มพบ. สอบ. และตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคในกรุงเทพฯ หารือสำนักนายกฯ เพื่อสร้างความเข้าใจ และผลักดันให้ขึ้นทะเบียนองค์กรผู้บริโภคได้สำเร็จ

LINE ALBUM สำนักปลัด 220117 62

          วันที่ 14 มกราคม 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ในฐานะหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานครของสภาองค์กรของผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) และตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคในกรุงเทพฯ เข้าพบนายพิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอทำความร่วมมือระหว่าง สำนักกฎหมาย สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กับองค์กรผู้บริโภค สนับสนุนการขึ้นทะเบียนองค์กรผู้บริโภค ตามที่สอบ.ได้จัดตั้งหน่วยงานประจำจังหวัด โดยสนับสนุนการรวมตัวและช่วยเหลือองค์กรผู้บริโภคภายในจังหวัด เพื่อรักษาสิทธิของผู้บริโภค

          นางสาวกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมพบ. หัวหน้าหน่วยประจำจังหวัดกรุงเทพฯ กล่าวว่า เครือข่ายผู้บริโภคพบปัญหาและอุปสรรคในการขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรผู้บริโภค โดยที่ผ่านมาองค์กรที่ขึ้นทะเบียนมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับเครือข่ายที่ทำงานผลักดันสิทธิผู้บริโภคมาตลอด เนื่องจากต้องการสนับสนุนการรวมตัวกันของผู้บริโภคที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคที่มีผลงานเป็นประจักษ์ ให้ขึ้นทะเบียนองค์กรผู้บริโภคได้สำเร็จ จึงเข้าพบเพื่อขอคำปรึกษา

          นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า ปัญหาและอุปสรรคที่เครือข่ายผู้บริโภคพบ คือ 1.ความล่าช้าในการจดแจ้ง ตรวจสอบเอกสาร รับรองจากจังหวัดแล้วยังต้องตรวจสอบที่ส่วนกลางเพิ่มเติม 2.ความเข้าใจของกฎหมาย ทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกันหรือไม่ เช่น การตีความคุณสมบัติของกรรมการ 3.การยื่นเอกสารผ่านระบบ ไม่สามารถแนบส่วนอื่นนอกจากเอกสารได้ เช่น ประกาศนียบัตร ทั้งหมดนี้ เพื่อให้เครือข่ายผู้บริโภคผ่านการขึ้นทะเบียนได้มากขึ้น ควรมีการกำหนดกติกาเพิ่มเติมให้มีความชัดเจนในการขึ้นทะเบียนองค์กรผู้บริโภค

          นางพรรณี มูฮัมมัด ผู้ประสานงานโซนศรีนครินทร์ กล่าวถึงปัญหาของการขึ้นทะเบียนว่า มีศูนย์ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักปลัดฯ 2 เรื่อง คือ ศูนย์หลักประกันสุขภาพภาคประชาชนและศูนย์สิทธิผู้บริโภค ยื่นเรื่อง 2 ครั้ง แต่ไม่ผ่าน ปัญหาคือการทำเอกสาร เพราะทำตามความเข้าใจของคนในพื้นที่ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่ไม่เข้าใจ เท่าที่ทราบเขตสะพานสูงได้รับความช่วยเหลือจนบรรลุได้

          ด้านนายพิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาตามที่กล่าวมานั้น 1.ความล่าช้า ต้องวางแนวทางปรับระเบียบการรับขึ้นทะเบียน ระเบียบของนายทะเบียนตั้งแต่ระดับจังหวัด 2.ดุลยพินิจ เป็นการตีความของกฤษฎีกาที่แย้งไม่ได้ ต้องจัดอบรมเพื่อทำความเข้าใจ 3.การยื่นผ่านระบบ กำลังขอให้ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ปรับปรุงระบบในการยื่นออนไลน์ ซึ่งเป็นแผนในปี 2566 และเห็นด้วยว่าต้องมีการยื่นข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในระบบออนไลน์ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้ว สามารถโต้แย้งหรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ เพราะหนังสือฉบับแรกยังไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด ขณะนี้องค์กรที่ขึ้นทะเบียนองค์กรผู้บริโภคมีอยู่ 255 องค์กร โดยตั้งเป้าหมายในปี 2565 จะมีองค์กรผู้บริโภคที่ขึ้นทะเบียน อกผ.3 (แบบฟอร์มขึ้นทะเบียนองค์กรผู้บริโภค) สำเร็จ 500 องค์กร ทั้งนี้ หลังจากนี้จะจัดอบรมออนไลน์กับเครือข่ายผู้บริโภค เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และสามารถขึ้นทะเบียนองค์กรผู้บริโภคได้สำเร็จ ลดปัญหาและอุปสรรคในการยื่นเอกสารขอจดแจ้ง

LINE ALBUM สำนักปลัด 220117 15

LINE ALBUM สำนักปลัด 220117 65

LINE ALBUM สำนักปลัด 220117 67

LINE ALBUM สำนักปลัด 220117 90

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สภาองค์กรของผู้บริโภค, จดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภค, สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, เครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร

พิมพ์ อีเมล