อนุฯคุ้มครองโทรคมนาคมมีมติกรณีปัญหาพรีเพดและตู้เติมเงินออนไลน์

เขียนโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ วันที่ . จำนวนผู้ชม: 2430

อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม เสนอ กสทช. ออกคำสั่งทางปกครองบริษัทมือถือ หลังพบแม้ กทค. มีมติห้ามกำหนดวันหมดอายุพรีเพด แต่ยังพบการร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง ด้านปัญหาตู้เติมเติมเงินออนไลน์ ประสานไอซีทีออกพ.ร.ก.ดูแลตู้เติมเงินออนไลน์เพื่อรองรับธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยุคหลอมรวม และเตรียมสำรวจสถิติอมเงินของตู้แต่ละประเภทด้วย

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า  ที่ประชุมอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ได้มีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับปัญหาตู้เติมเงินออนไลน์ และกำหนดระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการล่วงหน้า (พรีเพด)

กรณีการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการล่วงหน้า (พรีเพด) นั้น นางสาวสารี กล่าวว่า ที่ประชุมอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม มีความเห็นว่า จากการที่ที่ประชุมกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ เคยมีมติภายใต้การหารือร่วมกับบริษัทผู้ให้บริการว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน และต่อมาได้ขยายระยะเวลาให้อีก ๖๐ วัน เพื่อให้เวลาบริษัทในการแสดงต้นทุนและเสนอระยะเวลาขั้นต่ำในการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการพรีเพด ซึ่งเท่ากับว่าจะครบกำหนดประมาณวันที่ ๘ พฤษภาคมนี้   โดยในระหว่างนี้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดทุกรายต้องไม่มีการกำหนดระยะเวลาการใช้งาน และหากผู้บริโภครายใดถูกตัดบริการเนื่องจากถูกกำหนดระยะเวลาการใช้งาน ขอให้ร้องเรียนเข้ามาที่ กลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม หรือ สบท.เดิม หมายเลข ๑๒๐๐ กด ๑

“ในระหว่างที่ยังไม่ได้ข้อยุตินี้ ที่ประชุมอนุกรรมการฯจึงขอให้ทุกบริษัทปฏิบัติตามกฎหมาย โดยห้ามกำหนดระยะเวลาการใช้งาน ซึ่งในเบื้องต้นเราพบว่า แม้ กทค.จะมีมติว่า ในช่วงระหว่างนี้ห้ามกำหนดระยะเวลาการใช้บริการ แต่กลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนก็ยังได้รับการร้องเรียน ตั้งแต่ ๘ ก.พ ถึง ๑๙ มี.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการที่ถูกกำหนดวันใช้งาน ถูกยึดเงิน ถูกระงับเลขหมาย และถูกยกเลิกบริการจำนวน ๕๙ ราย เป็นของบริษัทเอไอเอส ๑๒ กรณี ดีแทค ๒๑ กรณี  ทรูมูฟ ๑ กรณีและฮัทช์  ๒๔  กรณี จึงขอให้ กสทช.มีคำสั่งทางปกครองกับบริษัทมือถือที่ฝ่าฝืน มติ กทค.ดังกล่าว” ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมกล่าว

กรณีปัญหาตู้เติมเงินออนไลน์นั้นที่ประชุมได้มีการหารือกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นที่ทราบดีว่า รูปแบบการเติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านตู้เติมเงินออนไลน์จะขยายตัวมากขึ้น เพราะบริษัทมือถือต้องการลดต้นทุนในการเติมเงินผ่านบัตรเติมเงิน และผู้ใช้บริการส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือผู้มีรายได้น้อย โดยมีมูลค่าทางการตลาดกว่า ๙,๐๐๐ ล้านบาทต่อเดือนนั้น  ที่ประชุมจึงได้พิจารณาในด้านกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วพบว่า เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน จึงได้มีมติในกรณีนี้ใน ๔ ประเด็นคือ ให้สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือถึง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อขอความร่วมมือในการออกพระราชกฤษฏีกาที่ครอบคลุมถึงการใช้บริการตู้เติมเงินออนไลน์ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางการเงินโดยตรง

