โทรไม่ติด คิดเงิน...ส่งเพลิน"เอสเอ็มเอส" ปัญหา(ร่วม)ผู้บริโภคทั่วโลก

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 4150

จำนวนผู้ใช้มือถือ อินเทอร์เน็ต รวมไปถึงโทรศัพท์พื้นฐานทั่วโลก เติบโตเกือบเท่าๆ จำนวนประชากรโลก ที่มีกว่า 6.6 พันล้านคน ดังนั้น แน่นอนว่า เมื่อคนเยอะ เรื่องก็ต้องแยะตามมา นั่นทำให้ปัญหาการร้องเรียนของผู้บริโภคกลายเป็นปัญหาระดับสากลไปแล้วอย่างช่วยไม่ได้

      ตัวแทนองค์กรผู้บริโภคของฟิลิปปินส์ บอกว่า ในดินแดนตากาล็อก มีคนใช้มือถือมากกว่า 70 ล้านคน ส่งเอสเอ็มเอสกันต่อวันมากกว่า 1 พันล้านข้อความ นั่นทำให้รัฐบาลที่นี่เริ่มพูดถึงการเก็บภาษีเอสเอ็มเอส ผู้ให้บริการเลยบอกว่า ถ้ารัฐจัดเก็บเมื่อไร ก็จำเป็นต้องโยนภาระนี้ให้กับผู้บริโภคทันที


ผู้บริโภค(โทรคม)เจอปัญหาเดียวกัน

กลายเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ระดับโลก เพราะฟิลิปปินส์ขึ้นชื่อว่า เป็นประเทศที่มีการส่งเอสเอ็มเอสมากที่สุดในโลก!!!
      ขณะที่ "ฮ่องกง" วันนี้ปัญหาบริการด้านโทรคมนาคม กลายเป็นปัญหาอันดับ 1 ที่มีทั้งเรื่องค่าบริการ เอสเอ็มเอสสร้างความรำคาญ รวมไปถึงสแปมเมลบนโทรศัพท์มือถือ
      แม้แต่ในประเทศใหญ่ๆ ของโลก อย่าง สหรัฐอเมริกา ยังเป็น 1 ใน 4 ปัญหาหลักของประเทศ ในประเทศอังกฤษ ปัญหาด้านบริการมือถือ ติดอันดับ 2 ขณะที่ปัญหาโทรศัพท์มือถือในมุมฮาร์ดแวร์อยู่อันดับที่ 4

ผนึกกำลังอาเซียนแก้ปัญหา
      หันกลับมาที่ประเทศไทย นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) บอกว่า เอสเอ็มเอสขยะยังคงเป็นปัญหาที่ถูกร้องเรียนมากเป็นอันดับหนึ่ง สูงถึง 70% และที่กำลังจะเป็นปัญหาตามมา คือ ปัญหาการหมดอายุของบัตรเติมเงินพรีเพด รวมไปถึงสแปมอีเมลบนมือถือที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

      เมื่อกลายเป็นปัญหาระดับโลกขนาดนี้ "สบท." จึงได้จับมือกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคประเทศไทย เครือข่ายสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียน รวมถึงสหพันธ์ผู้บริโภคสากล จัดประชุมสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมอาเซียนขึ้น เป็นครั้งแรกขึ้นในประเทศไทย ประชุมกันตั้งแต่วันที่ 27-29 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อผนึกแนวร่วมในระดับอาเซียน หาแนวทางแก้ปัญหาให้กับทุกประเทศร่วมกัน
     
      น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และกรรมการ สบท. เล่าว่า ปัจจุบันมูลนิธิ ถือเป็นหนึ่งในสมาชิกของสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียน มีบทบาทสำคัญในการร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภคทุกๆ ด้าน

      ที่ผ่านมา ปัญหาด้านบริการโทรคมนาคม เป็นหนึ่งในปัญหาที่มีการร้องเรียนมากที่สุด รองจากปัญหาด้านการเงิน หรือปัญหาจากหนี้บัตรเครดิต จึงเป็นที่มา ในการดึง สบท.เข้ามาร่วมในเครือข่ายแห่งนี้ด้วย

