได้เป็นข้อเสนอของทางคณะวิจัยในที่ประชุม และเหตุใดคณะอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านจึงยอมรับตัวเลข 0.67 ซึ่งเป็นการคำนวณจากกรณีการประมูลของต่างประเทศที่มีเงื่อนไขการประมูล พื้นฐานทางเศรษฐกิจ และตลาดโทรคมนาคม ที่แตกต่างจากของไทย
ร่องรอยความผิดปกติดังกล่าวทำให้อดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่า การกำหนดราคาตั้งต้นที่ 4,500 ล้านบาท มีการตั้ง “ธง” ล่วงหน้าไว้ก่อนหรือไม่

2.    ความผิดปกติในการตัดสินใจลดเพดานถือครองคลื่นจาก 20 MHz เหลือ 15 MHz
ในการออกแบบการประมูลก่อนรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ทางคณะอนุกรรมการฯ กำหนดเพดานถือครองคลื่นความถี่ไว้ที่ 20 MHz ด้วยเหตุผลว่า ในการประมูลที่คาดการณ์ได้ว่าจะมีผู้เข้าประมูล 3 ราย และมีคลื่นทั้งหมด 45 MHz การกำหนดเพดานไว้ที่ 20 MHz อาจทำให้ผู้ประกอบการบางรายแข่งประมูลเพื่อให้ได้จำนวนคลื่นความถี่มากกว่า รายอื่น ขณะที่การปรับลดเพดานถือครองคลื่นเหลือเพียง 15 MHz จะทำให้เกิดการแบ่งชุดคลื่นลงตัว 3 ราย และไม่มีการแข่งขันประมูลเพราะอุปสงค์เท่ากับอุปทาน เป็นเสมือนการแจกใบอนุญาตในราคาตั้งต้นมากกว่าการประมูล  ดังที่ ดร.เศรษฐพงค์เคยกล่าวกับสื่อว่า หากกำหนดไว้ที่ 15 MHz จะทำให้ไม่เกิดการแข่งขันหากมีผู้เข้าประมูล 3 ราย   

ภายหลังการรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการรายเดิมทั้งสามรายที่ต่างเห็นพ้องว่าคลื่น 15 MHz เพียงพอต่อความต้องการ กทค. จึงได้ตัดสินใจปรับลดเพดานถือครองคืนความถี่เหลือ 15 MHz ด้วยเหตุผลว่าไม่ต้องการให้เกิดกรณีที่มีเจ้าใหญ่สองราย (AIS และ DTAC) ได้คลื่นไปเจ้าละ 20 MHz เพื่อกักตุน และเหลือคลื่นเพียง 5 MHz ให้กับรายเล็ก (True) ซึ่งไม่เพียงพอต่อการแข่งขัน


การตัดสินใจทางนโยบายดังกล่าว ซึ่งสร้างเงื่อนไขที่ปราศจากการแข่งขันประมูล ส่อพิรุธไปในทางเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการบางราย ดังนี้


1.    ในการปรับเปลี่ยนสำคัญที่มีผลต่อการกำหนดผลการประมูล เหตุใดทาง กทค. จึงไม่นำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับทางคณะอนุกรรมการฯ อีกครั้งหนึ่ง แต่กลับเลือกรับฟังผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ประโยชน์จากข้อเสนอดัง กล่าวโดยตรง ทั้งที่ ดร.เศรษฐพงค์อ้างกับสื่อมาตลอดว่า การตัดสินใจทุกอย่างนั้นได้ผ่านการพิจารณาของอนุกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย หรือเห็นว่าคณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติในที่ประชุมแล้วว่าการกำหนดเพดานถือครองคลื่นไว้ที่ 15 MHz จะสร้างเงื่อนไขที่ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันประมูล เพราะอันที่จริง ข้อเสนอและเหตุผลให้กำหนดเพดานประมูลคลื่นไว้ที่ 15 MHz ทางคณะอนุกรรมการฯ ก็ได้รับฟังจากผู้ประกอบการ โดยเฉพาะจาก True ในการประชุมก่อนหน้าที่จะมีการลงมติแล้ว แต่ก็ยังยืนยันเป็นมติร่วมว่าควรกำหนดเพดานไว้ที่ 20 MHz

