ใช้มติกทช.ไม่ต้องจ่ายค่าต่อคู่สาย

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 3760

เครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค "เดินขบวนรณรงค์เตือนประชาชน "หยุดจ่ายค่าต่อคู่สาย" หลัง กทช.มีมติคุ้มครองแล้ว แนะผู้ถูกจัดเก็บให้นำใบเสร็จไปทวงเงินคืนได้ พร้อมเดินหน้า 4 ข้อเรียกร้องต่อ ขณะที่ กรรมการ กทช." เผยมีผู้ประกอบการรุกฟ้องศาลปกครองแล้ว เหตุมติ กทช.เป็นคำสั่งละเมิดปกครอง

วานนี้ (26 มี.ค.) เครือข่ายผู้บริโภค 7 ภูมิภาคกว่า 100 คน นำโดย นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดินขบวนรณรงค์ให้ประชาชนรับทราบมติ กทช. ที่ห้ามผู้ประกอบธุรกิจโทรคมนาคมเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์ จากสถานีรถไฟฟ้าอารีย์ไปยังสำนักงานกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) พร้อมมอบช่อดอกไม้และหนังสือแสดงความขอบคุณ ซึ่งมี รศ.สุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการ กทช. เป็นตัวแทนรับมอบ

นายปฏิวัติ เปิดเผยว่า ตามที่เครือข่ายผู้บริโภค 7 ภูมิภาค ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อ กทช. พิจารณาแก้ไขปัญหากรณีการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์กับผู้ใช้บริการที่ ชำระค่าบริการล่าช้าจำนวน 107 บาท และ 214 บาท ของผู้ประกอบการโทรศัพท์ที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เนื่องจากการต่อคู่สายไม่ได้มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติม

ซึ่งต่อมาทาง กทช. ได้มีมติเห็นชอบและห้ามมิให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เรียกเก็บค่าต่อคู่สายดัง กล่าว เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา พวกเราขอแสดงความชื่นชม กทช.ที่สนับสนุนข้อเรียกร้องของเครือข่ายผู้บริโภค เพื่อเป็นการคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิมาอย่างยาวนาน

"ค่าปรับในการต่อคู่สายโทรศัพท์นั้น ที่ผ่านมา หากผู้บริโภครายได้ออกมาโวยวายก็จะไม่ถูกเรียกเก็บ แต่หากผู้บริโภครายใดไม่ทราบก็จะจ่ายค่าต่อคู่สายตามที่ผู้ประกอบการแจ้ง ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้วทางผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามมาตรฐาน ในประกาศกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ออกมาเมื่อปี 2549 อยู่แล้วในการต่อคู่สายให้ อีกทั้งการต่อคู่สายก็ไม่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นแต่อย่างใด" นายปฏิวัติกล่าว

ทั้งนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่ทราบมตินี้ และไม่ทราบด้วยว่าในกรณีผู้ที่จ่ายค่าต่อคู่สายให้ผู้ประกอบการไปก่อนหน้า นี้ สามารถนำใบเสร็จไปขอรับเงินคืนได้ โดยสามารถย้อนหลังได้เป็นระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศ กทช.มีผลบังคับใช้

นายปฏิวัติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังฝากให้ กทช. เดินหน้าต่อในข้อเรียกร้อง 4 ข้อที่ทางเครือข่ายได้เสนอไปก่อนหน้านี้ คือ 1.โทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทบัตรเติมเงิน ควรห้ามการกำหนดวันหมดอายุ 2.ปัญหาการถูกรบกวนจากการส่งเอสเอ็มเอสที่ไม่พึงประสงค์ 3.การคงสิทธิเลขหมายแม้ว่ามีการเปลี่ยนการใช้ระบบสัญญาณ

และ 4.การคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากคลื่นโทรศัพท์มือ โดยเฉพาะการตั้งเสาสัญญาณที่ควรผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องจากขณะนี้ ยังไม่ทราบว่าสัญญาณมือที่มีกำลังแรงสูงจะส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร


ทางด้าน น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพร กรรมการ กทช. กล่าวว่า ภายหลังจากที่ กทช. มีมติไม่ให้มีการเก็บค่าต่อคู่สายสัญญาณโทรศัพท์นั้น ขณะนี้ ตนได้รับแจ้งว่าได้มีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมแห่งหนึ่งเข้ายื่นฟ้อง กทช. ต่อศาลปกครอง เนื่องจากเห็นว่าเป็นการออกคำสั่งที่ละเมิดทางปกครอง และให้เพิกถอนมตินี้

อย่างไรก็ตาม ทาง กทช.ไม่ได้เป็นห่วงเรื่องนี้แต่อย่างใด เพราะ กทช.ทำตามอำนาจที่มีอยู่ อีกทั้งที่ผ่านมา ได้มีการเรียกทางกลุ่มผู้ประกอบการเข้าให้ข้อมูลข้อเท็จจริงแล้ว โดยการพิจารณาเป็นไปตามข้อมูลที่ปรากฏ

ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 27/3-52

{mxc}

พิมพ์