ผู้เสียหายอาคารสูง เสนอ กทม. จัดการอาคารสูงสร้างผิดกฎหมาย ย้ำ จนท. ต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 61508

S 111296528 yellow 2

 ผู้เสียหายอาคารสูง ระบุ กทม. ควรแก้กฎหมายให้ชัดเจนและทันสมัย ส่วนเจ้าหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อแก้ปัญหาจากการสร้างอาคารสูง

          จากกรณีไฟไหม้ที่ราชเทวี อพาร์ตเมนต์ ซึ่งเป็นตึกสูง 14 ชั้น 180 ห้อง ในซอยเพชรบุรี 18 เขตราชเทวี เมื่อกลางดึกวันที่ 2 เมษายน 2561 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 30 คน พบว่ามีปัญหาในการช่วยเหลือเนื่องจากซอยแคบและอาคารขาดระบบความปลอดภัยทำให้การช่วยเหลือล่าช้านั้น

          เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561 ณ ห้องประชุม 2 สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับเครือข่ายผู้เสียหายจากอาคารสูงและตัวแทนผู้ได้รับความเสียหายจากชุมชนต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร จัดสภาผู้บริโภคเรื่อง ‘บทเรียนการใช้สิทธิของผู้บริโภค กับการจัดการปัญหาอาคารสูงผิดกฎหมาย’ ขึ้นเพื่อสะท้อนปัญหาการมีอาคารสูงในซอยแคบ และปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของชุมชนใกล้เคียง

          นายนรฤทธิ์ โกมลารชุน ตัวแทนผู้บริโภคกลุ่มชมรมอนุรักษ์พญาไท ร่วมสะท้อนปัญหาจากการก่อสร้างอาคารสูงออกมาหลายประเด็น เช่น ทั้งเรื่องรถติดในซอย ซึ่งเป็นปัญหาแรกๆ ที่เกิดขึ้นจากการสร้างคอนโดสูง เพราะเมื่อจำนวนคนในชุมชนเพิ่มขึ้น ปริมาณรถย่อมมากขึ้นด้วย นอกจากนี้การที่กฎหมายกำหนดว่า คอนโดต้องมีที่จอดรถที่รองรับได้ ร้อยละ 60 - 70 ของผู้อยู่อาศัยทั้งหมด ทำให้ผู้อยู่อาศัยบางส่วนต้องนำรถไปจอดบนถนน เนื่องจากที่จอดไม่เพียงพอ จึงเกิดปัญหาจราจรติดขัด โดยเฉพาะในซอยแคบ และในการวางผังเมืองควรพิจารณาภาพรวมเป็นหลัก ว่าระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่นั้นๆ สามารถรองรับจำนวนผู้อยู่อาศัยได้มากน้อยเพียงใด มิใช่ออกใบอนุญาตเพียงเพราะถูกกฎหมาย เนื่องจากจะทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ ได้รับความเดือดร้อน และต้องเผชิญปัญหาดังที่กล่าวมา

          “อีกปัญหาหนึ่ง คือ ความใส่ใจของเจ้าหน้าที่รัฐในการสอดส่อง จัดการปัญหา รวมทั้งการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท โดยละเลยการทำหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น การอนุญาตให้รถผสมปูนจอดบนฟุตปาธ ในวันเสาร์ - อาทิตย์ โดยอ้างกฎหมายจราจร ทั้งที่การกระทำดังกล่าวผิดพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 อีกทั้งหลายหน่วยงานยังขาดความร่วมกันในการทำงาน” นายนรฤทธิ์กล่าวว่า

          ทั้งนี้ นายนรฤทธิ์ เสนอว่า หนึ่งในวิธีปกป้องและเรียกร้องสิทธิต่างๆ ของชุมชนอย่างได้ผล คือ อย่ารอให้โครงการเริ่มก่อสร้างแล้วค่อยดำเนินการแต่ต้องป้องกันไว้ก่อน ตั้งสมมติฐานไว้ก่อนว่าโครงการที่กำลังจะก่อสร้างนั้นผิดอย่างแน่นอน โดยอาศัยการพิจารณาจากสภาพแวดล้อมในชุมชน ทั้งเรื่องความกว้างของถนน ฝุ่น เสียง ฯลฯ เช่น หากถนนในซอยกว้างไม่ถึง 10 เมตร แต่กำลังจะมีโครงการก่อสร้างคอนโดสูงเกิน 8 ชั้น ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าผิดกฎหมายแน่นอน

          ด้านนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เจตนาที่กฎหมายกำหนดเรื่องความกว้างของถนน นอกจากเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ยังรวมถึงเรื่องความปลอดภัย กล่าวคือ ตามที่ พรบ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดว่า ซอยที่มีความกว้างไม่เกิน 10 เมตรตลอดแนวไปจนถึงถนนสาธารณะ จะไม่สามารถก่อสร้างอาคารที่มีความสูงเกิน 8 ชั้นหรือเกินกว่า 23 เมตรได้ เพื่อให้รถดับเพลิงหรือรถกู้ภัยสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ยังทันท่วงทีในกรณีที่เกิดไฟไหม้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายยังมีความไม่ชัดเจนเรื่องวิธีการวัดความกว้างของถนน บางครั้งจึงมีการวัดความกว้างของถนนโดยรวมพื้นที่ฟุตปาธไปด้วย ทำให้เมื่อเกิดเหตุรถดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ ดังนั้นจึงอยากเสนอให้มีการแก้ไขตัวบทกฎหมายให้ชัดเจนขึ้น โดยระบุให้วัดความกว้างของถนนเฉพาะบริเวณผิวถนนที่รถสามารถวิ่งได้เท่านั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค นอกจากนี้การโฆษณาคอนโดยังต้องไม่หลอกลวง และต้องระบุข้อมูลรายละเอียดที่จำเป็นเกี่ยวกับโครงการด้วย

          ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า การทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ผ่านมาก็มีปัญหา เนื่องจากกระบวนการสร้างคอนโดต้องยื่นเอกสารให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งบางครั้งเป็นเอกสารเท็จ แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบจึงได้รับอนุมัติการก่อสร้าง กระทั่งมีผู้มาร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างและเกิดการฟ้องคดี แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดการก่อสร้างนั้นได้ ดังนั้นการทำ EIA ควรมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเรื่องผลกระทบต่อชุมชน ไม่ใช่พิจารณาเพียงเอกสารของโครงการเท่านั้น ขณะเดียวกัน เรื่องสิทธิชุมชนของคนเมืองก็เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ ทั้งสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ปลอดภัยและต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิทธิผู้บริโภคที่สำคัญ

        ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดจากอาคารสูงไม่ได้เกิดขึ้นในเขตพญาไทเพียงเท่านั้น ร่วมติดตามรับฟังปัญหาจากตัวแทนของชุมชนร่วมฤดี ชุมชนมหาดเล็กหลวง ชุมชนเจ้าพระยา และชุมชนสุขุมวิทซอย 28 - 30 ได้ที่ Facebook LIVE เรื่อง "บทเรียนการใช้สิทธิของผู้บริโภค กับการจัดการปัญหาอาคารสูงผิดกฎหมาย"

 

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, อาคารสูง, ้ซอยแคบ, ก่อสร้าง, รถติด, EIA

พิมพ์