2.    ในการให้สัมภาษณ์ในงาน Thailand 3G Gear Up 2012: Declaring Auction Procedure for 3G on 2.1 GHz วันที่ 5 มิถุนายน 2555 ดร.เศรษฐพงค์แสดงให้เห็นว่าอาจมีการตั้งธงที่ต้องการให้ปรับลดเพดานลงมา เหลือ 15 MHz ตั้งแต่ก่อนกระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยกล่าวในทำนองว่า ส่วนตัวแล้วต้องการให้ปรับลดเพดานเหลือ 15 MHz ทว่าตนทำงานในรูปแบบคณะกรรมการจึงไม่สามารถใช้ความคิดส่วนตัวได้ แต่ถ้าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมยืนยันและให้เหตุผล ทางคณะกรรมการก็คงต้องรับฟัง


3.    เหตุผลที่อ้างว่าคลื่นเพียง 5 MHz ไม่เพียงพอต่อการแข่งขันนั้น ขัดแย้งกับเหตุผลที่ กทค. ใช้เพื่อสนับสนุนการออกแบบวิธีประมูลโดยแบ่งคลื่น 45 MHz ออกเป็น 9 ชุด ชุดละ 5 MHz นั่นคือ คลื่น 5 MHz เป็นขนาดคลื่นที่เพียงพอต่อการให้บริการ 3G  และเปิดโอกาสให้ทุนขนาดเล็กมีโอกาสเข้ามาประมูลคลื่นเพียง 1 ชุดได้ โดยอาจเน้นให้บริการในเขตเมืองเป็นหลักหรือให้บริการบนเครือข่ายเสมือน (Mobile Virtual Network Operator หรือ MVNO) เพื่อให้เกิดการแข่งขันในตลาด (แม้ว่าทาง นพ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา จะค้านว่า 5 MHz ไม่เพียงพอต่อการให้บริการก็ตาม) ด้วยเหตุนี้ การปรับลดเพดานด้วยเหตุผลเพื่อปกป้องผู้ประกอบการรายที่สามไม่เพียงแต่ขัด แย้งกับข้อมูลและเหตุผลที่ให้กับสังคมก่อนหน้า แต่ยังอาจสะท้อนได้ว่า กทค. สนใจผลประโยชน์ของผู้ประกอบการเจ้าเดิมบางรายมากกว่าเปิดโอกาสให้มีรายใหม่ เข้ามาในตลาดอย่างแท้จริง


3.    ความผิดปกติเกี่ยวกับจำนวนผู้เข้าประมูล
ข้ออ้างหนึ่งที่ กทค. ใช้อยู่เสมอในการกำหนดราคาตั้งต้นต่ำกว่าราคาประเมินที่เสนอโดยคณะวิจัยคือ กทค. ไม่อาจคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าประมูลเพียงสามราย และไม่ควรออกแบบการประมูลเพื่อให้เข้ากับกรณีนั้นเป็นการเฉพาะ แต่จากการตรวจสอบของคณะทำงานติดตาม กสทช. กลับพบว่า ดร.เศรษฐพงค์เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อหลังการกำหนดเพดานคลื่น 20 MHz และราคาขั้นต่ำ 4,500 ล้านบาทว่า “สำหรับราคาเริ่มต้นการประมูลนี้ และวิธีการประมูลนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANCE บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE..”  นอกจากนั้น การตัดสินใจออกแบบประมูลของ กทค. ที่ผ่านมาล้วนสะท้อนให้เห็นว่ามีฐานคิดจากการคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าร่วม ประมูลเพียง 3 ราย ดังนี้

1.    กทค. ตัดสินใจยกเลิกสูตรประมูล N-1 และการให้ใบอนุญาตตายตัว 3 ใบ ใบละ 15 MHz ซึ่งเป็นสูตรที่ออกแบบเพื่อใช้การประมูลก่อนหน้าโดย กทช. ด้วยเหตุผลว่า ในกรณีที่มีผู้เข้าประมูล 3 ราย จะมีผู้ประมูลได้ใบอนุญาตไปเพียง 2 ราย (3-1) ซึ่งส่งผลต่อการแข่งขันในตลาด และเป็นการบริหารคลื่นความถี่อย่างไม่มีประสิทธิภาพในภาวะที่ความต้องการใช้ บริการข้อมูลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น หากมีการประมูลใบอนุญาตที่เหลืออีกหนึ่งใบในภายหลัง ผู้ประมูลจะเหลืออยู่เพียงรายเดียวและได้คลื่นไปในราคาที่ถูก เหตุผลดังกล่าว ซึ่งทั้ง ดร.เศรษฐพงค์ และ ดร.สุทธิพล รวมถึง ดร.พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบประมูล ได้เคยออกมาให้สัมภาษณ์ทำนองเดียวกัน  น่าจะเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า กทค. ออกแบบนโยบายบนฐานคิดว่ามีผู้เข้าร่วมประมูล 3 รายมาตลอด