“ เนื่องจากกระทรวงไอซีทีมีอำนาจตาม พรบ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในการออกพรก.เพื่อควบคุมธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามประเภทธุรกิจที่เห็นสมควร เช่น การที่กระทรวงไอซีทีออกพรก.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งให้อำนาจแบงค์ชาติดูแลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับช่องทางการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น M-pay  ,ทรูมันนี่  เป็นต้น แต่ก็ยังมีช่องโหว่เนื่องจากตู้เติมเงินออนไลน์ถูกตีความว่าไม่ถือเป็นช่องทางการชำระเงิน แต่เป็นตัวแทนการซื้อขายสินค้า โดยมีแอร์ไทม์เป็นสินค้า จึงไม่เข้าข่าย พรก.ฉบับนี้ อีกทั้งตู้เติมเงินออนไลน์มีลักษณะของการหลอมรวมธุรกิจหลายประเภทคือ ทั้งเกมออนไลน์ จ่ายค่าน้ำค่าไฟ จึงไม่ใช่การคิดสั้นๆแค่ให้ กสทช. ไปคุมแต่คงต้องพิจารณาในระยะยาวเพื่อรองรับการหลอมรวมของธุรกิจด้วย ซึ่งกระทรวงไอซีทีสามารถทำได้ด้วยการนำเข้าสู่ที่ประชุมอนุกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อพิจารณาออกพรก.ใหม่ที่ครอบคลุม” นางสาวสารีกล่าว

ประเด็นที่สองคือ การทำความเห็นเสนอให้กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) เพื่อพิจารณาดำเนินการออกประกาศหรือมาตรการดำเนินการในเรื่องนี้ เนื่องจาก กทค. ได้เคยมีมติ เมื่อการประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๕๕ วันที่ ๑๗ ม.ค.๕๕ ว่า “การประกอบธุรกิจตู้เติมเงินออนไลน์ และการเป็นตัวแทนในการขายบัตรเติมเงินและบัตรโทรศัพท์ต่างประเทศ ไม่ถือเป็นกิจการโทรคมนาคมที่ต้องได้รับใบอนุญาต อย่างไรก็ตาม ผู้ดำเนินการมีลักษณะเป็นตัวแทนรับชำระเงินของผู้ประกอบการโทรคมนาคมจึงต้องมีสัญญาและความรับผิดชอบต่อต่อผู้ใช้บริการในความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้บริการนี้”  ซึ่งธุรกรรมตู้เติมเงินออนไลน์อาจเข้าข่ายตัวการตัวแทนตามกฎหมาย ที่ตัวการต้องร่วมรับผิดกับตัวแทนในการละเมิด อีกทั้งตาม พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง  วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๒๗ (๑๓) ให้อำนาจ กสทช. ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการ...

“อนุกรรมการด้านกฎหมายของเราให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องของตัวการตัวแทน ดังนั้น กสทช. น่าจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคได้ จึงขอให้พิจารณาในข้อกฎหมาย และภาระในการพิสูจน์หลักฐานควรเป็นภาระของผู้ประกอบการ หรือในระหว่างสูญญากาศเช่นนี้หากมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาก็ควรถือว่าเป็นปัญหาของผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมด้วย “นางสาวสารีกล่าว

ส่วนมติที่ประชุมในประเด็นที่สามคือ มอบหมายให้คณะทำงานพัฒนาและยกระดับประกาศ กฎเกณฑ์ และกติกา ศึกษาแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาตู้เติมเงินออนไลน์ด้วย

ประเด็นที่สี่คือ ให้มีการสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้บริการตู้เติมเงินออนไลน์ในการใช้บริการโทรคมนาคมในประเด็นต่างๆเช่น ค่าธรรมเนียมในการใช้บริการ ความถี่ของการถูกกินเงิน การบันทึกข้อมูล ประสิทธิภาพของตู้เติมเงินแต่ละประเภท ฯลฯ เพื่อให้ข้อสรุปว่า ตู้ระบบใดที่มีประสิทธิภาพในการให้บริการมากที่สุดและแจ้งให้กับผู้บริโภคทราบต่อไป

พิมพ์