      "ความร่วมมือครั้งนี้ จะครอบคลุมการแก้ปัญหาตั้งแต่ ระบบการเก็บค่าธรรมเนียมของแต่ละประเทศ การควบคุมการส่งข้อความสั้น หรือเอสเอ็มเอส การทำการตลาดผ่านบริการโทรคม เพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัว รวมถึงประเด็นผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้ และการพัฒนาระบบโทรคม โดยในระยะแรกองค์กรผู้บริโภคในแต่ละประเทศสมาชิก จะต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จากนั้นจะมีทีมงานทำวิจัย วิเคราะห์ และหาทางออกร่วมกัน ซึ่งอาจใช้เวลาหลายเดือน"

เสนอ กทช.ออกกฎคุมเอสเอ็มเอส
      ขณะที่ นพ.ประวิทย์ เสริมว่า ปัญหาเอสเอ็มเอสขยะในไทยปัจจุบัน ยังไม่มีกฎหมายควบคุม ขณะที่ประเทศที่มีกฎหมายควบคุมเอสเอ็มเอสขยะแล้วอย่าง ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และฮ่องกง ผู้ประกอบการก็ใช้วิธีเลี่ยงกฎหมายเข้ามาใช้บริการจัดส่งเอสเอ็มเอสขยะในไทย เพื่อจัดส่งกลับประเทศ ซึ่งการร่วมมือดูแลผู้บริโภคของสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนจะช่วยแก้ปัญหานี้ ลดการร้องเรียนจากผู้บริโภคลงได้

      อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สบท.ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการควบคุมเอสเอ็มเอสขยะ เพื่อเร่งเสนอให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) พิจารณาออกเป็นกฎหมาย โดยล่าสุด สบท.ยังมีแนวคิดเพิ่ม ที่จะรวมกฎหมายคุมเอสเอ็มเอส และกฎหมายคุมอีเมลขยะบนอินเทอร์เน็ต (สแปม) เข้าไว้ด้วยกัน

      "การประชุมครั้งนี้ ทำให้ทราบปัญหาที่แต่ละประเทศพบ โดยผมเห็นว่ากฎหมายควบคุมเอสเอ็มเอสขยะ ควรครอบคลุมเรื่องอีเมลขยะ และการส่งข้อความผ่านอินเทอร์เน็ตด้วย เพราะเมื่อ 3 จี เปิดให้บริการ จะทำให้มือถือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการหารือ และเสนอให้ กทช.ได้ทราบในวาระต่อไป"

     สำหรับการผนึกกำลังกับองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคระดับอาเซียนครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งตามแผนแม่บทโทรคมนาคมฉบับที่ 2 ซึ่ง กทช. กำหนดให้ สบท. มีความร่วมมือกับองค์ผู้บริโภคระดับนานาชาติด้วย

สร้างความเข้มแข็งผู้บริโภค
       รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียน บอกว่า ความร่วมมือดังกล่าวระยะแรก จะเน้น 2 เรื่องหลัก คือ การคิดอัตราค่าโทรศัพท์มือถือที่เท่าเทียมกัน และการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการด้านโทรคมนาคม หลังจากนั้น จะขยายให้ครอบคลุมในด้านอื่นๆ

      ขณะที่ในปี 2553 ประเทศอาเซียนจะเปิดเสรี 3 บริการหลัก ได้แก่ บริการสาธารณสุข บริการด้านการบิน และการขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต (อีคอมเมิร์ซ) ซึ่งสภาองค์กรก็จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาจากการใช้บริการดังกล่าวแบบข้ามพรมแดน หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นในประเทศสมาชิก ผู้เสียหายสามารถร้องเรียนในประเทศของตัวเองได้

      "ปัจจุบันมูลค่าตลาดโทรคมในไทยอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท และอนาคตก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการออกบริการที่หลากหลายขึ้นบนเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งผู้บริโภคจะต้องได้รับความเป็นธรรมในการใช้บริการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านคุ้มครอง จะต้องสามารถแก้ปัญหาให้ได้ในทันที"

      ปัจจุบันสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนจดทะเบียนมีสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และเวียดนาม

พิมพ์