สบท. และ กทช.จับมือผู้ให้บริการ แก้ปัญหา SMS รบกวน

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 4745


สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จัดเสวนาระดมความคิดแก้ปัญหาเอสเอ็มเอสรบกวนร่วมกับผู้ประกอบการและตัวแทนผู้บริโภค 3 ผู้ประกอบการใหญ่ ทั้งเอไอเอส ทรู ดีแทค เสนอแนวทางแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคโดยจับมือกันสร้างระบบแอนตี้แสปม ป้องกันโฆษณารบกวนทางโทรศัพท์มือถือ

สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระในกำกับดูแลของ กทช. และสำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม (กท.) ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้ร่วมกันจัดเวทีระดมความคิดต่อมาตรการการกำกับดูแล sms mms ขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ มีผู้เข้าร่วมกว่า 80 คน ทั้งตัวแทนจาก กทช. สบท. ตัวแทนผู้ประกอบการ ตัวแทนผู้ให้บริการข้อมูล (content provider) และตัวแทนจากผู้บริโภคในนามของศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เวทีครั้งนี้เป็นการระดมความคิดเห็นภายในกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดแนวทางในการดำเนินงานและมาตรการในการกำกับดูแลปัญหา sms mms รบกวน ซึ่งนับเป็นปัญหาที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างประสบโดยถ้วนหน้า และยังคงไม่มีทางออกที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหานี้

นายชาติชาย ใจเก่งกิจ หัวหน้าหน่วยบริการประชาชน สบท. เปิดเผยว่า หน่วยบริการประชาชนได้รับเรื่องร้องเรียนปัญหา sms mms จากผู้บริโภคทั้งสิ้น 55 ราย 66 เรื่องร้องเรียน โดยกรณีที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุดคือการได้รับข้อความรบกวนจากการขายสินค้าและบริการ การไม่สามารถยกเลิกบริการได้ และการถูกคิดค่าบริการจากการรับข้อความที่ไม่ได้สมัคร นอกจากนี้ จากผลการสำรวจความตระหนักด้านสิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2551 พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้รับข้อความที่ชักชวนให้ใช้บริการเรียงตามลำดับ คือ โหลดเพลง ข่าว ดูดวง ฟังผลบอล โหลดเกม ชิงโชค ฯลฯ โดยข้อความส่วนใหญ่จะแจ้งค่าบริการแต่ไม่แจ้งว่า ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดเป็นร้อยละ 41 ในส่วนที่ไม่แจ้งค่าบริการ คิดเป็นร้อยละ 29.5 ส่วนวิธีการยกเลิกบริการพบว่า ร้อยละ 66.6 ไม่ได้รับแจ้งวิธีการยกเลิกข้อความ

ในเบื้องแรกของการเสวนา ผู้เข้าร่วมต่างสะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมได้รับความเดือดร้อนจากข้อความสั้นในประเด็นต่างๆ โดยสรุปคือ ประการแรกเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เนื่องจากเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวถูกนำไปเปิดเผยให้กับกลุ่มธุรกิจ ส่งข้อความสั้นมาขายของรบกวน เช่น พบเลขเด็ดจากหลวงพ่อปากแดง กด... ประการที่สองคือบริการเสริมที่ส่งมาเป็นแบบ “สมัครง่าย แต่เลิกยาก” เพราะไม่มีวิธีการที่ง่ายสำหรับผู้บริโภคในการบอกยกเลิก นำไปสู่ปัญหาการถูกหักเงินค่าโทรศัพท์โดยไม่ยินยอม ประการที่สามคือข้อความที่ส่งมาให้รับบริการเสริม มักคลุมเครือไม่ชัดเจน เช่น ดูดวงฟรี 15 วัน ซึ่งหมายถึง การเสียเงินสมัครรับบริการ 1 เดือนแล้วได้รับบริการฟรี 15 วัน เป็นต้น ประการที่สี่คือ บริการเสริมบางประเภท มีเนื้อหาและข้อความไม่เหมาะสม

นายอิสราวุธ ทองคำ ผู้ประสานงานภาคตะวันตก ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นขอเรียกว่า เป็นขโมยออนไลน์ เพราะชาวบ้านไม่เข้าใจว่าเงินที่มีอยู่ในโทรศัพท์หายไปได้อย่างไร หรือ ทำไมเงินที่เอาเข้าไปในระบบโทรศัพท์มือถือแล้ว ผู้บริโภคไม่สามารถควบคุมได้ ขณะที่ตัวแทนผู้บริโภครายหนึ่งจากจังหวัดพิจิตร ระบุว่า มีการส่ง mms เข้ามาที่โทรศัพท์มือถือ เมื่อกดเข้าไป กลับกลายเป็นเรายืนยันว่า เราได้สมัครรับบริการไปแล้ว และเมื่อจะยกเลิกก็ทำไม่ได้