2.    การลดเพดานถือครองคลื่นเพื่อหลีกเลี่ยงผลการประมูล 20-20-5 และป้องกันรายเล็กที่สุดในสามเจ้าหลักได้คลื่นไปไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ก็แสดงให้เห็นว่า กทค. คาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประมูลเพียง 3 รายเช่นกัน


4.    ข้อพิรุธจากรายงานฯ ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
กทค. อ้างรายงานการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่และมูลค่าขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้ คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz ที่จัดทำโดยทีมวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ในการกำหนดราคาตั้งต้นการประมูลที่ 4,500 ล้านบาทต่อ 5 MHz โดยไม่สนใจข้อโต้แย้งของสังคมที่มีต่อตัวเลขดังกล่าว คณะทำงานฯ พบว่ามีข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับรายงานที่ถูกกล่าวอ้างเพื่อใช้ปกป้อง กทค. มาตลอด ดังนี้


1.    รายงานฉบับนี้ยังไม่เคยได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ให้ผู้มีส่วนได้เสียและ ประชาชนได้อ่านและวิพากษ์วิจารณ์ทั้งก่อนและหลังขั้นตอนการรับฟังความคิด เห็น ซึ่งอาจเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 59 ของ พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553

2.    รายงานดังกล่าวจัดทำขึ้นภายใต้เงื่อนไขการประมูลที่กำหนดเพดานถือครองคลื่น ความถี่ไว้ที่ 20 MHz (มีการจัดทำรายงานฯ ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2555 และนำเสนอผลการศึกษาเดือนมิถุนายน 2555) ซึ่งนับเป็นการออกแบบที่สนับสนุนการแข่งขันประมูล แต่ในภายหลังเมื่อมีการปรับลดเพดานลงมาเหลือ 15 MHz (กลางเดือนสิงหาคม 2555) ซึ่งทำให้ไม่เกิดการแข่งขันประมูล เงื่อนไขดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อจัดทำข้อเสนอด้วย

3.    การเลือกหยิบบางส่วนของรายงานมาใช้เพื่อสนับสนุนจุดยืนทางนโยบายของ กทค. เอง ในขณะที่ข้อเสนอบางส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อยืนยันว่าราคาค่าประมูลไม่มีผลกระทบกับค่าบริการของผู้บริโภค กลับไม่ได้รับการกล่าวถึง เพราะขัดกับข้อโต้แย้งของ กทค.

4.    วิธีการคำนวณมูลค่าคลื่นความถี่ได้รวมประสบการณ์การประมูลจากต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว ตัวเลข 6,440 ล้านบาท จึงเป็นตัวเลขประเมินการรายรับมากกว่าตัวเลขสูงสุดหากมีการแข่งขันประมูล เต็มที่ เพราะได้รวมประสบการณ์ที่ล้มเหลวไว้แล้ว ด้วยเหตุนี้จึงเหมาะสมที่จะนำมาใช้กำหนดราคาตั้งต้นมากกว่าตัวเลข 4,500 ล้านบาท

5.    มีการนำเสนอโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่สะท้อนให้เห็นว่า หากมีการประมูลของ 1 ชิ้น ปัจจัยของจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลจะมีส่วนในการกำหนดสัดส่วนระหว่างราคาตั้ง ต้นและราคาชนะการประมูลเท่าไร ซึ่งในกรณีของไทยนั้น การประมูลมีผู้เข้าร่วมเพียงสามราย และมีของในการประมูลสามชิ้น (เพราะแต่ละรายประมูลได้สูงสุด 3 ชุดคลื่น จาก 9 ชุดคลื่น) จึงถือว่ามีสัดส่วนเท่ากับ 1.0 หรือราคาตั้งต้นในกรณีนี้ควรจะอยู่ที่ 100 เปอร์เซ็นต์ของราคาคลื่นที่คาดว่าควรได้รับ เพราะจะไม่มีการแข่งขันเพื่อขยับราคาไปตามราคาตลาด และต่อให้มีผู้เข้าประมูลมากกว่า 3 ราย (เช่น มีผู้ประมูล 5 รายดังที่ ดร.สุทธิพลคาดหวังไว้) สัดส่วนการตั้งราคาก็ควรอยู่ที่ 0.9  โมเดลดังกล่าวถูกละเลยจากทาง กทค. และกลับไปเลือกตัวเลข 0.67 ซึ่งขาดที่มาที่ไปทางวิชาการที่เข้มแข็งพอ

