กทช. ฟันดีแทค ห้ามเรียกเก็บค่าเชื่อมต่อสัญญาณ ๑๐๗ บาท

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 4561

กทช. มีมติให้ดีแทคคืนเงินค่าต่อคู่สาย 107 บาท ให้กับผู้บริโภคและไม่ให้เก็บค่าบริการลักษณะเดียวกันอีกต่อไป

 

คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ตัดสินเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคกรณีบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ดีแทค เรียกเก็บค่าต่อคู่สายจำนวน ๑๐๗ บาทอันเนื่องมาจากผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าบริการ โดย กทช. มีมติให้ดีแทคคืนเงินเรียกเก็บจำนวนดังกล่าว และไม่เก็บค่าบริการลักษณะเดียวกันอีกต่อไป

 

วันที่ (๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๑) ในช่วงเช้ามีการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) โดยที่ประชุมมีการพิจารณาเกี่ยวกับกรณีเอกชนผู้ให้บริการโทรคมนาคมเรียกเก็บค่าบริการเชื่อมต่อสัญญาณภายหลังจากที่ผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าบริการ ว่ามีความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

 

ทั้งนี้ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยว่า ต้นเรื่องกรณีดังกล่าวเกิดจากการที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามาที่ สบท. ว่า บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ดีแทค มีการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายจำนวน ๑๐๗ บาท หลังจากที่ตนเองชำระค่าบริการล่าช้าและถูกตัดสัญญาณ ซึ่งผู้ร้องมีความเห็นว่าเป็นการเรียกเก็บค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น สบท. จึงนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ กทช. เพื่อตัดสินวินิจฉัย

 

กทช. ได้พิจารณาแล้วมีความว่า หลักการคิดค่าบริการใดๆ ต้องเป็นโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น จึงอยู่ที่ว่าดีแทค สามารถแสดงข้อมูลได้ชัดเจนหรือไม่ว่า ตัวเองเรียกเก็บโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ปรากฏว่าข้อมูลที่ดีแทคเสนอมา เป็นเรื่องของประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาของ สคบ. และประกาศอัตราขั้นสูงค่าบริการของ กทช. ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่สามารถหยิบยกมาเป็นข้ออ้างได้ ดังนั้นเท่ากับว่า ข้อต่อสู้ของบริษัทดีแทค ไม่สามารถแสดงให้ กทช. เห็นได้ว่า การเรียกเก็บ ๑๐๗ บาทเป็นการเรียกเก็บโดยชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ การต่อคู่สายโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นการต่อผ่านระบบอิเลคโทรนิคส์ จึงมีต้นทุนน้อยมาก จึงมีมติให้บริษัทคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้ร้อง และให้ระงับการเรียกเก็บค่าต่อบริการในลักษณะดังกล่าวต่อไป เนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นการชอบกฎหมาย นพ. ประวิทย์ ในฐานะ ผอ. สบท. กล่าว

 

สำหรับความหมายของคำตัดสินดังกล่าว ผอ.สบท. ชี้ว่า เท่ากับมติ กทช. มีผลไม่เฉพาะตัวผู้ร้อง แต่มีผลผูกพันไปถึงผู้บริโภครายอื่นในอนาคต และหากผู้ให้บริการรายอื่นไม่สามารถแสดงข้อมูลได้อย่างชัดเจนว่า การเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าว เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่สามารถเรียกเก็บได้เช่นกัน

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา เรื่องการเรียกเก็บค่าเชื่อมต่อสัญญาณหลังผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าบริการเป็นประเด็นปัญหาหนึ่งที่ผู้บริโภคมีการตื่นตัวตั้งคำถามว่ามีความเหมาะสมและชอบธรรมหรือไม่เพียงใด เนื่องจากตามประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานสัญญาให้บริการโทรคมนาคมระบุว่า ผู้ให้บริการจะกำหนดให้ผู้ใช้บริการต้องชำระดอกเบี้ย เบี้ยปรับ หรือเงินอื่นใดในลักษณะดังกล่าว ในกรณีที่ผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าบริการเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด คือร้อยละ ๗.๕ ต่อปีไม่ได้ นอกจากจะได้รับความเห็นชอบจาก กทช. ก่อน แต่สถานการณ์จริงในปัจจุบันพบว่า กรณีผู้บริโภคชำระค่าบริการล่าช้าและถูกตัดสัญญาณ เมื่อนำเงินค้าง

 

ค่าบริการไปชำระก็จะถูกเรียกเก็บค่าบริการต่อสัญญาณจำนวน ๑๐๗ บาท หรือ ๒๑๔ บาทแล้วแต่ข้อกำหนดของผู้ให้บริการ ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่าดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์และมาตรฐานใด

................................................................

ข้อมูลจาก สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.)

 

พิมพ์