ทางด้านตัวแทนจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า ข้อความสั้นที่ผู้บริโภคได้รับแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่มาจากการให้บริการของเจ้าของเครือข่าย กับส่วนที่เป็นข้อความโฆษณา จากผู้ให้บริการข้อมูล (content provider) ซึ่ง AIS ยืนยันว่า ไม่มีนโยบายขายข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าให้กับผู้ให้บริการข้อมูล แต่บริษัทฯทำหน้าที่เป็นเหมือนไปรษณีย์ไทย คือดำเนินการส่งจดหมายไปให้ผู้รับเท่านั้น ส่วนผู้ให้บริการข้อมูลอาจได้แหล่งเบอร์ส่วนตัวของลูกค้ามาจากบัตรเครดิต หรือการสมัครสมาชิกในสถานบริการอื่นๆ เช่น ร้านอาหาร ร้านวีดีโอ ทำให้เบอร์โทรศัพท์ของลูกค้าหลุดออกสู่สาธารณะ

ตัวแทน AIS ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการเชื่อมกันระหว่างผู้ให้บริการข้อมูลกับเจ้าของเครือข่ายด้วยว่า เมื่อผู้ให้บริการข้อมูลได้เบอร์โทรศัพท์ของลูกค้ามา เวลาจะจัดส่งข้อมูลไปยังลูกค้า ผู้ให้บริการข้อมูลต้องไปซื้อเครื่องบันทึกเทปขนาดใหญ่ ซึ่งเปรียบเหมือนการไปซื้อแสตมป์เพื่อส่งจดหมาย เพื่อเชื่อมต่อกับเจ้าของเครือข่าย (operator) รายนั้นๆ เช่น เอไอเอส ดีแทค ไทยโมบาย เป็นต้น เมื่อมีการเชื่อมต่อท่อนี้เข้ากับเจ้าของเครือข่ายรายนั้นแล้ว ผู้ให้บริการข้อมูลก็จะส่งผ่านจากต้นทาง หรือ เครือข่ายรายนั้นไปยังเลขหมายปลายทาง

ส่วนปัญหาการยกเลิกบริการเสริมนั้น ตัวแทนจากเอไอเอสแจ้งว่า เอไอเอสได้มีการปรับวิธีการยกเลิกแล้ว จากเดิมหากลูกค้าโทรแจ้งที่ call center บริษัทฯก็จะแจ้งไปยังผู้ให้บริการข้อมูล ให้นำเบอร์โทรศัพท์ของลูกค้าออกจากระบบ ซึ่งเป็นวิธีที่ต้องใช้เวลา แต่ตอนนี้เอไอเอสได้ให้ผู้ให้บริการข้อมูลนำลิงค์ยกเลิกมาไว้ที่ call center เพื่อให้เอไอเอส สามารถเข้าระบบไปยกเลิกได้ทันที การให้บริการจึงรวดเร็วขึ้น

ขณะที่ตัวแทนจาก บริษัทดีแทค กล่าวว่า สำหรับดีแทคได้มีวิธีการในการสกัดกั้นข้อความที่ไม่เหมาะสม โดยดีแทคขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการข้อมูลดูแลความเหมาะสมของบริการ และเปิดช่องให้ลูกค้าช่วยเป็นหูเป็นตา ผ่าน This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. และมีข้อตกลงกับผู้ให้บริการข้อมูล โดยทุกข้อความที่จะส่งนั้นผู้ให้บริการต้องส่งให้ดีแทคพิจารณาก่อน จึงจะสามารถส่งถึงลูกค้าได้ อีกทั้งมีมาตรการรับมือกับการกระทำที่ไม่เหมาะสมของผู้ให้บริการข้อมูล ตั้งแต่ตักเตือน ระงับบริการ การปรับ จนถึงการยกเลิกสัญญาการเป็นผู้ให้บริการข้อมูล และมีข้อกำหนดให้ส่งวันละ 8 ข้อความ หรือ ชั่วโมงละ 1 ข่าวเท่านั้น

ตัวแทนจากเอไอเอส ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ทั้ง เอไอเอส ดีแทค และทรู กำลังร่วมมือกันพัฒนาระบบการ anti spam ขึ้นมา เพื่อป้องกันการรบกวนจากข้อความโฆษณา

“ถ้ามีลูกค้าแต่ละบริษัทฯโทรไปยัง call center ว่า ไม่ต้องการรับข้อความโฆษณา ข้อมูลเบอร์เหล่านั้นจะถูกรวบรวมเป็นฐานข้อมูลของแต่ละบริษัท และกรณีที่มีการส่งข้อความโฆษณาในทุกวันนี้ จะมีการผ่านฐานข้อมูลนี้ก่อนว่า ลูกค้าได้แจ้งไว้ว่า มีเบอร์อะไรบ้างที่ไม่ให้ส่งข้อมูลไป ถ้าเบอร์ไหนไม่ได้แจ้งไว้ จะส่งข้อมูลตามปกติ ซึ่งระบบนี้ ทั้ง 3 บริษัทคาดว่าน่าจะพัฒนาเสร็จประมาณปลายเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งน่าจะแก้ปัญหาได้ 99-100 เปอร์เซ็น” ตัวแทนจากเอไอเอสระบุ

สำหรับบทสรุปของเวทีเสวนาครั้งนี้ นอกจากจะเกิดบรรยากาศที่ดีของการหารือเพื่อแก้ปัญหาเอสเอ็มเอสรบกวนร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ และ สบท. รวมทั้งสำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม กทช. แล้ว เวทียังได้ข้อสรุปที่จะให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันโดยมีตัวแทนผู้บริโภคเข้าร่วมด้วยเพื่อหารือถึงมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาเอสเอ็มเอสรบกวนต่อไป

พิมพ์