6.    ทั้งที่ถูกตั้งคำถามมากมาย เหตุใดทางทีมวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จึงไม่เคยออกมาชี้แจงข้อกังขาของสังคมทั้งก่อนและหลังการประมูล


5.    ความผิดปกติจากคำกล่าวอ้างเรื่องสิทธิในการเลือกย่านความถี่จะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน
ข้อกล่าวอ้างของ กทค. โดยเฉพาะ ดร.เศรษฐพงค์ ที่ออกมายืนยันอย่างหนักแน่นหลังการปรับลดเพดานการถือครองคลื่นความถี่เหลือ 15 MHz คือแม้จะมีผู้เข้าประมูลสามราย แต่ทั้งสามรายก็จะแข่งกันเพื่อให้ได้สิทธิในการเลือกย่านความถี่ก่อน โดยย่านความถี่ริมสุดที่ติดกับผู้ประกอบการรายอื่นเพียงด้านเดียวเป็นย่าน ที่ดีที่สุด ดังที่ ดร.เศรษฐพงค์กล่าวว่า “ถ้าไม่ได้สิทธิเลือกสลอตนี้ก่อน คนอื่นอาจจะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท”  (คำกล่าวนี้นอกจากจะได้รับการพิสูจน์ว่าไม่จริงในการเลือกย่านคลื่นที่เกิด ขึ้นจริง ทว่าหากย่านดังกล่าวมีมูลค่าเพียง 1,000 ล้านบาทจริง ก็ไม่ควรคาดหวังว่าสิทธิดังกล่าวจะทำให้เกิดการแข่งขันประมูลมากดังที่กล่าว อ้าง)

อย่างไรก็ตาม ผลที่ออกมากลับตรงกันข้ามกับสิ่งที่ ดร.เศรษฐพงค์ยืนยันตลอดมา กล่าวคือ AIS เลือกช่วงคลื่นที่ติดกับ TOT (1950 MHz - 1965 MHz และ 2140 MHz - 2155 MHz) (โดยผู้บริหารของ AIS ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่าเป็นช่วงคลื่นที่มีการรบกวนน้อยที่สุด และติดกับ TOT ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันมายาวนาน)  ส่วน True ที่มีสิทธิเลือกอันดับสองกลับเลือกคลื่นตรงกลางที่ติดกับรายอื่นทั้งสองด้าน (1935 MHz – 1950 MHz และ 2125 MHz – 2140 MHz) เหลือย่านคลื่นที่อ้างว่าดีที่สุดให้กับ DTAC (1920 MHz – 1935 MHz และ 2110 MHz – 2125 MHz) ได้ไปโดยไม่ต้องแข่งขันอะไร

ผลการเลือกย่านความถี่ที่ออกมาพิสูจน์ว่า ผู้ประกอบการไม่ได้เห็นความแตกต่างระหว่างย่านความถี่ดังที่ ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวอ้างมาตลอด รวมถึงยังยืนยันถึงข้อพิรุธที่เกี่ยวข้องดังนี้
1.    การศึกษาของทางสำนักงาน กสทช. ไม่ปรากฏข้อมูลที่ยืนยันว่าสิทธิในการเลือกย่านความถี่จะช่วยให้เกิดการแข่ง ประมูลดังที่กล่าวอ้าง อีกทั้งรายงานการประชุมของอนุกรรมการฯ ก็ไม่ได้มีการถกเถียงหรือยืนยันความสำคัญของสิทธิเลือกย่านความถี่ต่อการ ประมูลมากนัก หากเชื่อว่าประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญถึงขั้นส่งผลต่อการแข่งขันประมูล ทฤษฎีความแตกต่างของย่านคลื่นความถี่จึงเป็นข้อกล่าวอ้างของ ดร.เศรษฐพงค์เป็นหลัก ไม่ได้มีการรับรองใดๆ จากทางสำนักงานของ กสทช. คำถามคือเหตุใดทาง ดร.เศรษฐพงค์จึงต้องวิ่งหางานวิจัยจากภายนอกเพื่อมาสนับสนุนการตัดสินใจ อย่างรวดเร็ว โดยไม่ได้ใช้ช่องทางของ กสทช. ไม่ว่าจะผ่านอนุกรรมการฯ หรือการศึกษาของสำนักงาน หากเห็นว่าย่านคลื่นเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ

2.    ทาง ดร.เศรษฐพงค์ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนหลังการเลือกย่านคลื่นเสร็จสิ้นว่า ตนมีคำอธิบายอยู่ในใจแล้วว่าทำไมผู้ประกอบการถึงไม่เลือกย่านที่ดีที่สุด แต่ยังพูดไม่ได้ในช่วง silent period  คำถามก็คือ หากมีคำตอบที่คาดเดาได้อยู่แล้ว ดร.เศรษฐพงค์ใช้เหตุผลอะไรมายืนยันตลอดว่าสิทธิในการเลือกย่านคลื่นก่อนจะ ส่งผลให้เกิดการประมูล จนนำไปสู่การประมูลที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

ความผิดปกติที่กล่าวมายังไม่รวมถึงข้อพิรุธจากการเร่งรัดการอนุมัติผลการ ประมูลโดยบอร์ดของ กทค. เอง โดยหลีกเลี่ยงไม่เข้าบอร์ดใหญ่ของ กสทช. และไม่สนใจบันทึกข้อความของนายณกฤช เศวตนันทน์ ที่ปรึกษาประจำด้านกฎหมายของ ดร.เศรษฐพงค์ ที่เสนอให้ กทค. พิจารณาไม่รับรองผลการประมูล เนื่องจากเสี่ยงต่อการทำผิดอาญาตาม พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 การลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมด้วยการเร่งรีบออกมาประกาศว่าจะให้มีการ ปรับลดอัตราค่าบริการลง 15-20 เปอร์เซ็นต์ (ซึ่ง นพ.ประวิทย์เคยเสนอไว้ก่อนหน้านี้ที่จะมีการประมูลแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีการทำอะไรอย่างจริงจังจนกระทั่งเกิดกระแสวิพากษ์การประมูล)  โดยไม่ได้ผ่านการประชุมบอร์ด กทค. ก่อน หรือการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพฤติกรรมประมูล 3G โดย 4 ใน 7 คนเป็นคนในสำนักงาน กสทช. หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกแบบประมูล


คณะทำงานติดตาม กสทช. เห็นถึงผลประโยชน์มากมายจากเทคโนโลยี 3G และคนไทยสมควรมีโอกาสได้ใช้ 3G โดยเร็วที่สุด คณะทำงานฯ ไม่ต้องการเห็นการล้มประมูล 3G ซึ่งส่งผลให้การให้บริการ 3G ล่าช้าออกไป เพียงแต่ต้องการให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้นในการประมูล และได้รับข้อมูลที่ชัดเจนในประเด็นที่อาจชี้ให้เห็นความผิดปกติในการออกแบบ การประมูลซึ่งสร้างความเสียหายให้กับประเทศและผู้เสียภาษีมหาศาล    

ครั้งหนึ่ง ดร.เศรษฐพงค์เคยกล่าวว่า “การประมูล 3G ถือเป็นภารกิจเพื่อชาติ ใครมาขัดขวาง ผมถือเป็นศัตรูของชาติ”  คำถามที่คณะทำงานฯ มีคือ การออกแบบการประมูลจนก่อให้เกิดข้อสังเกตในเรื่องความผิดปกติมากมาย และอาจสร้างความเสียหายต่อรัฐและผู้เสียภาษีมากกว่า 16,000 ล้านบาท จนนำไปสู่การตรวจสอบและฟ้องร้องมากมายที่อาจทำให้การให้บริการ 3G ล่าช้าลงนั้น จะถือเป็นการกระทำที่เป็น “ศัตรูของชาติ” หรือไม่

 

คณะติดตามการทำงาน กสทช. (NBTC Watch)
ข้อมูลจาก นสพ.ฐานเศรษฐกิจ 7/11/55

พิมพ์